ในวันที่ 10 มิถุนายน 2551 ธนาคารกลางของเวียดนาม ได้ปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนทางการของสกุลเงินดองต่อดอลลาร์สหรัฐลงร้อยละ 1.96 พร้อมกับประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงขึ้นร้อยละ 2 เพื่อชะลอวิกฤตการณ์ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างรวดเร็วและเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งภาวะวิกฤตการณ์ดังกล่าวทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลและเริ่มถอนการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์และค่าเงินสกุลภูมิภาคเอเชียลดลง จึงเกิดคำถามว่า วิกฤตเศรษฐกิจเวียดนาม หรือวิกฤต “เฝอ” ในปัจจุบันนี้เกิดจากสาเหตุใด และจะส่งผลลุกลามไปทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2540 หรือไม่ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จึงได้ทำการศึกษาถึง สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจของเวียดนาม ผลกระทบจากภาวะวิกฤตดังกล่าวสู่ประเทศไทย และแนวนโยบายของไทยในการรองรับผลกระทบดังกล่าว ดังมีรายละเอียดดังนี้
1. สาเหตุของวิกฤต “เฝอ”
วิกฤตเศรษฐกิจที่เวียดนามเผชิญอยู่นี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเร็วเกินไป โดยขยายตัวสูงในระดับร้อยละ 7-9 ในช่วงปี 2547-2550 โดยเป็นการขยายตัวของภาคบริการ (โดยเฉพาะภาคการเงิน) และภาคการก่อสร้างเป็นหลัก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการสะท้อนถึงการเก็งกำไรในตลาดเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมเริ่มมีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง
การที่เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวในระดับสูง ในขณะที่เวียดนามเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิด (Smallopen Economy) ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นในระดับสูงตามไปด้วย ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามขาดดุลเป็นจำนวนมากและขาดดุลอย่างรวดเร็ว จากที่เคยขาดดุลเล็กน้อยที่ประมาณ 0.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2548 (หรือประมาณร้อยละ 0.3 ต่อ GDP) เป็นขาดดุลประมาณ 6.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2550 (หรือประมาณร้อยละ 9.0 ต่อ GDP)
นอกจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว เวียดนามยังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและควบคุมได้ยาก โดยภาวะเงินเฟ้อของเวียดนามเกิดทั้งจากภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น (Cost-push Inflation) ตามราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาอาหารที่พุ่งขึ้นมาก และภาวะความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น (Demand-pull Inflation) โดยล่าสุดณ เดือนพฤษภาคม อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามสูงถึงร้อยละ 25.3 อันเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 16 ปี โดยเงินเฟ้อที่เกิดจากอาหารราคาบ้าน และการขนส่งพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 43 ร้อยละ 23 และร้อยละ 15 ตามลำดับ
ปัจจัยที่ทำให้เวียดนามเผชิญวิกฤตการณ์ด้านเงินเฟ้อและวิกฤตการณ์ดุลการชำระเงิน (Balance of Payment Crisis)เกิดจากการที่เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตสูงเกินไป (Overheating Economy) โดยเศรษฐกิจที่เติบโตเร็ว ทำให้เวียดนามจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทุนรวมถึงวัตถุดิบในการผลิตมาก ทำให้เวียดนามขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น การที่ทางการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัว ขณะที่มีเงินทุนไหลเข้าในปริมาณสูง ส่งผลให้ทุนสำรองเงินตรา รวมถึงปริมาณเงินในระบบมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ธนาคารพาณิชย์มีการปล่อยสินเชื่อในปริมาณสูง ซึ่งจากข้อมูลเชิงประจักษ์บ่งชี้ว่า อัตราการขยายตัวของปริมาณเงิน (M2) ของเวียดนามเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43 ในปี 2550 สอดคล้องกับปริมาณการขยายตัวของสินเชื่อในปีเดียวกันที่สูงถึงร้อยละ 53 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 33.6 และ 25.4 ในปี 2549 ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาวะการขยายตัวของปริมาณเงินในระดับสูงประกอบกับสินเชื่อที่ขยายตัวสูง ยิ่งส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อในเวียดนามพุ่งสูงขึ้นและทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป
ในขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากในขณะที่ค่าเงินยังคงผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงของค่าเงินดองสูงขึ้นมาก ส่งผลกระทบทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าและบริการส่งออกของเวียดนามลดลง โดยสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาคคาดการณ์ว่า อัตราการส่งออกของเวียดนามในปี 2551 จะชะลอลง จากประมาณร้อยละ 31 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 18 ในปี 2551
ในขณะที่เวียดนามขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างรวดเร็ว เวียดนามยังคงมีการขาดดุลการคลังของภาครัฐในระดับสูงเช่นกัน โดยในปี 2550 เวียดนามขาดดุลการคลังที่ร้อยละ 4.9 ต่อ GDP ซึ่งการที่เวียดนามมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมกับการขาดดุลการคลังนั้น ทำให้ระดับเงินออมของประเทศ (National Saving) อันเป็นผลรวมระหว่างการออมภาคเอกชนและการออมภาครัฐลดลง และนำไปสู่การขาดดุลบัญชีแฝด (Twin Deficit) ซึ่งเป็นภาวะที่เสี่ยงต่อวิกฤตการณ์การเงินเนื่องจากค่าเงินดองจะต้องอ่อนค่าลงประกอบกับภาคเศรษฐกิจในประเทศจะต้องชะลอการบริโภคและลงทุนลงและเพิ่มระดับการออมในประเทศขึ้น เพื่อทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับเข้าสู่สมดุล อนึ่ง หากนักลงทุนและ/หรือประชาชนภายในประเทศเกิดความวิตกกังวลในสภาวะเศรษฐกิจ (ดังเช่นในภาวะปัจจุบัน) อาจเริ่มถอนการลงทุนและแลกเปลี่ยนเงินดองเป็นเงินสกุลอื่นเช่น
ดอลลาร์สหรัฐ อันจะเป็นตัวเร่ง (Catalyst) ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ค่าเงินดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2540 ได้
ประการสุดท้าย แม้ว่าเงินทุนที่ไหลเข้าเวียดนามเพื่อการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment: FDI) จะมีปริมาณ
สูง แต่ในช่วงปีที่ผ่านมามีเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น ในรูปของการลงทุนด้านการเงิน (Portfolio Flow) สูงมาก นำไปสู่สถานการณ์การลงทุนที่มากเกินไป (Over-Investment) โดยเฉพาะการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ และนำไปสู่การลงทุนในภาคที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต (Non-Productive Sector) โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ อันจะนำไปสู่ภาวะฟองสบู่และวิกฤตการณ์การเงินในที่สุด โดยในปี 2550 การลงทุนด้าน Portfolio Flow ของเวียดนามขยายตัวในระดับสูงขึ้นมากโดยอยู่ที่ 7.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าการลงทุนโดยตรง (FDI) ที่อยู่ที่ 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินทุนไหลเข้าของเวียดนามส่วนใหญ่เป็นเงินทุนร้อน (Hot Money) และมีความเสี่ยงต่อการถอนทุนกลับ (Capital Inflow Reversal) เมื่อนักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ ดังเช่นที่เวียดนามกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน
จากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ธนาคารกลางของเวียดนาม (State Bank of Vietnam: SBV) จำเป็นต้องปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนทางการลงในวันที่ 10 มิถุนายน 2551 โดยได้ปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนทางการของสกุลเงินดองต่อดอลลาร์สหรัฐลงร้อยละ 1.96 จากประมาณ 16,290 ดองต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 16,620 ดองต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการปรับลดครั้งนี้เป็นครั้งที่สองในรอบปี 2551 นี้ หลังจากที่เคยปรับลดลงจาก 15,815 ดองต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 16,100 ดองต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 1.80 ณ เดือนมีนาคม 2551
นอกจากนั้น SBV ยังได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงร้อยละ 2 จากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 14 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 8.25 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548
2. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
สถานการณ์เศรษฐกิจเวียดนามขณะนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ การค้าระหว่างประเทศและการเงินระหว่างประเทศ จากข้อมูลเชิงประจักษ์ในปี 2550 พบว่า ไทยส่งออกสินค้าไปเวียดนามคิดเป็นมูลค่า 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย สำหรับด้านการเงินระหว่างประเทศพบว่า ไทยเข้าไปลงทุนทางตรงระหว่างประเทศในเวียดนามเพียง 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของการเข้าไปลงทุนทางตรงของต่างประเทศทั้งหมดในเวียดนาม ในขณะที่การลงทุนในหลักทรัพย์ และตราสารทุน อาจได้รับผลกระทบจากการด้อยค่าลงของสินทรัพย์และของค่าเงินดอง โดยมีรายละเอียดช่องทางของผลกระทบต่างๆ ดังนี้
2.1 ช่องทางการค้าระหว่างประเทศ
เวียดนามเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของตลาดส่งออกสินค้าของไทย โดยทั้งปี 2550 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ไปยังเวียดนามจำนวน 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของมูลค่าส่งออกสินค้าของไทยทั้งหมด ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 ไทยส่งออกไปยังเวียดนามมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกไปยังเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรก ขยับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปยังตลาดโลก สะท้อนว่าการส่งออกสินค้าของไทยพึ่งพาตลาดเวียดนามมากขึ้น สอดคล้องกับการเจริญเติบโตในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องของเวียดนามในช่วงที่ผ่านมา
2.1.1 ผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ต่อสินค้าไทยลดลงกอปรกับค่าเงินดองต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับลดค่าลงประมาณร้อยละ 2.0 จะทำให้สินค้าไทยในสายตาผู้นำเข้าเวียดนามแพงขึ้นซึ่งทั้ง 2 สาเหตุ ย่อมทำให้การส่งออกของไทยไปยังเวียดนามขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง และจะกระทบต่อสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังเวียดนาม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เหล็ก เครื่องยนต์ และกระดาษ ซึ่งทั้ง 5 สินค้าหลักดังกล่าว มีมูลค่ารวมกัน 581 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 34.4 ของมูลค่าส่งออกไปเวียดนาม และหากมองเป็นรายสินค้าสำคัญจะพบว่า ไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปยังเวียดนามมากเป็นอันดับ 4 รองจากสิงคโปร์ จีน และญี่ปุ่น และขยายตัวถึง 5.8 เท่าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่เม็ดพลาสติกไปยังเวียดนามมากเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและ
ฮ่องกง และขยายตัวถึงร้อยละ 55 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 นอกจากนั้น ส่งออกเหล็กไปเวียดนามมากเป็นอันดับ 1 และขยายตัวถึงร้อยละ 73 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 ดังนั้น 3 สินค้าหลักนี้ จะได้รับผลกระทบด้านลบอย่างชัดเจน
2.1.2 ผลกระทบด้านสินค้านำเข้าของไทย
ค่าเงินดองที่ปรับลดค่าลงจะทำให้สินค้าเวียดนามในสายตาผู้นำเข้าไทยถูกลง (ในกรณีที่เวียดนามสามารถควบคุมให้เงินเฟ้อลดลงได้) ซึ่งอาจส่งผลให้การนำเข้าสินค้าสำคัญของไทยจากเวียดนามขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้านำเข้าหลัก 3 ประเภท ได้แก่ (1) สินค้าทุน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (2) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และ (3)สินค้าเชื้อเพลิง คือ น้ำมันดิบ ซึ่งทั้ง 3 สินค้าหลัก มีมูลค่ารวมกัน 236 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของมูลค่านำเข้าจากเวียดนาม และหากมองเป็นรายสินค้าสำคัญจะพบว่า ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากเวียดนามมากเป็นอันดับ 11 และขยายตัวร้อยละ 11 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 และมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.9 ของมูลค่านำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมด ดังนั้น การลดค่าเงินดองต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะเป็นการโอกาสให้ไทยเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบจากเวียดนามได้อีก
2.1.3 ผลกระทบด้านดุลการค้าของไทยกับเวียดนาม
ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 ไทยเกินดุลการค้ากับเวียดนาม 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ เกินดุลเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 84 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่จากการที่ไทยอาจจะส่งออกไปเวียดนามได้ในอัตราที่ชะลอลงและอาจนำเข้าจากเวียดนามในอัตราเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2551 ประเทศไทยอาจจะเกินดุลการค้าจากเวียดนามลดลง
2.2 ช่องทางการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ
ในปี 2550 การลงทุนทางตรงจากทั่วโลกไปเวียดนามมีมูลค่าทั้งสิ้น 17.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวถึง 1.4 เท่าจากปี 2549 โดยการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในสาขาการก่อสร้างและสาขาอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 70 ของการลงทุนทางตรงรวมในทุกสาขา
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2531-2550 ประเทศไทยมีการลงทุนทางตรงในเวียดนามประมาณ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯคิดเป็นร้อยละ 4 ของมูลค่ารวมจากทั้งโลกที่ไปลงทุนในเวียดนาม หรือคิดเป็นอันดับที่ 13 ซึ่งกระจายอยู่ในหลายสาขาโดยเฉพาะสาขานิคมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตร และสิงทอ ดังนั้น ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุนในเวียดนามคาดว่าจะจำกัดอยู่ในวงแคบ และผลกระทบที่ได้รับจะน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบกับประเทศเกาหลี สิงคโปร์ และไต้หวัน ที่มีการลงทุนการลงทุนทางตรงสูงที่สุด 3 อันดับแรกในเวียดนาม
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวียดนาม ทำให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเวียดนามลดลง นักลงทุนอาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับเวียดนาม ซึ่งไทยน่าจะได้อานิสงค์อย่างมาก เนื่องจากไทยมีค่าเงินที่ยืดหยุ่นอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ ต้นทุนวัสดุก่อสร้างและขนส่งต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ ความเป็นศูนย์กลางในการผลิตและขนส่ง ผลิตภาพด้านแรงงานของไทยสูงกว่าโดยเปรียบเทียบ เป็นต้น
นอกจากนั้น แม้ว่าไทยจะมีอัตราค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าเวียดนาม 3-4 เท่า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เป็นหัวใจของการผลิตไทย คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ประมาณ 4 เท่า และอุตสาหกรรมเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 3.5 เท่า แต่ผลิตภาพของแรงงานไทยที่สูงกว่าเวียดนาม สามารถชดเชยอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใยสังเคราะห์เคมีภัณฑ์พื้นฐาน สิ่งทอ ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ กระดาษ เฟอร์นิเจอร์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมข้างต้น เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยผลิตมากและส่งออกเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี
3. ช่องทางการเงินระหว่างประเทศ
ภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจของเวียดนามในเบื้องต้นนี้ได้ส่งผลลุกลาม (Contagion Effect) สู่ภาวะเศรษฐกิจการเงินของประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของเอเชียปรับลดลง และทำให้ค่าเงินสกุลภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2551 ซึ่งเป็นวันหลังจากที่ทางการเวียดนามปรับลดค่าเงินและขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดัชนีหลักทรัพย์ในเอเชียปรับลดลงถึงประมาณร้อยละ 3-5
จากข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ในภูมิภาคพบว่า ดัชนีหลักทรัพย์ทุกประเทศมีความผันผวนและปรับตัวลงมากเมื่อเทียบกับ 1 สัปดาห์ก่อนหน้าที่เวียดนามประกาศลดค่าเงินดองต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยดัชนีหลักทรัพย์ของจีนลดลงร้อยละ -13.9 ฮ่องกงลดลงร้อยละ -7.4 ไต้หวันลดลงร้อยละ -7.3 ฟิลิปปินส์ลดลงร้อยละ -6.8 สิงคโปร์ลดลงร้อยละ -5.3 และไทยลดลงเป็นอันดับ 6 ในภูมิภาคที่ร้อยละ -4.2
4. ช่องทางการเก็งกำไรค่าเงินในภูมิภาค
จากการที่นักลงทุนข้ามชาติมองว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งเดียว จากปัจจัยโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่มีอยู่มาก ดังนั้น เมื่อเวียดนามประสบปัญหาเศรษฐกิจ นักลงทุนข้ามชาติจะเริ่มมองว่า เศรษฐกิจใดในภูมิภาคมีปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะถอนเงินออกจากตลาดทุน ซึ่งจะส่งผลต่อแรงกดดันค่าเงินให้อ่อนค่าลง
จากข้อมูลค่าเงินในภูมิภาคพบว่า ค่าเงินสกุลท้องถิ่นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ พบว่า ทุกประเทศมีความผันผวนไปในด้านอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับ 1 สัปดาห์ก่อนหน้าที่เวียดนามประกาศลดค่าเงินดองต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยค่าเงินสิงคโปร์อ่อนค่าลงร้อยละ -1.2 เงินเกาหลีอ่อนค่าลงร้อยละ -1.1 เงินฟิลิปปินส์อ่อนค่าลงร้อยละ -0.7 เงินมาเลเซียอ่อนค่าลงร้อยละ -0.6 เงินไต้หวันอ่อนค่าลงร้อยละ -0.3 และเงินไทยอ่อนค่าลงเป็นอันดับ 6 ในภูมิภาคที่ร้อยละ -0.2
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คาดว่าปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเวียดนามยังไม่สิ้นสุด เพราะเศรษฐกิจเวียดนามยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจจะมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวในระดับสูงตามราคาน้ำมันดิบและราคาอาหารที่สูงขึ้นมาก และทางการเวียดนามอาจต้องตัดสินใจปรับลดค่าเงินดองต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในระยะต่อไป ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอาจจะมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมาก ทั้งจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 51 อยู่ที่ 108.9 ซึ่งเกินกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นถึง 4 เท่านอกจากนั้น ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 4 เดือนแรกปี 2551 ยังคงเกินดุลอยู่ที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าจะขาดดุลในเดือนเม.ย.ถึง -1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนี้สาธารณะต่อ GDP เดือนมี.ค. 51 อยู่ที่ 36.9 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 50 บ่งชี้ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะประสบวิกฤตและอาจส่งผลลุกลามสู่เศรษฐกิจอื่นๆ แต่ปัจจัยพื้นฐานของไทยที่แข็งแกร่งทำให้ผลกระทบด้าน contagion ต่อเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในวงที่จำกัด
เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย
2549 2550 2550 2551
Q1 Q2 Q3 Q4 Q1 เม.ย. พ.ค.
ทุนสำรองระหว่างประเทศ(พันล้าน $) 67.0 87.5 70.9 73.0 80.7 87.5 110.0 109.8 108.9
ทุนสำรอง รปท./หนี้ ตปท.ระยะสั้น(เท่า) 3.7 4.0 3.7 3.6 3.8 4.0 4.2 N/A N/A
ดุลบัญชีเดินสะพัด(พันล้าน $) 2.2 14.9 4.7 1.1 2.9 6.2 3.1 -1.7 N/A
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP 1.0 6.1 8.0 1.9 4.8 9.1 4.3 N/A N/A
หนี้สาธารณะต่อ GDP 40.5 38.7 39.2 38.6 38.7 38.7 36.9 N/A N/A
3. ข้อเสนอแนะนโยบาย
นโยบายภาครัฐเพื่อรองรับผลกระทบของการลดค่าเงินดองและภาวะเศรษฐกิจเวียดนามในปัจจุบันแบ่งได้ดังนี้
1. นโยบายระยะสั้น ได้แก่
1.1 รัฐบาลควรวางมาตรการเพื่อสนับสนุนการกระจายตลาดส่งออกให้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดที่มีอัตราการเติบโตดี เช่น จีน ตะวันออกกลาง และอินเดีย ซึ่งจะช่วยปรับสัดส่วนการส่งออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ให้เกิดความสมดุลระหว่างตลาด สินค้าส่งออกต่างๆมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการพึ่งพาเศรษฐกิจภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งและช่วยให้เกิดเสถียรภาพของภาคการส่งออก ทั้งนี้การพึ่งพาตลาดส่งออกใหญ่เพียงไม่กี่ตลาดจะทำให้ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบมากกว่าการมีตลาดส่งออกที่หลากหลาย กล่าวคือ หากมีการกระจายตลาดส่งออกของไทย เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งประสบปัญหาทางเศรษฐกิจก็จะกระทบภาคการส่งออกไทยได้น้อยกว่า
1.2 หน่วยงานรัฐควรเฝ้าระวังติดตามการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่ไหลเข้าหรือออกจากประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการป้องกันการเก็งกำไรจากนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้การไหลออกของเงินทุนจากเวียดนามอันเป็นผลจากการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของเวียดนามอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องภายในภูมิภาค(contagion effect) กล่าวคือ นักลงทุนต่างชาติต่างดึงเม็ดเงินออกจากประเทศในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยด้วย ซึ่งจะทำเกิดการไหลออกของเงินทุนจำนวนมากและกระทบต่อค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาค ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยควรเฝ้าระวังติดตามค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไปซึ่งอาจกระทบต่อการวางแผนการค้าและการลงทุนของผู้ส่งออก ผู้นำเข้าและนักลงทุน ทั้งนี้อาจแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ในกรณีที่เกิดการเก็งกำไรในตลาดค่าเงินบาทของไทย
1.3 ภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนที่ทำการค้าหรือลงทุนในประเทศเวียดนามในการทำการศึกษาถึงผลกระทบของปัญหาภาวะเศรษฐกิจเวียดนามในปัจจุบันเพื่อให้ภาคเอกชนมีการปรับตัวและหาแผนรองรับสถานการณ์ ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนไทยไม่ได้รับผลกระทบกับปัญหาดังกล่าวมากนักและยังป้องกันผลกระทบทางอ้อมต่อสถาบันการเงินไทยที่เป็นแหล่งเงินกู้ให้กับธุรกิจนั้น ๆ
2. นโยบายระยะปานกลางและยาว ได้แก่
2.1 รัฐอาจใช้มาตรการการคลังและการเงินเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีการพึ่งพาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคการส่งออกน้อยลง และหันมาพึ่งพาการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น ระบบขนส่งมวลชน และระบบชลประทาน เป็นต้น
2.2 รัฐบาลควรใช้นโยบายสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เพื่อไม่ให้ประเทศประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเวียดนาม ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพร้อมกับดึงดูดการเก็งกำไรของนักลงทุน รัฐจึงควรสนับสนุนมาตรการที่ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เช่น การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง www.fpo.go.th