ฉบับที่ 2/2567 วันที่ 29 มกราคม 2567
ภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคเดือนธันวาคม 2566 เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนธันวาคม 2566 ในภาคเหนือ และภาคกลางมีปัจจัยสนับสนุน
จากการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม การลงทุนยังชะลอตัวในหลายภูมิภาค นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนธันวาคม 2566 ว่า "เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนธันวาคม 2566 ในภาคเหนือ และภาคกลางมีปัจจัยสนับสนุน จากการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม การลงทุนยังชะลอตัวในหลายภูมิภาค" โดยมีรายละเอียดดังนี้
เศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนธันวาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว ได้ดี อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจ ด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 7.1 10.9 และ 6.1 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -8.1 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 62.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 61.5 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 518.7 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 279.1 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานกะเทาะเปลือกกาแฟและกะลา ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 98.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 96.9
เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนธันวาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 17.3 ต่อปี จำนวนรถยนต์นั่ง จดทะเบียนใหม่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรชะลอตัว ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 60.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.1 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 18.5 ต่อปี ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -4.2 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 5,690.5 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 423.1 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตกระป๋อง และขวดอลูมิเนียม ในจังหวัดสระบุรี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 87.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 91.8
เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนธันวาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 15.9 และ 2.0 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 64.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 63.5 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -4.4 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ส่วนเงินทุนของโรงงาน ที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 3,815.4 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 151.2 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตน้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาว ในจังหวัดชัยภูมิ เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 83.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 87.1
เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนธันวาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 10.0 และ 3.3 ต่อปี ตามลำดับ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 60.2 เพิ่มขึ้น จากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.1 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 87.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 91.8
เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนธันวาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว ร้อยละ 7.8 ต่อปี จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว และรายได้เกษตรกรชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 58.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.8 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 783.4 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 149.5 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ในจังหวัดระนอง เป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 90.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 95.1
เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑลในเดือนธันวาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่น ของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่ง จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -2.3 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 61.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 60.7 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 2,567.0 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 38.8 ต่อปี เป็นการลงทุนในโรงงานผลิตน้ำดื่ม และผลิตขวดพลาสติก ในจังหวัดนนทบุรี เป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 87.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 91.8
เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนธันวาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 64.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 63.4 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 87.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 86.3
โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมปรากฏตามเอกสารแนบ
ที่มา: กระทรวงการคลัง