มาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 5, 2021 16:58 —กระทรวงการคลัง

ฉบับที่ 100/2564                                                                                                        วันที่ 5 พฤษภาคม 2564

มาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาด
ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่
นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2564 พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) หลายจุดมีการแพร่ระบาดทั้งในแหล่งที่พักอาศัยและในชุมชนอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างและแม้ว่าประเทศไทยจะมีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนแล้วแต่สถานการณ์ COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและยังอยู่ในจุดที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเมื่อวันที่                   5 พฤษภาคม 2564 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราว
ในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งผู้ที่มีรายได้ประจำผู้ประกอบอาชีพอิสระผู้ประกอบการรายย่อยรวมไปถึงเกษตรกรรายย่อย โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท                 ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติดอกเบี้ยร้อยละ0.35ต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 ปีปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก
2. มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายระยะเวลาพักชำระหนี้โดยการพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อลดภาระการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวให้แก่ลูกหนี้หรือนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นสภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือประกอบธุรกิจในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูงโดยจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ลูกหนี้มากจนเกินไปและพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปหาน้อยเพื่อดูแลลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกหนี้เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังขอความร่วมมือให้ผู้ให้บริการทางการเงินอื่นๆ เช่น Non-bank เป็นต้น
เร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก ทั้งนี้ อาจให้ความสำคัญกับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่มากไปน้อยในลักษณะเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป


นอกจากนี้ ยังมีมาตรการด้านการเงินที่อยู่ระหว่างดำเนินการได้แก่ 1) พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  พ.ศ. 2564 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ 2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม 3) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ของธนาคารแห่งประเทศไทย 4) มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 5) การปรับวิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ และ 6) การแก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
กระทรวงการคลังจะมีการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างใกล้ชิด
และพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที
รวมไปถึงการออกมาตรการเพื่อดูแลและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆได้คลี่คลายลงในระยะต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
?          ธนาคารออมสิน                                         โทร. 1115
?          ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร                                        โทร. 02-555-0555
?          ธนาคารอาคารสงเคราะห์                                        โทร. 0-2645-9000
?          ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย          โทร. 1357
?          ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย                                        โทร. 0-2617-2111
?          ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย                                        โทร. 1302
?          บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม                                        โทร. 0-2890-9999




ที่มา: กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ