ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 25, 2023 12:04 —กระทรวงการคลัง

ฉบับที่ 77/2566                                                                                                                             วันที่ 25 เมษายน 2566

ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566
?เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น
ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง อย่างไรก็ดี
ยังต้องติดตามนโยบายการเงินและปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างใกล้ชิด?
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง    แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่า ?เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 ถึง 4.1) ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียและกลุ่มสหภาพยุโรปที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 29.5 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 164.6 ต่อปี และคาดว่ามีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 1.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 255.9 ต่อปี ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับด้านอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 ถึง 4.6) ตามรายได้ภาคประชาชนที่ฟื้นตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงช่วยให้การบริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.8 ถึง 2.8) จากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ดี ผลของอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดและปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลักส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงในช่วงต้นปี 2566 ทำให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจะหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.0 ถึง 0.0) นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐคาดว่าหดตัวที่ร้อยละ -2.1 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -2.6 ถึง -1.6) และการลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 ถึง 3.1) ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 2.6 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ
2.1 ถึง 3.1) ปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ร้อยละ 1.0 ? 3.0 เนื่องจากราคาพลังงานโลกที่ลดลง ทำให้แรงกดดันด้านอุปทานจากต้นทุนพลังงาน และราคาน้ำมันคลี่คลายลง สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมีทั้งปัจจัยสนับสนุน อาทิ 1) ภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวทุกสัญชาติที่มีจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ 2) สถานการณ์เงินเฟ้อที่ลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้ ส่งผลบวกต่อการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น และปัจจัยเสี่ยง อาทิ 1) ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และ 2) ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงระหว่างประเทศและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ

กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3296 หรือ 3273

ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566

           2564          2565          2566f

ณ เม.ย. 66

                              เฉลี่ย          ช่วง
ผลการประมาณการ
1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละ)          1.5          2.6          3.6          3.1 ถึง 4.1
2) อัตราการขยายตัวของการบริโภค
    - การบริโภคภาคเอกชน ณ ราคาคงที่ (ร้อยละ)          0.6          6.3          4.1          3.6 ถึง 4.6
    - การบริโภคภาครัฐ ณ ราคาคงที่ (ร้อยละ)          3.7          0.0          -2.1          -2.6 ถึง -1.6
3) อัตราการขยายตัวของการลงทุน
    - การลงทุนภาคเอกชน ณ ราคาคงที่ (ร้อยละ)          3.0          5.1          2.3          1.8 ถึง 2.8
    - การลงทุนภาครัฐ ณ ราคาคงที่ (ร้อยละ)          3.4          -4.9          2.6          2.1 ถึง 3.1
4) อัตราการขยายตัวของปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละ)          11.1          6.8          6.0          5.5 ถึง 6.5
5) อัตราการขยายตัวของปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละ)          17.8          4.1          3.8          3.3 ถึง 4.3
6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)          32.4          10.8          10.0          7.0 ถึง 13.0
     - มูลค่าสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ)          19.2          5.5          -0.5          -1.0 ถึง 0.0
     - มูลค่าสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ)          27.7          15.3          -0.2          -0.7 ถึง 0.3
7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)          -10.6          -17.2          4.2          1.5 ถึง 6.9
     - ร้อยละของ GDP          -2.1          -3.4          0.8          0.3 ถึง 1.3
8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละ)          1.2          6.1          2.6          2.1 ถึง 3.1
    อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ร้อยละ)          0.2          2.5          2.2          1.7 ถึง 2.7
สมมติฐานหลัก
สมมติฐานภายนอก
1) อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 15 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละ)          5.6          3.4          2.8          2.3 ถึง 3.3
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล)          69.2          95.4          82.0          77.0 ถึง 87.0
สมมติฐานด้านนโยบาย
3) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)          32.0          35.1          33.2          32.2 ถึง 34.2
4) รายจ่ายภาคสาธารณะ (ล้านล้านบาท)          4.01          4.11          4.12          4.07 ถึง 4.17
5) จำนวนนักท่องเที่ยว (ล้านคน)          0.4          11.2          29.5          28.5 ถึง 30.5


ที่มา: กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ