รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 7 - 9 ธันวาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 15, 2020 14:36 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ต.ค. ปีงบประมาณ 64 ขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ต.ค. ปีงบประมาณ 64 ขาดดุลจำนวน -134,077 ล้านบาท
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 63 คิดเป็น 1.90 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • GDP ยูโรโซน ไตรมาสที่ 3/63 (ประมาณการ ครั้งที่ 3) หดตัวที่ร้อยละ -4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ต.ค. ปีงบประมาณ 64 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 374,566 ล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 1.7 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 10.7 โดย (1) รายจ่ายปีปัจจุบัน เบิกจ่ายได้ 355,264 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.2 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 10.8 ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น (1.1) รายจ่ายประจำ 342,077 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 13.0 และ (1.2) รายจ่ายลงทุน 13,187 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 25.0 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 2.0 (2) รายจ่ายปีก่อน เบิกจ่ายได้ 19,302 ล้านบาท หดตัวร้อยละ ญ6.6 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 9.4 ต่อปี

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ต.ค. ปีงบประมาณ 64 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -134,077 ล้านบาททั้งนี้ เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลแล้วพบว่าเงินสดก่อนกู้ขาดดุล 129,939 ล้านบาท โดยในเดือนนี้ รัฐบาลไม่มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้ ขาดดุลอยู่ที่ 129,939 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ 442,165 ล้านบาท

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 63 คิดเป็น 1.90 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 4.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์ สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

Global Economic Indicators: This Week

China: improving economic trend

การส่งออกเดือน พ.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 21.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือน ต.ค. 63 ที่อยู่ที่ร้อยละ 11.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และนับเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ เดือน ก.พ. 61 ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของ อุปสงค์ในตลาดโลกหลังเผชิญวิกฤต COVID-19 รวมถึงความต้องการซื้ออุปกรณ์ PPE และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับการทำงานที่บ้าน (Work from home) และเตรียมเทศกาลคริสต์มาส ในส่วนของการนำเข้าเดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการบริโภคสินค้าในหมวดน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ แร่ทองแดง ถ่านหิน และน้ำมันพืชที่ลดน้อยลง ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน พ.ย. 63 เกินดุลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 75.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เดือน ต.ค. 63 เกินดุลเพียง 58.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการเกินดุลการค้าที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 24 อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 63 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ -0.5 จากปีก่อนส่งผลให้จีนเข้าเริ่มสู่ภาวะเงินฝืดอีกครั้งนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 52 อันเป็นผลจากราคาอาหารที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรที่ลดต่ำลง หลังพุ่งสูงเมื่อปีที่แล้วจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever)

EU: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3/63 (ประมาณการ ครั้งที่ 3) หดตัวที่ร้อยละ -4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากไตรมาสที่ 2/63 ที่หดตัวที่ร้อยละ -14.7 และปรับตัวดีขึ้นจากการประมาณการครั้งที่ 2 เล็กน้อยที่หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -4.4

Taiwan: improving economic trend

การส่งออกเดือน พ.ย. ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 12 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. 63 ที่อยู่ที่ร้อยละ 11.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์สื่อสาร และสินค้าในหมวดพลาดสิกและยางที่เพิ่มมากขึ้น และการนำเข้าเดือน พ.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เดือน ต.ค. 63 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน พ.ย. 63 เกินดุลอยู่ที่ 5.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือน ต.ค. 63 ที่เกินดุลถึง 7.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 63 กลับมาเป็นบวกที่ร้อยละ 0.09 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. 63 ที่หดตัวร้อยละ -0.24 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากราคาอาหาร ราคาที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า เวชภัณฑ์ และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่เพิ่มสูงขึ้น

Indonesia: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 92 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 79 จุด สูงที่สุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 จากข่าววัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่จะได้รับจากจีนเป็นสำคัญ

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ในภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น TWSE (ไต้หวัน)STI (สิงคโปร์) JCI (อินโดนีเซีย) และ S&P (สหรัฐอเมริกา) เป็นต้น โดยดัชนี SET เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,478.92 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย 123,465.49 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่ นักลงทุนทั่วไปในประเทศ และนักลงทุนสถาบันในประเทศ เป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63 นักลงทุนต่างชาติ ซื้อ หลักทรัพย์สุทธิ 6,688.08 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมปรับตัวลดลงในช่วง -2 ถึง -12 bps โดยในสัปดาห์นี้ นักลงทุนไม่มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออก จากตลาดพันธบัตรสุทธิ -5,207.50 ล้านบาท และหากนับจากต้นปีจนถึงวันที่ 8 ธ.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -59,721.69 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 8 ธ.ค. 63 เงินบาทปิดที่ 30.13 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.44 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค อาทิ เงินสกุลเยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ที่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.05 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ