เรื่อง จุดจบของวิกฤต Sub-Prime

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 6, 2008 15:45 —กระทรวงการคลัง

          นับจากเดือนสิงหาคม 2550 เป็นต้นมาวิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพของสหรัฐ (Sub-Prime Mortgage) ได้เริ่มลุกลามเข้าสู่ตลาดเงินตลาดทุนโลก ทำให้สภาวะเศรษฐกิจการเงินทั่วโลกเริ่มผันผวนมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเริ่มจากราคาสินทรัพย์ในตลาดพันธบัตร ตลาดหลักทรัพย์ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และส่งผลเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริงและทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มตกต่ำลง ขณะที่ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจที่วัดจากเงินเฟ้อมีความเสี่ยงมากขึ้นเช่นกัน โดยสาเหตุของความผันผวนทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะวิกฤต Sub-Prime ที่ส่งผลรุนแรงขึ้น และทำให้ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจเผชิญความยากลำบากขึ้นในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้เกิดคำถามว่า วิกฤต Sub-Prime ในปัจจุบันนี้จะยุติลงเมื่อใด และ ราคาสินทรัพย์จะเป็นเช่นไรเมื่อภาวะวิกฤตดังกล่าวสิ้นสุดลง ดังนั้น สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จึงได้ศึกษาถึงสถานการณ์ของตลาดสินทรัพย์ต่าง ๆ หลังได้รับผลกระทบของวิกฤต Sub-Prime สาเหตุของความผันผวนดังกล่าว การคาดการณ์ระยะเวลาที่วิกฤต Sub-Prime จะสิ้นสุดลงและแนวโน้มของราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ หลังได้มีการปรับฐาน(Correction) แล้ว รวมถึงนำเสนอบทสรุปและข้อเสนอเชิงนโยบายที่ภาครัฐจะสามารถกระทำได้เพื่อชะลอความผันผวนและผลของความผันผวนของสินทรัพย์ต่าง ๆ อันเนื่องจากวิกฤต Sub-Prime โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. สถานการณ์ของตลาดสินทรัพย์ต่าง ๆ หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤต Sub-Prime
นับจากเดือนสิงหาคม 2550 อันเป็นช่วงที่วิกฤต Sub-Prime เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจการเงินโลกเป็นครั้งแรกสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกเริ่มประสบภาวะผันผวนมากขึ้น โดยหากพิจารณาราคาสินทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จะพบมีความผันผวนและพุ่งสูงขึ้นเกินกว่าระดับจิตวิทยา (Psychological Level) ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินสกุลหลักที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เช่นค่าเงินเยนที่แข็งค่ากว่า 100 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ และ 1.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร หรือราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญเช่น น้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาทองคำที่สูงเกินกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในขณะที่สถานการณ์ภาคการเงินสหรัฐก็ประสบภาวะตกต่ำเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกระแสข่าวที่ธนาคารรวมถึงวานิชธนกิจ ระดับโลก เช่น Citibank, Lehman Brothers, Goldman Sachs, BNP Paribas, UBS, IKB, Societe Generale, Capital One, Northern Rock, Macquarie และCountrywide Financial ประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้นักลงทุนทั่วโลกหวั่นวิตกในผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้ จึงรีบเทขายหลักทรัพย์กลุ่มการเงิน อันเป็นเหตุให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกผันผวนและตกต่ำลง
อย่างไรก็ตาม ความผันผวนในตลาดเงินทุนโลกทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อวานิชธนกิจ Bear Stearns ที่เป็นหนึ่งในห้าวานิชธนกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกประสบภาวะขาดทุนและเสี่ยงต่อการล้มละลาย จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve:Fed) ต้องปล่อยเงินกู้ฉุกเฉินให้กับ Bear Stearns ถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการปล่อยเงินกู้ให้กับเอกชนโดยตรงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 80 ปี นับจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (The Great Depression) ในทศวรรษที่ 1930
2. สาเหตุของความผันผวนของตลาดสินทรัพย์ต่าง ๆ
สาเหตุของความผันผวนในตลาดเงินทุนโลกนั้นมาจากหลายปัจจัย แต่ผลจากภาวะวิกฤต Sub-Prime ส่งผลกระทบรุนแรงมากที่สุด ซึ่งหากพิจารณาถึงสาเหตุของภาวะวิกฤต Sub-Prime แล้ว จะพบว่าเกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง2 ในปี 2544 — 47 จากร้อยละ 6.25 จนเหลือร้อยละ1.00 เพื่อชะลอการตกต่ำของเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากปัจจัยลบ 3 ประการ อันได้แก่ (1) ภาวะตกต่ำในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐเนื่องจากการตกต่ำของหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและอินเตอร์เนท (หรือที่เรียกว่าฟองสบู่ดอทคอมแตก) (2) เหตุการณ์ก่อวินาศกรรม 11 กันยายน 2544 และ (3) การล้มละลายของบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ (Enron, Anderson, Worldcom) อันเนื่องมาจากปัญหาการขาดธรรมาภิบาล (Good Governance) โดยมีการตกแต่งทางบัญชี
การลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์เกิดภาวะชะลอตัวอันเนื่องมาจากการแตกของฟองสบู่ดอทคอม ทำให้เกิดกระแสเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์แทน โดยราคาของอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐขยายตัวในอัตราก้าวกระโดด โดยหากเปรียบเทียบการขยายตัวของราคาอสังหาริมทรัพย์สหรัฐในปี 2533-37 เทียบกับปี 2548 อันเป็นปีที่ราคาขยายตัวสูงสุด จะเห็นว่าในปี 2533-37 ราคาขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0-2 ต่อปี ขณะที่ปี 2548 ขยายตัวถึงร้อยละ 13 ต่อปี ก่อนที่จะเริ่มตกลงในปี 2549 และตกต่ำต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
นอกจากภาวะการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์แล้ว ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมานวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ถูกคิดค้นออกมาหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมทางการเงินบางประเภทโดยเฉพาะตราสารหนี้ (Securitized Debt) ที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน (Underlying Asset) เช่น Asset-backed Securities (ABS) Mortgage-backed Securities (MBS) และ Collateralized Debt Obligation (CDO) เป็นตราสารทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีสินทรัพย์ที่หนุนหลังตราสารด้งกล่าวเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Sub-Prime Mortgage) ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก จึงทำให้ตราสารหนี้เหล่านี้ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง และลุกลามไปสู่ภาคการเงินทั้งระบบและขยายวงกว้างไปสู่ตลาดเงินตลาดทุนรวมถึงเศรษฐกิจโลกด้วย โดยสามารถแบ่งผลกระทบอันเกิดจากวิกฤต Sub-Prime ครั้งนี้ใน 4 ภาคเศรษฐกิจ
ภาคที่หนึ่ง ได้แก่ภาคเศรษฐกิจจริง ที่ถูกกระทบโดยตรงจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาบ้านของ S&P/Case-Shiller ที่ครอบคลุม 20 เมืองใหญ่ทั่วสหรัฐในเดือนมกราคม หดตัวที่ร้อยละ -10.7 ต่อปี ต่อเนื่องจากร้อยละ -11.4 และเป็นการตกต่ำอย่างต่อเนื่องนับจากจุดสูงสุดในไตรมาสที่ 4 ปี 2548 (ภาพที่ 8) ซึ่งราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำนี้ส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่ง (Wealth Effect) ของชาวสหรัฐ และนำไปสู่การหดตัวของการบริโภคและการลงทุน โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ (Residential Investment) ทั้งยังส่งผลลูกโซ่ไปยังภาคการผลิตและเศรษฐกิจสหรัฐโดยรวมให้ตกต่ำลง โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ดัชนีภาคการผลิตของสถาบันการจัดการด้านอุปทาน
(ISM Manufacturing index) ของสหรัฐอยู่ที่ 48.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 50.7 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี และเป็นระดับที่ต่ำ 50 จุด ซึ่งแสดงถึงการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรม และบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย
ภาคที่สอง ได้แก่ตลาดการเงิน เมื่อฟองสบู่ Sub-Prime แตก ทำให้ราคาของตราสารหนี้ที่อ้างอิงกับภาคอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลงไปด้วย บริษัทที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับ Sub-Prime ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงจนเกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว (Credit Crunch) และทำให้สภาวะทางการเงินโลกเข้มงวดขึ้น (Tightening Global Financial Condition) ส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกเริ่มวิตกกังวล จึงเร่งเทขายพันธบัตรระยะยาวและหันไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น จึงทำให้ราคาพันธบัตรระยะสั้นและยาว (Bond Yield Spread) ห่างกันมากขึ้น
นอกจากนั้นนักลงทุนยังเร่งเทขายหลักทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา ทำให้ราคาหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวลดต่ำลง และลุกลามไปสู่ตลาดหลักทรัพย์ทั้งในสหรัฐและตลาดอื่น ๆ ทั่วโลก โดยในสหรัฐนั้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ตกต่ำส่งผลโดยตรงต่อความมั่งคั่งของผู้บริโภคให้ลดลงและส่งผลย้อนกลับไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงผ่านการบริโภคที่ชะลอลง นอกจากนั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับลดลงยังส่งผลกระทบไปยังตลาดอื่น ๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่ถูกมองว่ามีผลตอบแทนสูงแต่ความเสี่ยงสูงเช่นกัน ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในตลาด
เกิดใหม่ผันผวนขึ้นมาก
ภาคที่สาม ได้แก่ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนขึ้น โดยมีสาเหตุหลักจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยชะลอการตกต่ำของเศรษฐกิจและพลิกฟื้นตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่วิกฤต Sub-Prime เริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 นั้น Fed ได้ปรับลดดอกเบี้ย FedFunds Rate จากร้อยละ 5.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ในเดือนมีนาคม 2551 ทั้งยังมีแนวโน้มจะลดอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาสถานการณ์สินเชื่อตึงตัว ซึ่งการลดดอกเบี้ยของสหรัฐในขณะที่ธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเนื่องจากความเสี่ยงเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและประเทศอื่น ๆ กว้างขึ้น เป็นเหตุให้ค่าเงินของประเทศดังกล่าวเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจึงผันผวนและแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภาคที่สี่ ได้แก่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ สินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการอุปโภค(Hard Commodity) เช่น น้ำมัน เหล็ก ดีบุก ตะกั่ว และโลหะมีค่าต่าง ๆ เช่น ทอง ทองคำขาว และสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการบริโภค (Soft Commodity) ได้แก่ ธัญพืชต่าง ๆ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง น้ำตาล เป็นต้น ซึ่งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งสองมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และมักจะมีทิศทางไปในทางเดียวกันกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลัก อันได้แก่น้ำมันดิบ
การที่ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นในช่วงหลังนั้นเกิดจากสองปัจจัยหลัก โดยปัจจัยแรกได้แก่ ปัจจัยพื้นฐาน หรือความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อันเป็นผลจากการขยายตัวอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจเกิดใหม่เช่นจีน ที่ทำให้ความต้องการน้ำมันสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจาก 6.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาสที่ 1 ปี 2548 เป็น 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่กลุ่มประเทศผู้ผลิตหลักโดยเฉพาะกลุ่ม OPEC (ที่มีกำลังการผลิตประมาณหนึ่งในสามของทั้งโลก) และผู้ผลิตรายย่อยอื่น ๆ ไม่สามารถผลิตเพิ่มขึ้นได้มากนัก เนื่องจากในปัจจุบันมีการผลิตเต็มกำลังแล้วขณะที่การขุดเจาะใหม่ต้องใช้เวลานาน โดยในกรณีของ OPEC นั้นสามารถผลิตเพิ่มขึ้นได้เพียงเล็กน้อย จาก 35.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาสที่ 1 ปี 2548 เป็น 36.0 ล้านบาร์เรลต่อวันในปัจจุบัน นอกจากนั้น ปัจจัยทางจิตวิทยาอื่น ๆ เช่นกัน ปัญหาความไม่มั่นคงในสถานการณ์การเมืองโลกโดยเฉพาะในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ปัญหาการก่อการร้ายทั่วโลก ปัญหาภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่มีผลต่อแหล่งขุดเจาะ ก็มีผลทำให้ราคาน้ำมันรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ผันผวนเช่นเดียวกัน
ปัจจัยที่สองที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ มีความผันผวนมาก เกิดจากการเก็งกำไรจากกองทุนประกันความเสี่ยง (Hedge Fund) ที่เข้าเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์แทน หลังจากตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลงจากวิกฤต Sub-Prime นอกจากนั้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนลงยังทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันส่วนใหญ่ที่ผูกติดค่าเงินกับสกุลดอลลาร์จำต้องขึ้นราคาน้ำมันดิบเพื่อรักษา Margin ด้วย ซึ่งการที่ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นนี้ทำให้ประเทศผู้บริโภคน้ำมันเริ่มหันไปหาพลังงานทางเลือก (Bio Fuel) มากขึ้น จึงทำให้ราคาของธัญพืชที่ใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงต่าง ๆ เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง น้ำตาล ข้าวโพด รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการบริโภคอื่นๆ สูงขึ้นเช่นกัน
3. การคาดการณ์ระยะเวลาที่วิกฤต Sub-Prime จะสิ้นสุดลงและแนวโน้มของราคาสินทรัพย์ต่างๆ หลังวิกฤตสิ้นสุดลง
หลังจากที่ได้ทราบถึงสาเหตุของความผันผวนในราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่มีจุดเริ่มต้นจากภาคอสังหาริมทรัพย์แล้วนั้น การคาดการณ์ถึงระยะเวลาที่ความผันผวนดังกล่าวจะยุติลงรวมถึงแนวโน้มของราคาสินทรัพย์ต่างๆ หลังวิกฤตดังกล่าวสิ้นสุดลงนั้นสามารถทำได้ง่ายขึ้น โดยสามารถแบ่งการคาดการณ์ของราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้เป็น 4 ประเด็นใหญ่ ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ จากประสบการณ์ของประเทศที่เคยประสบปัญหาการตกต่ำภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่นญี่ปุ่นและเยอรมัน จะเห็นได้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำจะส่งผลต่อเศรษฐกิจให้มีอัตราการเติบโตในระดับต่ำอย่างยาวนาน โดยในกรณีของญี่ปุ่นนั้น การตกต่ำของภาคอสังหาริมทรัพย์ทำให้ราคาของสินทรัพย์ในปี 2550(อันเป็นปีที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลงมากที่สุด) ตกต่ำร้อยละ -40 นับจากปี 2534 (อันเป็นช่วงก่อนการแตกของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ญี่ปุ่น) และเป็นการตกต่ำอย่างต่อเนื่องถึง 16 ปี ขณะที่การบริโภคโดยรวมของทั้งเยอรมันและญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำสุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในช่วงปี 2539-49
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของสหรัฐนั้น แม้ว่านักวิเคราะห์ต่างคาดว่าราคาอสังหาริมทรัพย์อาจตกต่ำต่อเนื่อง แต่ไม่น่าจะยาวนานดังเช่นในกรณีของญี่ปุ่น โดยศาสตราจารย์โรเบิร์ต ชิลเลอร์ (Robert Shiller) ผู้เชี่ยวชาญภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐ (และเป็นผู้คิดค้นดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ S&P Case-Shiller Index) คาดว่าราคาบ้านอาจหดตัวต่อเนื่องจนถึงจุดต่ำสุดที่ร้อยละ -25 ต่อปีในปลายปี 2552 ซึ่ง ณ ราคาดังกล่าวจะทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่จุดเดียวกับปี 2543 อันเป็นปีที่ฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มกำเนิดขึ้น
สำหรับการคาดการณ์ภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐนั้น นักวิเคราะห์หลายฝ่ายรวมถึง เบน เบอร์แนนเก้ (Ben Bernanke) ประธาน Fed คนปัจจุบันคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะประสบภาวะถดถอยในครึ่งแรกของปี 2551 อันเป็นผลจากการการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ (Residential Investment) ที่หดตัวต่อเนื่อง และส่งผลถึงภาคการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนตามลำดับ รวมถึงส่งผลสืบเนื่องต่อการจ้างงานด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามการที่ทางการสหรัฐดำเนินนโยบายการคลังที่ผ่อนคลาย โดยทำมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชน (โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย) น่าจะช่วยทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มพลิกฟื้นขึ้นในครึ่งหลังของปี 2551 แม้ว่าจะไม่สามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นได้ในระยะยาวก็ตาม3 โดย สศค. คาดการณ์ว่าในปี 2551 เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 1 ในขณะที่อาจพลิกฟื้นขึ้นเล็กน้อยในปี 2552 เมื่อสถานการณ์การชะลอตัวภาคอสังหาริมทรัพย์บรรเทาลง
ประเด็นที่สอง สถานการณ์ภาคการเงิน โดยในปัจจุบันสถานการณ์ภาคการเงินยังคงประสบภาวะถดถอยอย่างต่อเนื่องจากการที่ภาคการเงินโดยรวมประสบภาวะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง รวมถึงการที่วานิชธนกิจขนาดใหญ่บางรายต่างประกาศว่ากำลังประสบขาดทุนเนื่องจากวิกฤต Sub-Prime จนทำให้นักวิเคราะห์บางรายคาดว่าภาคการเงินสหรัฐอาจประสบปัญหาเดียวกับที่ภาคการเงินญี่ปุ่นเคยประสบ กล่าวคือจะอยู่ในภาวะตกต่ำยาวนานกว่าทศวรรษ
อย่างไรก็ตาม สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ภาคการเงินของสหรัฐจะพลิกฟื้นได้รวดเร็วกว่าในกรณีของญี่ปุ่นโดยมีปัจจัยสนับสนุน 3 ประการ ประการแรก ได้แก่ การที่ Fed ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างเฉียบพลันโดยปรับลดดอกเบี้ยถึงร้อยละ 3 (หรือ 300 Basis Points) ในช่วงเวลาเพียง 4 เดือน ซึ่งแตกต่างจากในกรณีก่อน ๆ ที่ Fed ปรับลดดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซี่งการปรับลดอย่างเฉียบพลันนอกจากจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดแล้วยังเป็นการบ่งชี้ว่า Fed จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อบรรเทาภาวะวิกฤต Sub-Prime
ประการที่สอง ภาคการเงินสหรัฐสามารถรับรู้ผลการขาดทุน รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือได้เร็วกว่าในกรณีญี่ปุ่นเนื่องจากกฎระเบียบทางการเงินในสหรัฐระบุว่าบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะต้องรายงานงบการเงินเป็นรายไตรมาส ในขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีการรายงานงบการเงินเป็นรายปี ดังนั้น หากตั้งสมมุติฐานว่าภาคการเงินสหรัฐจะประสบภาวะตกต่ำเป็นระยะเวลาเท่ากับในกรณีญี่ปุ่น (ซึ่งใช้เวลาประมาณ 16 ปีนับจากราคาอสังหาริมทรัพย์เริ่มตกต่ำ) แล้วนั้น ระยะเวลาการตกต่ำและพลิกฟื้นขึ้นของภาคการเงินสหรัฐน่าจะรวดเร็วกว่าญี่ปุ่น โดยกินระยะเวลาประมาณ 4 ปี ซึ่งหากเริ่มนับว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2548 เป็นช่วงแรกที่ราคาอสังหาริมทรัพย์เริ่มตกต่ำลง ดังนั้นภารการเงินสหรัฐจึงน่าจะเริ่มพลิกฟื้นขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 เป็นอย่างช้า
ตารางที่ 1 ระยะเวลาของการตกต่ำของภาคการเงินญี่ปุ่น
วันที่ เหตุการณ์
ก.ค.-ก.ย.2533 ราคาที่ดินเริ่มตกต่ำ
ก.ค. 2534 ธนาคารพาณิชย์เริ่มประสบปัญหาเป็นครั้งแรก ทำให้สถาบันประกันเงินฝากต้องเริ่มคืนเงินฝาก
ก.ค. 2534 ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (Bank of Japan: BOJ) เริ่มลดดอกเบี้ยนโยบาย
ธ.ค. 2537 บริษัทในโตเกียวที่เป็นลูกค้าใหญ่ของ Credit Union สองบริษัทล้มละลาย
ม.ค. 2538 BOJ ได้ก่อตั้งธนาคาร Tokyo Kyodo ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการอัดฉีดสภาพคล่อง (Bridge Bank)
เม.ย.2538 ดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐาน (รายปี) เริ่มติดลบเป็นครั้งแรก
มิ.ย. 2538 กระทรวงการคลังประกาศประกันเงินฝาก
ส.ค. 2538 ธนาคารที่อยู่ในบัญชีธนาคารพาณิชย์ที่ประสบปัญหา (Hyogo Bank) ล้มละลาย
มิ.ย. 2539 เริ่มมีการใช้แผนการเพิ่มเสถียรภาพให้แก่ระบบการเงิน (Official Financial Stabilisation Plan)
พ.ย. 2540 การล้มละลายของบริษัทหลักทรัพย์ Yamaichi และธนาคาร Hokkaido Takushoku
มี.ค. 2541 รัฐบาลเข้าเพิ่มทุนให้กับธนาคารพาณิชย์เป็นครั้งแรก 21 ธนาคาร เป็นจำนวน 1.8 ล้านล้านเยน
ต.ค.-พ.ย.2541 ธนาคารพาณิชย์สองแห่งได้ถูกโอนเป็นของรัฐ
ก.พ. 2542 ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นเริ่มใช้นโยบายดอกเบี้ยร้อยละ 0
มี.ค. 2542 รัฐบาลเข้าเพิ่มทุนให้กับธนาคารพาณิชย์เป็นครั้งที่สอง 15 ธนาคาร เป็นจำนวน 7.45 ล้านล้านเยน
มี.ค. 2544 ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นเริ่มใช้นโยบายอัดฉีดปริมาณเงินสู่ระบบอย่างไม่จำกัด (Quantitative Easing)
เม.ย.2545 รัฐบาลยกเลิกการประกันเงินฝากในการฝากประจำ
พ.ค. 2546 มีการนำแผนการบริหารจัดการกับวิกฤติการณ์ทางการเงินมาใช้เป็นครั้งแรก
เม.ย.2548 สิ้นสุดการใช้ Official Financial Stabilisation Plan
มี.ค. 2549 ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นเลิกใช้นโยบาย Quantitative Easing
ประการสุดท้าย ในช่วงวิกฤต Sub-Prime ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า Fed ได้เปลี่ยนเป้าหมายจากการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ (หรือเงินเฟ้อ) เป็นหลักกลายเป็นเป้าหมายที่จะชะลอความผันผวนในภาคการเงิน ดังนั้น Fed จึงทำหน้าที่เป็น“แหล่งเงินกู้สุดท้าย” (Lender of Last Resorts) โดยได้จัดตั้งกองทุนอัดฉีดสภาพคล่องถึง 2 กองทุนเพื่อเข้าแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน อันได้แก่ Term Auction Facility: TAF และ Term Securities Lending Facility: TSLF โดยกองทุนแรกเข้าอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการประมูล ส่วนกองทุนที่สองเป็นการรับซื้อสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ ของสถาบันการเงินโดยไม่จำกัดเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งจะเป็นช่องทางทำให้สถาบันการเงินที่ประสบปัญหาสามารถเข้าถึงสภาพคล่องได้โดยง่าย นอกจากนั้น ยังได้ตั้ง Primary Dealer Credit Facility (PDCF) ทำหน้าที่อัดฉีดสภาพคล่องให้กับวานิชธนกิจที่ประสบปัญหาโดยตรงในรูปแบบเดียวกับที่เคยจัดสรรให้กับ Bear Stearns ซึ่งนโยบายดังกล่าวน่าจะทำให้ปัญหาขาดสภาพคล่องของเหล่าสถาบันการเงินต่าง ๆ เริ่มคลี่คลายได้ดีขึ้นในช่วงปลายปี 2550
ตารางที่ 2 ระยะเวลาของ Fed ในการดำเนินนโยบายเข้าช่วยเหลือภาคการเงินสหรัฐ
วันที่ เหตุการณ์
12 ธ.ค. 2550 ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ร่วมกับธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง จัดตั้งกองทุนอัดฉีดสภาพคล่องผ่านทางการประมูล
(Term Auction Facility: TAF) เพื่อช่วยแก้ปัญหาระบบการเงินขาดสภาพคล่อง (Credit Crunch)
21 ธ.ค. 2550 Fed ขยายวงเงิน TAF ให้สามารถใช้ได้นานเท่าที่จำเป็น
4 ม.ค. 2551 เพิ่มขนาดของ TAF จาก 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
22 ม.ค. 2551 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ประชุมฉุกเฉินก่อนลดอัตราดอกเบี้ย (Fed Funds Rate)
ร้อยละ 0.75 (75 bp) ไปอยู่ที่ร้อยละ 3.50
30 ม.ค. 2551 FOMC ลดอัตราดอกเบี้ย 50bp ไปอยู่ที่ ร้อยละ 3.00
13 ก.พ. 2551 รัฐสภาสหรัฐผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางการลดหย่อนภาษีที่เสนอโดยประธานาธิบดี
7 มี.ค. 2551 เพิ่มขนาดของ TAF จาก 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐรวมทั้งเริ่มทำการ
ซื้อคืนพันธบัตรอื่น ๆ ที่มิ ใช่พันธบัตรรัฐบาลรวมมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
11 มี.ค. 2551 Fed ร่วมกับธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง จัดตั้งกองทุนอัดฉีดสภาพคล่องเป็นครั้งที่สอง
(Term Securities Lending Facility: TSLF)
14 มี.ค. 2551 จัดหาเงินทุนฉุกเฉินให้วานิชธนกิจ Bear Stearns ที่ประสบปัญหาผ่านทาง JP Morgan
16 มี.ค. 2551 จัดตั้ง Primary Dealer Credit Facility (PDCF)ทำหน้าที่อัดฉีดสภาพคล่องให้กับวานิชธนกิจสำคัญ
20 แห่ง ในลักษณะเดียวกับกรณี Bear Stearns ลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (Discount Rate) มาอยู่ที่
ร้อยละ3.25 ประกันหนี้เสียของ Bear Stearns ให้กับ JP Morgan ด้วยวงเงินสูงสุด 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
18 มี.ค. 2551 FOMC ลดอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate อีก 75 bp มาอยู่ที่ร้อยละ 2.25
30เม.ย. 2551 FOMC ลดอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate อีก 25 bp มาอยู่ที่ร้อยละ 2.00
ประเด็นที่สาม ทิศทางตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยแม้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีความผันผวนและตกต่ำมาโดยตลอดนับตั้งแต่วิกฤต Sub-Prime กำเนิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2550 อย่างไรก็ตาม สศค. วิเคราะห์ว่าทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐน่าจะเริ่มมีเสถียรภาพขึ้นหลังจาก Fed ยุติการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยหากพิจารณาจากคำกล่าวของประธาน Fed ที่กล่าวว่าพึงพอใจต่อผลของมาตรการที่ทางการออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง พร้อมยอมรับว่าเศรษฐกิจอาจเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยในครึ่งปีแรกแต่จะฟ้นื ตัวในครึ่งปีหลัง ทำให้เป็นไปได้ว่า Fed อาจจะไมป่ รับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับปัจจุบัน (ณ เดือนเมษายน 2551) ที่ร้อยละ 2.00 โดยนักวิเคราะห์หลายสำนักต่างคาดการณ์ว่า หาก Fed ส่งสัญญาณว่าจะไม่ลดลงอีก น่าจะทำให้ตลาดหยุดเก็งกำไรค่าเงินดอลลาร์สหรัฐโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเยนเนื่องจากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยจะไม่มากนัก (ปัจจุบันดอกเบี้ยญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 0.5) และทำให้กระแสการเทขายดอลลาร์และซื้อเยนเพื่อคืนเงินกู้สกุลเยน (Unwind Yen Carry Trade) ยุติลงได้
นอกจากนั้น สศค. ยังวิเคราะห์ว่ามีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางที่อื่น ๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางของประเทศในเอเชียบางประเทศ อาจจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากแม้ว่าเศรษฐกิจต่าง ๆ จะมีแนวโน้มจะเริ่มชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ทำให้ธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ อาจต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (หรือปรับขึ้นเล็กน้อยในบางกรณี) เพื่อป้องกันความคาดหวังเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง
นอกจากจะทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐและที่อื่น ๆ ไม่สูงขึ้นมากนัก ซึ่งการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะทำให้สถานการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเริ่มมีเสถียรภาพขึ้น
ประเด็นที่สี่ ทิศทางตลาดน้ำมันและโภคภัณฑ์ ซึ่งจากการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำมัน จะเห็นได้ว่านอกจากจะเกิดจากปัจจัยพื้นฐานแล้ว ยังเกิดจากการที่เก็งกำไรจากการที่นักลงทุนโยกย้ายเงินออกจากตลาดหลักทรัพย์ที่ถูกกระทบจากวิกฤต Sub-Prime และหันมาเก็งกำไรตลาดโภคภัณฑ์แทน ประกอบกับการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนลงยังทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันส่วนใหญ่ที่ผูกติดค่าเงินกับสกุลดอลลาร์จำต้องขึ้นราคาเพื่อรักษา Margin ดังนั้น หากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นในช่วงครึ่งหลังของ 2551 ถึงช่วงกลางปี 2551 น่าจะทำให้ราคาน้ำมันรวมถึงราคาโภคภัณฑ์เริ่มมีเสถียรภาพขึ้นได้
นอกจากนั้น จากการวิเคราะห์ของ สศค. พบว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันชะลอลงในช่วงต้นปี 2550 เกิดจากความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐต่ำกว่าปกติเนื่องจากภูมิอากาศที่อบอุ่นกว่าปกติ ทำให้สหรัฐมีการสะสมปริมาณน้ำมันสำรองเพิ่มขึ้น ในขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลัง สหรัฐเริ่มมีความต้องการพลังงานมากขึ้น จึงทำให้ปริมาณน้ำมันสำรองลดน้อยลง และเป็นเหตุให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น หากเศรษฐกิจสหรัฐมีทิศทางชะลอลงน่าจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคน้ำมันในสหรัฐเริ่มลดลง ทำให้ปริมาณสะสมน้ำมันสำรองเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยให้ราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์เริ่ม
ลดลงในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
4. บทสรุปและข้อเสนอเชิงนโยบาย
จากบทวิเคราะห์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าภาวะผันผวนมากของเศรษฐกิจการเงินโลกในปัจจุบันมีสาเหตุหลักจากภาวะวิกฤติ Sub-Prime ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดกระแสเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก จึงลุกลามไปสู่ภาคการเงินทั้งระบบ ทั้งใน (1) ภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจริง (2)ตลาดการเงิน (3) ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และ (4) ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์
สำหรับการคาดการณ์ระยะเวลาที่วิกฤต Sub-Prime บทวิเคราะห์คาดว่าสถานการณ์ด้านราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ น่าจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นนับจากครึ่งหลังของปี 2551 เป็นต้นไป โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น (1) สถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์น่าจะพลิกฟื้นขึ้นในปลายปี 2552 ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐโดยรวมนั้นอาจจะประสบภาวะถดถอยในครึ่งแรกของปี 2551 ก่อนที่จะเริ่มพลิกฟื้นขึ้นในครึ่งหลังของปี 2551 (2) สถานการณ์ภาคการเงิน น่าจะเริ่มพลิกฟื้นได้ในปี 2552 เป็นอย่างช้า โดยมีปัจจัยสนับสนุน 3 ประการ ได้แก่ การที่ Fed ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างเฉียบพลัน ภาคการเงินสหรัฐสามารถรับรู้ผลการขาดทุน รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือได้เร็วกว่าในกรณีญี่ปุ่น และ Fed ทำหน้าที่เป็น “แหล่งเงินกู้สุดท้าย” (Lender of Last Resorts) (3) ทิศทางตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐน่าจะเริ่มมีเสถียรภาพขึ้นหลังจาก Fed ยุติการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางปี 2551 นอกจากนั้น เป็นไปได้ที่ธนาคารกลางที่อื่น ๆ จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายตามสหรัฐ (หรืออาจปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย) ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเริ่มมีเสถียรภาพขึ้น และ (4) ทิศทางราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์ซึ่งน่าจะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของ 2551 ถึงช่วงกลางปี 2551
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงที่ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ จะไม่เป็นไปดังที่คาดไว้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่สามารถทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงจากที่คาด ไม่ว่าจะเป็นการที่สถานการณ์ภาคการเงินอาจตกต่ำกว่าคาดจนทำให้ Fed อาจต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจนเหลือร้อยละ 0 ดังเช่นในกรณีของญี่ปุ่น หรืออาจจะเป็นภาวะความไม่แน่นอนในทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน รวมทั้งวิกฤตการณ์และภัยธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งจะมีผลต่อราคาสินทรัพย์ในตลาดใดตลาดหนึ่ง รวมถึงประเด็นความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นมากจนทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นมาก และเนื่องจากตลาดต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงกันสูง ไม่ว่าจะเป็นตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดหลักทรัพย์ ตลาดพันธบัตร
และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ดังนั้นความผันผวนในตลาดหนึ่งจะส่งผลกระทบสู่ตลาดอื่น ๆ โดยเห็นได้ และทำให้ภาครัฐเผชิญความยากลำบากขึ้นในการบริหารจัดการความผันผวนดังกล่าว ฉะนั้น เพื่อเป็นการรองรับผลกระทบของวิกฤต Sub-Prime ดังกล่าว ภาครัฐจะต้องมีมาตรการต่าง ๆ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้
ในระยะสั้น การทำนโยบายการเงินในระยะต่อไปอาจต้องมีการติดตามทิศทางเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในด้านหนึ่งประเทศไทยเผชิญความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งแม้ว่าในอดีตอัตราเงินเฟ้อของไทยจะเกิดจากต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้น (Cost-pushed Inflation) โดยเฉพาะจากต้นทุนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อเท่าใดนัก แต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมีส่วนช่วยให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำมันถูกลง และทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่สูงขึ้นมากนักในช่วงที่ผ่านมาก อย่างไรก็ตามหากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดผลลูกโซ่ (Second-round Effect) ทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังว่าค่าครองชีพจะอยู่ในระดับสูง และจะเรียกร้องค่าจ้างและปรับเพิ่มราคาสินค้า ซึ่งจะนำไปสู่ความคาดหวังเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ที่เพิ่มสูงขึ้น และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพุ่งทะยานจากค่าจ้างและราคาที่สูงขึ้นเป็นลูกโซ่ (Wage-Price Spiral)ได้ ซึ่งในกรณีนี้การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจมีความจำเป็นเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้เช่นกันว่าเงินเฟ้อในระยะ
ต่อไปอาจไม่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากนัก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการเก็งกำไรเป็นหลัก ในขณะที่เป็นไปได้ว่าในระยะต่อไปการเก็งกำไรในตลาดน้ำมันอาจเริ่มลดลงตามภาวะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อาจเริ่มแข็งค่าขึ้น ดังนั้นหากธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป อาจทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐและไทยเพิ่มสูงขึ้น (โดยในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐต่ำกว่าไทยที่ร้อยละ 1.25) ซึ่งจะทำให้เงินไหลเข้าเก็งกำไรค่าเงินบาทต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นและทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคา (Price Competitiveness) ของผู้ผลิตไทยลดลง
ในระยะกลาง เพื่อเป็นการบริหารจัดการเงินทุนไหลเข้า ภาครัฐควรสนับสนุนการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Outward Capital Flow) โดยควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยทำธุรกิจและขยายกิจการต่างประเทศ (Outward FDI) สนับสนุนให้กองทุนต่างๆ เช่น กบข. กองทุนรวมฯ ไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น (Outward Portfolio Flow) รวมถึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนขยายการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนั้น นโยบายการคลังอาจต้องมีการขยายตัวและสนับสนุนให้เกิดการบริโภคและลงทุนภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยชะลอผลกระทบหากเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวรุนแรง อนึ่งการเร่งโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น Mega-Project ที่มีการนำเข้าสินค้าทุนในระดับสูง นอกจากจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและพัฒนาความสามารถในการผลิตของไทยในระยะยาวแล้ว ยังมีส่วนช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ด้วย
ในระยะยาว เนื่องจากแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่น่าจะประสบภาวะถดถอยอย่างยาวนาน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจประสบปัญหาวิกฤต ประเทศไทยจึงควรมุ่งเน้นการเปิดเสรีทางการค้า รวมถึงเปิดตลาดใหม่ ๆ มากขึ้น เพื่อสร้างภูมิต้านทานต่อการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากนั้น ประเทศไทยมีสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันต่อ GDP สูงที่สุดเมื่อเทียบประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย ทำให้ประเทศไทยแบกรับความเสี่ยงของราคาน้ำมันที่ผันผวนในระดับสูง ดังนั้นควรลดปริมาณการพึ่งพิงน้ำมันเช่นกัน
ในส่วนภาคการเงินนั้น วิกฤต Sub-Prime เป็นสัญญาณว่ามูลค่าของสินทรัพย์ทางการเงินรวมถึงค่าเงินในภูมิภาคจะมีความผันผวนมากขึ้น ดังนั้นมีความจำเป็นที่ประเทศในภูมิภาคนี้ต้องมีการตกลงร่วมกันในการกำหนดค่าเงินในภูมิภาคว่าจะปรับตัวกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร รวมถึงต้องมีการสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางการเงิน(Global Imbalance) อันเป็นต้นตอของวิกฤตดังกล่าวด้วย เพื่อทำให้เศรษฐกิจการเงินไทยและเอเชียมีเสถียรภาพในระยะยาว
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ