บทสรุปผู้บริหาร: เรื่องจุดจบของวิกฤต Sub-Prime

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 6, 2008 15:19 —กระทรวงการคลัง

          นับจากเดือนสิงหาคม 2550 อันเป็นช่วงที่วิกฤต Sub-Prime เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจการเงินโลกเป็นครั้งแรก สถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกเริ่มประสบภาวะผันผวนมากขึ้น
สาเหตุหลักของวิกฤต Sub-Prime เกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในปี 2544 นำไปสู่กระแสเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับมีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก จึงลุกลามไปสู่ภาคการเงิน 4 ภาคได้แก่ (1) ภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจริง (2) ภาคการเงิน (3) ภาคอัตราแลกเปลี่ยน และ (4)ภาคสินค้าโภคภัณฑ์
สศค. คาดว่าสถานการณ์ด้านราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ น่าจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นนับจากครึ่งหลังของปี 2551 เป็นต้นไป โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น (1) สถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์น่าจะพลิกฟื้นขึ้นในปลายปี 2552 ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐโดยรวมนั้นอาจจะประสบภาวะถดถอยในครึ่งแรกของปี 2551 ก่อนที่จะเริ่มพลิกฟื้นขึ้นในครึ่งหลังของปี 2551 (2) สถานการณ์ภาคการเงิน น่าจะเริ่มพลิกฟื้นได้ในปี 2552 เป็นอย่างช้า จากการที่ Fed ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างเฉียบพลัน ภาคการเงินสหรัฐสามารถรับรู้ผลการขาดทุนได้อย่างรวดเร็ว และ Fed ทำหน้าที่เป็น “แหล่งเงินกู้สุดท้าย” (Lender of Last Resorts) ให้กับสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา (3) ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนน่าจะเริ่มมีเสถียรภาพ
ขึ้นหลังจาก Fed ยุติการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางปี 2551 ขณะที่ธนาคารกลางที่อื่น ๆ จะเริ่มตรึงดอกเบี้ยนโยบายหรือปรับขึ้นเล็กน้อย และ (4) ทิศทางราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์ซึ่งน่าจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของ 2551 ถึงช่วงกลางปี 2551 ตามทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้สูงที่ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ จะไม่เป็นไปดังคาดไว้ ดังนั้นภาครัฐจะต้องมีมาตรการต่าง ๆ ดังนี้ (1) ในระยะสั้น การทำนโยบายการเงินอาจต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดเนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้ความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยมีสูงขึ้นอย่างไรก็ตามหากปรับดอกเบี้ยเร็วเกินไป อาจทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐและไทยเพิ่มสูงขึ้นและมีผลต่อค่าเงินบาทได้ (2) ภาครัฐควรสนับสนุนการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Outward Capital Flow) เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น นโยบายการคลังอาจต้องมีการขยายตัวและสนับสนุนให้เกิดการบริโภคและลงทุนภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยชะลอผลกระทบหากเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวรุนแรง และ (3) ประเทศไทยจึงควรมุ่งเน้นการเปิดเสรีทางการค้า รวมถึงเปิดตลาดใหม่ ๆ มากขึ้น เพื่อสร้างภูมิต้านทานต่อการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงลดปริมาณการพึ่งพิงน้ำมันเช่นกัน ในส่วนภาคการเงินนั้น ประเทศในภูมิภาคจะต้องสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางการเงิน (Global Imbalance) อันเป็นต้นตอของวิกฤตดังกล่าวด้วย เพื่อทำให้เศรษฐกิจการเงินไทยและเอเชียมีเสถียรภาพในระยะยาว
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ