Executive Summary
- มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- มูลค่าการนำเข้าในเดือน พ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน พ.ย. 63 ขยายตัว ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน พ.ย. 63 ขยายตัว ร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- GDP ของสหราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 3 ปี 63 หดตัวที่ ร้อยละ -8.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ย. 63 มีมูลค่า 18,933 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการลดลงของการส่งออกสินค้าในหมวดสำคัญ อาทิ หมวดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ทองคำ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า อย่างไรก็ดี สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดียังเป็น 3 กลุ่มหลักที่เติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร เช่น ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไวโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น และ 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ รวมถึงถุงมือยางที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับตลาดส่งออก พบว่า การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งหลายตลาดเริ่มกลับมาฟื้นตัวเป็นบวก อาทิ ตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ขณะที่ ตลาดอื่น ๆ อย่างกลุ่มอาเซียน 5 รวมถึงการค้าชายแดนอย่างกลุ่ม CLMV หดตัวจากผลกระทบจากการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของ ปี 63 มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ -6.9 ต่อปี
มูลค่าการนำเข้าในเดือน พ.ย. 63 มีมูลค่า 18,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นในทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่กลับมาขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เช่น เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เป็นต้น ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในช่วง 11 เดือนแรกของปี 63 ยังคงหดตัวเฉลี่ยร้อยละ -13.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับดุลการค้าในเดือน พ.ย. 63 ยังคงเกินดุลมูลค่า 52.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 63 ดุลการค้าของไทยเกินดุลสะสมอยู่ที่ 23.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน พ.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมหดตัว ที่ร้อยละ -4.7 หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน พ.ย. 63 พบว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวในหมวดพืชผลสำคัญและหมวดปศุสัตว์ที่ร้อยละ 3.8 และ 2.6 ตามลำดับ ขณะที่ผลผลิตในหมวดประมงหดตัวที่ร้อยละ -0.2 โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกมันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และไก่ ขณะที่สินค้าสำคัญ ที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ยางพารา กลุ่มไม้ผล สุกร และ กุ้งขาวแวนนาไม
ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน พ.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 63 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมขยายตัว ที่ร้อยละ 5.6 หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตร ในเดือน พ.ย. 63 พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัว ในหมวดพืชผลสำคัญและหมวดปศุสัตว์ที่ร้อยละ 10.5 และ 8.8 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีราคาในหมวดประมงหดตัว ที่ร้อยละ -1.1 โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มไม้ผล และสุกร ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก และไก่
Global Economic Indicators: This Week
ยอดขายบ้านมือสอง เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ 6.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.5 จากเดือน ต.ค. 63 หลังเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 5 เดือน เนื่องจากราคาบ้านที่เพิ่มมากขึ้น สต็อกบ้านอยู่ในระดับต่ำ และตลาดแรงงานที่ชะลอตัว ดัชนีราคาที่อย่อาศัย เดือน ต.ค. 63 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 10.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. 63 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 9.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำและความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนย้ายออกจากเมืองใหญ่ ยอดขายบ้านใหม่ (ขจัดผลทางฤดูกาล) เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ 8.41 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ -11.0 จากเดือนก่อนหน้า และเป็นการหดตัวลงติดต่กันป็นเดือนที่ 4
อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.1 โดยในเดือน พ.ย. 63 มีจำนวนผู้ว่างงาน 1.98 ล้านคน ขณะที่มีผู้มีงานทำ 67.01 ล้านคน ยอดค้าปลีกเดือน พ.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของภาคการบริโภคในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม มอเตอร์ไซด์ และเครื่องจักรเป็นสำคัญ เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อ โควิด-19 กลับมาเพิ่มขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือน ธ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ -13.9 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่อยู่ที่ระดับ -17.6 จุด และมีค่าดีกว่าที่ตลาดดาดการณ์ไว้ที่ระดับ -16.8 จุด เนื่องจากผู้บริโภคมีมุมมองต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อันเนื่องมาจากข่าวการพัฒนาวัคซีนที่เป็นไปได้ด้วยดีในเดือนที่แล้ว
อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 63 ยังคงติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาค่าไฟฟ้า แก๊ส และน้ำ ที่ร้อยละ -21.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อโดยรวมจะยังทรงตัว จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและทั่วโลกที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดุลบัญชีเดินสะพัด ไตรมาสที่ 3 ปี 63 อยู่ที่ 96.5 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง เป็นสถิติที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 13.8 ของ GDP และเพิ่มมากขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 59.4 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง มีสาเหตุจากการเกินดุลของสินค้าและรายได้ปฐมภูมิที่เพิ่มขึ้นมากกว่าดุลบริการที่ลดลง
อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -1.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือน ต.ค. 63 ที่อยู่ที่ร้อยละ -1.5 และเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 โดยสาเหตุมาจากการปรับลดลงของราคาบริการขนส่ง ราคาที่อยู่อาศัย และราคาเครื่องนุ่งห่ม
อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ ร้อยละ -0.2 โดยสาเหตุหลักมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าบริการขนส่ง และราคาสินค้าที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 17.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการกลับมาขยายตัวได้ หลังจากที่เดือน ต.ค. 63 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.8 จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และสินค้าทางชีวการแพทย์
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ไตรมาสที่ 4 ปี 63 อยู่ระดับที่ -47.9 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -54.5 จุด
GDP Growth ไตรมาสที่ 3 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -8.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -20.80 โดยการบริโภคภาคครัวเรือนหดตัวร้อยละ -10.1 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ที่หดตัวถึงร้อยละ -24.7 และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรหดตัวร้อยละ -11.3 ปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ที่หดตัวถึงร้อยละ -23.8 ทางด้านการลงทุนภาครัฐหดตัวร้อยละ -8.8 หดตัวน้อยลงกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวอยู่ถึงร้อยละ -18.1 ในขณะที่เมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศพบว่า การส่งออกลดลง น้อยกว่าการนำเข้า
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย.63 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 7.84 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 6.44 จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วในสายการผลิตและอุตสาหกรรมไฟฟ้าและแก๊ซ ยอดค้าปลีกในเดือน พ.ย. 63 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ร้อยละ 2.48 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ชะลอตัวลงจากเดือน ต.ค. 63 ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.26 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ร้านขายสินค้าทั่วไป อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ สิ่งทอ และเสื้อผ้ามียอดขายลดลง ในทางตรงกันข้าม ยานยนต์ รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน ข้อมูลและการสื่อสาร ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งในแต่ละเดือนยอดค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 อัตรา การว่างงานเดือน พ.ย. 63 ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ร้อยละ 3.77 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งยังคงอยู่ในอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 เนื่องจากเศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัวจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
ดัชนี SET ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ในภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง เช่น Nikkei225 (ญี่ปุ่น) HSI (ฮ่องกง) STI (สิงคโปร์) และ KLCI (มาเลเซีย)เป็นต้น โดยดัชนี SET เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,451.52 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 21 - 24 ธ.ค. 63 ที่ 102,550.66 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศ เป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 21-24 ธ.ค. 63 นักลงทุนต่างชาติ ซื้อ หลักทรัพย์สุทธิ 2,828.23 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมปรับตัวลดลงในช่วง -2 ถึง -7 bps โดยในสัปดาห์นี้ นักลงทุนไม่มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 21 - 24 ธ.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออก จากตลาดพันธบัตรสุทธิ -9,803.27 ล้านบาท และหากนับจากต้นปีจนถึงวันที่ 24 ธ.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออก จากตลาดพันธบัตรสุทธิ -69,584.69 ล้านบาท
เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 24 ธ.ค. 63 เงินบาทปิดที่ 30.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.94 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค อาทิ เงินสกุลเยน ยูโร ริงกิต วอน และดอลลาร์สิงคโปร์ที่ อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินสกุลหยวนแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลัก อื่น ๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.64 จากสัปดาห์ก่อน
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง