ฉบับที่ 90/2565 วันที่ 22 มิถุนายน 2565 ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปค (APEC Senior Finance Officials? Meeting: APEC SFOM) วันที่ 22 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า ในระหว่างวันที่ 22 ? 23 มิถุนายน 2565 กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปค (APEC Senior Finance Officials? Meeting: APEC SFOM) ณ จังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นประธานการประชุม และมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคและองค์การระหว่างประเทศ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group: WBG) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และหน่วยงานสนับสนุนนโยบายของเอเปค (APEC Policy Support Unit: APEC PSU) เพื่อร่วมหารือในประเด็นด้านเศรษฐกิจ และประเด็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) ภายใต้แนวคิด ?ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน? โดยในวันที่ 22 มิถุนายน 2565 เป็นการประชุมเพื่อหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจและการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีสาระสำคัญของผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้ 1. ผลการหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็น ด้านเศรษฐกิจ โดยผู้แทนจาก IMF ได้รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี ซึ่งชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี ที่ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี จากปัจจัยเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แนวโน้มนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลก อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลการคาดการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ WBG ADB และ APEC PSU นอกจากนี้ ADB ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าความร่วมมือของภูมิภาคเอเปคในด้านเศรษฐกิจจะช่วยส่งผลให้เศรษฐกิจของเอเปคสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน ในการนี้ นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะผู้แทนไทยได้นำเสนอสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 - 3.5 ต่อปี โดยขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัว การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจากการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทย และนโยบายการคลังที่สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการบรรเทาผลกระทบด้านค่าครองชีพต่อกลุ่มเป้าหมาย การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน และการส่งเสริมการลงทุนในระดับประเทศและระดับภูมิภาค 2. ผลการหารือในประเด็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ประชุมได้รับทราบ ความคืบหน้าของผลการสัมมนาเรื่อง การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความยั่งยืนในตลาดทุน ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดขอนแก่น โดยผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้รายงานสรุปประเด็นที่สำคัญด้านการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างความยั่งยืนในตลาดทุน นอกจากนี้ ADB และองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) ได้นำเสนอประสบการณ์ด้านการสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emission) ทั้งนี้ องค์กรระหว่างประเทศดังกล่าวได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การจัดทำมาตรฐานในการรายงานความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Risks) และการพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Taxonomy) ที่สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายของแต่ละสมาชิกเขตเศรษฐกิจ ในการนี้ นายวโรทัยฯ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของกระทรวงการคลังที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยการสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งกระทรวงการคลังได้จัดทำกรอบการพัฒนาด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน และได้มีการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการระดมทุนโครงการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ด้วย ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ดำเนินการออกพันธบัตรดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งบริหารจัดการให้ตลาดพันธบัตรมีสภาพคล่องที่เหมาะสม โดยปัจจุบันมีวงเงินคงค้างของพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนรวม 2.12 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วงเย็นของวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมจะมีการหารือในประเด็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินนโยบายการคลัง ทั้งในส่วนการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ การพัฒนาการเชื่อมโยงการชำระเงินในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปค และการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านช่องทางการระดมทุนดิจิทัล การประชุม APEC SFOM ถือเป็นโอกาสอันดีที่สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้หารือและแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น รวมถึงรับทราบแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ความคืบหน้าในการดำเนินการด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และแนวทางในการพัฒนาการดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการไปสู่เป้าหมายด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ การประชุม APEC SFOM จะดำเนินต่อไปในวันที่ 23 มิถุนายน 2565
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3615
ที่มา: กระทรวงการคลัง