ฉบับที่ 61/2565 วันที่ 11 เมษายน 2565 ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 8 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 8 เมษายน 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors? Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 8 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers? Meeting: AFMM) ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 8 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการประชุม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลาง ราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นประธานร่วมของกรอบการประชุม AFMGM ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิดหลัก ?อาเซียนร่วมจัดการความท้าทายไปด้วยกัน? (ASEAN A.C.T.: Addressing Challenge Together) ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. การประชุมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ที่ประชุมได้หารือในประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน รวมถึงแนวทางการดำเนินนโยบายของภาครัฐเพื่อให้เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และมีภูมิคุ้มกัน ในการนี้ ผู้แทนสถาบันการเงินระหว่างประเทศได้เสนอแนวนโยบายเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนไว้ 3 แนวทางหลัก ได้แก่ (1) เสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง (2) พัฒนาแนวทางในการระดมทรัพยากรภายในประเทศ อาทิ การปฏิรูปภาษี เพื่อเป็นแหล่งงบประมาณให้รัฐบาลใช้ในการดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และ (3) เพิ่มการลงทุนเพื่อการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทั่วถึง และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่คาดว่าในปี 2565 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 ? 4.0 ต่อปี โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการบริโภคภายในประเทศ สถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการของภาครัฐที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและยังต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่อาจยืดเยื้อ ปัญหาความเปราะบางด้านตลาดแรงงานและหนี้ครัวเรือน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังได้เน้นย้ำความสำคัญของการระดมทรัพยากรในประเทศ เช่น การปฏิรูปภาษี การผ่อนปรนกฎเกณฑ์ด้านการคลังบางประการ เป็นต้น ทั้งนี้ ในส่วนของสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่าง ๆ ควรพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขการให้กู้ยืมแก่ประเทศอาเซียน และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries) เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และผ่อนปรนเกณฑ์การพิจารณาเงื่อนไขการปล่อยกู้ต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในภาวะที่มีความผันผวนสูงและไม่ปกติ เพื่อให้รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ สามารถมีพื้นที่การคลังเพียงพอในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ภาครัฐได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและมีความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจที่ดี และพร้อมที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันกับทั้งเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและเศรษฐกิจโลก 2. การประชุม AFMM ครั้งที่ 26 ที่ประชุมได้หารือร่วมกันในประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ข้อริเริ่มด้านโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อของอาเซียน เป็นต้น และติดตามความคืบหน้าและร่วมพิจารณาให้การรับรองประเด็นสำคัญภายใต้ความร่วมมือทางด้านการเงินอาเซียน (ASEAN Financial Cooperation) ทั้งสิ้น 7 ประเด็น ได้แก่ (1) การจัดหาเงินทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน (2) ความร่วมมือด้านการประกันภัย (3) โครงการการบริหารการเงินและการประกันภัยด้านภัยพิบัติสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน (4) ความร่วมมือด้านศุลกากรในอาเซียน (5) การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุน ทางการเงินแก่การก่อการร้าย (6) คณะทำงานด้านภาษีอากรของอาเซียน และ (7) ความคืบหน้าการดำเนินการ ของหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum: ACMF) ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันในการเชื่อมโยงข้อมูลหนังสือรับรอง เช่น ใบขนสินค้าอาเซียน หนังสือรับรองอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืนอาเซียนเพื่อความครอบคลุม ยั่งยืน และเชื่อมโยง (ASEAN Sustainability Linked Bond Standard for Inclusiveness, Sustainability, and Connectivity) ที่สอดคล้องกับการดำเนินการของ ACMF พร้อมทั้งสนับสนุนด้านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ให้เหมาะสมในการจัดเก็บรายได้ภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวสนับสนุนให้มีความร่วมมือด้านสินทรัพย์ดิจิทัล โดยให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงมุมมองด้านการกำกับของประเทศสมาชิกอาเซียน และพร้อมประสานงานระหว่างคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในอาเซียนด้วย และได้กล่าวชื่นชมการดำเนินการของกองทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund: AIF) ในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงในอาเซียน พร้อมทั้งสนับสนุนให้ AIF พิจารณาให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด (Clean Energy) และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3. การประชุม AFMGM ครั้งที่ 8 ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะเชิงนโยบายกับผู้แทนภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วย สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ASEAN-BAC) สภาที่ปรึกษาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) และสภาที่ปรึกษา ธุรกิจอาเซียน-สหรัฐอเมริกา (US-ASEAN Business Council: US-ABC) โดยทั้ง 3 หน่วยงานได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการยกระดับด้านการเงินที่ยั่งยืน เช่น การพัฒนาตลาดคาร์บอนในอาเซียน การจัดทำเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียน การลงทุนในโครงการในมิติด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาระบบดิจิทัล เพื่อส่งเสริมด้านการค้าและการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการชำระเงินข้ามประเทศเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือและติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ. 2025 (ASEAN Economic Community (AEC) Blueprint 2025) รวมทั้งความคืบหน้าของความร่วมมือภายใต้กรอบการประชุม AFMGM ซึ่งได้แก่ แผนงานการบูรณาการทางการเงินของอาเซียน (Roadmap for Monetary and Financial Integration of ASEAN: RIA-Fin) และความร่วมมือ ด้านการเงินยั่งยืนของอาเซียน (ASEAN Sustainable Finance Cooperation) ในส่วนของการพัฒนาเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียน (ASEAN Taxonomy) เวอร์ชั่นที่ 1 ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สนับสนุนข้อเสนอของสภาธุรกิจทั้ง 3 แห่ง ในประเด็นที่ผลักดันให้มีการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน และได้กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทยในการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเร่งดำเนินกระบวนการภายในประเทศเพื่อให้สามารถมีการลงนามในร่างพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) ฉบับที่ 9 ได้สำเร็จภายในปี 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีข้อเสนอแนะในการพัฒนา ASEAN Taxonomy เวอร์ชั่นที่ 1 ที่จะนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดหมวดหมู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริงในกรอบอาเซียนเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน ที่ควรคำนึงถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ และควรเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ในการประชุมวันที่ 8 เมษายน 2565 ได้มุ่งที่จะสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการมุ่งไปสู่การพัฒนาด้านการเงินที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญ และผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การดำเนินมาตรการด้านการคลังที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น การออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บรรเทาปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมไปถึงแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อน การพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เป็นต้น สำหรับการประชุม AFMM และ AFMGM ครั้งต่อไปในปี 2566 จะมีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพ โดยคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม ? ช่วงต้นเดือนเมษายน 2566
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3615
ที่มา: กระทรวงการคลัง