รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 มิถุนายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 18, 2008 13:58 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 มิถุนายน 2551
SUMMARY:
- ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมชี้เงินเฟ้อ-น้ำมันชะลอลงทุนไม่ถึงเป้า 6 แสนล้าน
- ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เดือนพ.ค.51 พุ่งสูงสุดในรอบ 10 เดือน
- ตัวเลขสหรัฐบ่งชี้ภาวะ “เงินเฟ้อ” และ “เศรษฐกิจถดถอย”
HIGHLIGHT:
1. ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมชี้เงินเฟ้อ-น้ำมันชะลอลงทุนไม่ถึงเป้า 6 แสนล้าน
- ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยอมรับปัจจัยเศรษฐกิจโลกจากอัตราเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าเงินที่ผันผัน จะเป็นปัจจัยกระทบการลงทุนไม่ให้เป็นไปตามที่ BOI ตั้งเป้าหมาย 6 แสนล้านบาท ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นสถานการณ์ที่ต่อเนื่องจากปัญหา subprime ของสหรัฐ
- ทั้งนี้ นักลงทุนได้ย้ายการลงทุนจากการเก็งกำไรด้านการเงินมาลงทุนในด้านสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น ทำให้ประเทศยากจนต้องเสียเงินค่าอาหารเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนปัญหาราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นจากความต้องการน้ำมันในตลาดโลกสูงกว่ากำลังการผลิต ล้วนส่งผลกระทบต่อปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งต่อไป น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
- สศค.วิเคราะห์ว่า นโยบายการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อนั้น อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนภายในประเทศผ่านการรับรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชน จึงทำให้ไม่สามารถปรับขึ้นฯ ได้มากนัก ทั้งนี้ หากปรับเพิ่มขึ้นมาก จะทำให้การกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศชะลอตัว เนื่องจากต้นทุน เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องเร่งลงทุนโครงการ Mega Project โดยเร็วเพื่อทดแทนการลงทุนภาคเอกชน
2. ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เดือนพ.ค.51 พุ่งสูงสุดในรอบ 10 เดือน
- ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เดือนพ.ค.51 เพิ่มจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 150,126 คัน ถือเป็นปริมาณการจดทะเบียนสูงสุดในรอบ 10 เดือนทำให้ปริมาณยอดจดทะเบียนสะสมในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มีทั้งสิ้น 709,143 คัน โดยคิดเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
- สศค.วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เดือนพ.ค.51 ที่ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดรถจักรยานยนต์ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ถือว่ามีความคึกคักและตื่นตัวสูง เป็นช่วงฤดูการขาย จากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยบวกหนุนตลาดอย่างต่อเนื่องรวมทั้งราคาน้ำมันที่สูงยังเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนหันกลับมาใช้รถจักรยานยนต์มากขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันต่อปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในอนาคต
3. ตัวเลขสหรัฐบ่งชี้ภาวะ “เงินเฟ้อ” และ “เศรษฐกิจถดถอย”
- ตัวเลขที่สำคัญทางเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ (1) ดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนพ.ค. ขยายตัวร้อยละ 1.4 (mom) มาจากดัชนีพลังงานที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.3 (mom) ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคขยายตัวร้อยละ 0.2 (mom) ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.0 (yoy) (2) ตัวเลขการก่อสร้างบ้านใหม่เดือนพ.ค. หดตัวลงร้อยละ -3.3 (mom) หรือหดตัวลงร้อยละ -32.0 (yoy) ในขณะที่คำขออนุมัติสร้างบ้านใหม่ที่ใช้เป็นดัชนีชี้นำภาวะตลาดบ้านในเดือนพ.ค. ก็หดตัวลงที่ร้อยละ -1.3 (mom) เช่นกัน (3) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค. หดตัวลงร้อยละ -0.1 (yoy) นับเป็นการหดตัวลงครั้งแรกตั้งแต่ในฟองสบู่ดอทคอมแตกในปี 2544 และ (4) ดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสที่ 1 ปี 51 ขาดดุลเพิ่มขึ้นที่ -176.4 จากไตรมาสที่ 4 ปี 51 ที่ขาดดุล -175.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากตัวเลขดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐชะลอตัวลงอย่างมาก ส่งผลต่อความกังวลถึงเศรษฐกิจสหรัฐว่ากำลังอยู่ในช่วงภาวะถดถอย ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่มากขึ้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เผชิญทางเลือกในการปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่า ในการประชุมวันที่ 24-25 มิ.ย. นี้ Fed จะยังคงอัตราดอกเบี้ย Fed Fund ไว้ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี ตามเดิม
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ