รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 22 - 25 กุมภาพันธ์ 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 2, 2021 14:53 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week

มูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค. 64 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 64 หดตัวที่ร้อยละ -46.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 64 หดตัวร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ม.ค. 64 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ เดินทางเข้าประเทศ จำนวน 7,649 คน ลดลงที่ร้อยละ -99.8 ต่อปี

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ม.ค. 64 ขยายตัว ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ม.ค. 64 หดตัวร้อยละ -2.8 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ม.ค. 64 หดตัวร้อยละ -0.8 ต่อปี

GDP ฮ่องกง ไตรมาสที่ 4 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -3.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

Economic Indicators: This Week มูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค. 64 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยมีมูลค่า 19,707 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี อาทิ รถยนต์ฯ คอมพิวเตอร์ฯ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำตาลทราย ข้าว เครื่องนุ่งห่ม ยังคงหดตัว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินค้า 3 กลุ่มหลักยังคงเติบโตต่อเนื่อง ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร เช่น ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง อาทิ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และโทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น และ 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ รวมถึงถุงมือยางที่เติบโตในระดับสูงต่อเนื่อง สำหรับตลาดส่งออก พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุกตลาดปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ที่ร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เช่นเดียวกับการส่งออกไปทวีปออสเตรเลียและจีนที่ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 30.3 และ 9.9 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ การส่งออกไปยังตลาด CLMV กลับมาขยายตัวในรอบ 10 เดือน ที่ร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยในเดือนดังกล่าว เป็นผลจากการส่งออกสินค้าทองคำที่หดตัวในระดับสูงเป็นหลัก ทั้งนี้ เมื่อหากหักรายการสินค้าทองคำการส่งออกขยายตัวถึงร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการนำเข้าในเดือน ม.ค. 64 มีมูลค่า 19,909 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค ที่หดตัวโดยเฉลี่ย ขณะที่ การนำเข้ากลุ่มสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปยังคงขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ จากมูลค่าการนำเข้าที่มากกว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค. 64 ส่งผลให้ดุลการค้ากลับมาขาดดุลเล็กน้อยที่มูลค่า 202 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
 Economic Indicators: This Week ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 64         มีจำนวน 16,104 คัน กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -46.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหดตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวร้อยละ -37.4 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าการระบาดในรอบแรกทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยสินค้าในหมวดคงทนสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงในเดือน ม.ค. 64 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน     ม.ค. 64 มีจำนวน 39,104 คัน หดตัวร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยเป็นการหดตัวตามปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่หดตัวร้อยละ -9.6 โดยมีปัจจัยสำคัญจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีการระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การบริการต่าง ๆ ที่ยังคงชะลอตัว ตลอดจนอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ม.ค. 64 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ เดินทางเข้าประเทศ จำนวน 7,649 คน ลดลงที่ร้อยละ -99.8 ต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป โดยเฉพาะฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และเดนมาร์ก นอกจากนี้บางส่วนเป็นนักท่องเที่ยวชาวอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
Economic Indicators: This Week ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ม.ค. 64 ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณา รายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค. 41 พบว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวในหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงที่ร้อยละ 0.9 และ 36.5 ตามลำดับ ขณะที่ผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญหดตัวที่ร้อยละ -0.2 โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก  มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มไม้ผล ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ อ้อย ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ม.ค. 64 ขยายตัวร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับเดือน ก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค. 64 พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวดพืชผลสำคัญและหมวดปศุสัตว์ ที่ร้อยละ 9.3 และ 1.5 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีราคาในหมวดประมงหดตัวที่ร้อยละ -3.8 โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มไม้ผล และสุกร ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ไก่ และ กุ้งขาวแวนนาไม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ม.ค. 64 หดตัวร้อยละ -2.8 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลของฤดูกาล โดยดัชนีฯ ลดลงเกือบทุกหมวดอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในหมวดอุตสาหกรรมสำคัญอย่าง การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม หมวดการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร และหมวดการผลิตยานยนต์ หดตัวร้อยละ -11.9 -3.9 และ -3.1 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากผลกระทบรอบใหม่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนชะลอการเดินทางลง ขณะที่การบริโภคสินค้าที่มีราคาสูงอย่างรถยนต์มีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากความกังวลด้านรายได้ที่มีแนวโน้มลดลง รวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลลดลง สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ การผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี และการผลิตคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 5.4 และ 2.8 ต่อปี ตามลำดับ ตามการบริโภคสินค้าในกลุ่มการทำงานที่บ้าน (WFH) ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ม.ค. 64 หดตัวร้อยละ -0.8 ต่อปีและหดตัวร้อยละ -5.2 เทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยมีปัจจัยมาจากเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง หดตัว ได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กลวด หดตัวร้อยละ -24.8 และ -17.6 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้งานสำหรับการก่อสร้างยังคงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ อย่างไรก็ตามเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มดีขึ้นตามทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในเดือน ธ.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 11.4 จากช่วงดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือน พ.ย. 63 ที่อยู่ที่ร้อยละ 11.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับเมื่อพิจารณาเทียบเป็นรายเดือนพบว่า ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยเดือน ธ.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 จากเดือนก่อนหน้า (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) ซึ่งเป็นผลจากราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นในเกือบทุกเขต ยกเว้น Pacific South Atlantic และ Middle Atlantic ขณะที่ยอดขายบ้านใหม่เดือน ม.ค. 64 อยู่ที่ร้อยละ 19.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากเดือน ธ.ค. 63 ที่เพิ่มสูงขึ้นที่ร้อยละ 21.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหากพิจารณาเทียบเป็นรายเดือนพบว่า ยอดขายบ้านใหม่เดือน ม.ค. 64 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 จากเดือนก่อนหน้า (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะชอลงจากเดือน ธ.ค. 63 ที่อยู่ที่ร้อยละ 5.5 จากเดือนก่อนหน้า (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายบ้านที่หดตัวลงในเขตตะวันออกเฉียงเหนือ และขยายตัวชะชอลงในเขตตะวันตกตอนกลาง และทางใต้ ทั้งนี้ ยอดขายบ้านใหม่ยังคงได้รับแรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากการย้ายออกจากเมืองใหญ่ เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงน่าเป็นกังวล EU อัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 64 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวอยู่ที่ ร้อยละ -0.3 จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 63 โดยได้รับแรงหนุนจากต้นทุนการบริการที่เพิ่มขึ้น Hong Kong อัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค. 64 กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นในรอบ 6 เดือน ที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ เดือนธ.ค. 63 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.7 จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน เป็นผลจากฐานต่ำในเดือน ม.ค. 63 ที่หดตัวถึงร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 60 โดยมีสาเหตุหลักจากราคาบ้านและที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ -3.0 ต่อปี จากมาตรการลดค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด

.GDP ไตรมาสที่ 4/63 หดตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 ในอัตราที่ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ -3.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนของเอกชนที่เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5.6 และร้อยละ 2.6 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ GDP ไตรมาสที่ 3/63 หดตัวที่ร้อยละ -3.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 63 เศรษฐกิจฮ่องกงหดตัวที่ร้อยละ -6.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลมา และหากพิจารณาเป็นรายไตรมาสพบว่า \ เศรษฐกิจฮ่องกงปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) Malaysia อัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 64 หดตัวที่ร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -1.4 โดยได้รับแรงหนุนจากราคาสินค้าประเภทอาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ South Korea ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCSI) เดือน ก.พ. 64 อยู่ที่ระดับ 97.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่อยู่ที่ระดับ 95.4 โดยมีปัจจัยจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในประเทศ การใช้จ่ายครัวเรือน มาตรฐานการดำรงชีพในปัจจุบันและอนาคต เป็นสำคัญ อัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน ก.พ. 64 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 เช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า โดยธนาคารกลางเกาหลีเห็นว่าจำเป็นต้องคงระดับดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำ เนื่องจากประเทศยังคงเผชิญผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและตลาดแรงงานยังคงอ่อนแอ Singapore อัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 64 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากทรงตัวในเดือน ธ.ค. 63 เนื่องจากการบริโภคปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 UK อัตราการว่างงานในเดือน ธ.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการว่างงานสูงสุดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีการประกาศล็อคดาวน์ประเทศอีกครั้งใน เดือน ธ.ค. 63

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับ      ตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ในภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น HSI (ฮ่องกง) JCI (อินโดนีเซีย) PSEi (ฟิลิปินส์) และ S&P/ASX 200 (ออสเตรเลีย) เป็นต้น โดยดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ และปรับตัวลดลงเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 64 ปิดที่ระดับ 1,491.11 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 22 - 24 ก.พ. 64 ที่ 90,744.57 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศ เป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 22 - 24 ก.พ. 64 นักลงทุนต่างชาติ ขาย หลักทรัพย์สุทธิ -2,832.06      ล้านบาท อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ถึง 29 bps โดยในสัปดาห์นี้ นักลงทุนมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 22 ปี ซึ่งมีนักลงทุนสนใจ 1.34 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 22 - 24 ก.พ. 64 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออก จากตลาดพันธบัตรสุทธิ -1,992.13 ล้านบาท และหากนับจากต้นปีจนถึงวันที่ 24 ก.พ. 64 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออก จากตลาดพันธบัตรสุทธิ -6,117.97 ล้านบาทเงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 24 ก.พ. 64 เงินบาทปิดที่ 30.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลง ร้อยละ -0.17 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาค อาทิ ริงกิต วอน และหยวนที่ปรับตัวอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินสกุลเยน  ยูโร และดอลลาร์สิงคโปร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาค ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.33 จากสัปดาห์ก่อน





ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ