MacroMorning Focus ประจำวันที่ 19 มิ.ย.51
SUMMARY:
- เงินไหลออก 3.3 หมื่นล้าน
- ใกล้หมดเวลาน้ำมันแพง
- OECD คาดมูลค่าขาดทุนซับไพร์มทั่วโลกประมาณ 420,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
HIGHLIGHT:
1. เงินไหลออก 3.3 หมื่นล้าน
- นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีเงินไหลออกวันละ 100 — 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมกันแล้วมีประมาณ1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท แต่ล่าสุดช่วง 2 — 3 วันที่ผ่านมา เริ่มมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิเป็นบวกแล้ว ทำให้ไม่ได้มีภาวะน่าห่วง เพราะขณะนี้ตลาดหุ้นก็เริ่มเป็นบวกมากขึ้น
- ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า ธปท. ได้เข้ามาดูแลค่าเงินบาทอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ไม่อย่างนั้นค่าเงินบาทจะอ่อนค่ากว่านี้ ธนาคารจึงแนะนำให้ลูกค่าผิดความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะผู้นำเข้ามีการทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้ามากขึ้นถึง 20%
- สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุหนึ่งของการไหลออกของเงินทุนระหว่างประเทศจำนวนมากในปัจจุบันมาจากปัญหาการเมืองภายในประเทศที่เริ่มร้อนแรงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการไหลออกของเงินที่ลงทุนระยะสั้นในตลาดทุน อย่างไรก็ดี การลงทุนระยะยาวในรูปของการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ (FDI) ยังมีเข้ามาเรื่อยๆ โดยในไตรมาส 1 ปี 51 มีจำนวน 1,973.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากจากไตรมาส 4 ปี 50 ที่ 974.12 ดอลลาร์หสรัฐฯ
2.ใกล้หมดเวลาน้ำมันแพง
- เจพี มอร์แกน ระบุว่า แนวโน้มการทะยานตัวของราคาน้ำมันอาจถึงเวลาสิ้นสุดลงและคาดว่าราคาจะเริ่มปรับตัวลดลงในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากราคาเริ่มผันผวนมากขึ้น รวมถึงการตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียที่จะมีผลในเดือนหน้าอีก 2 แสนบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดเอเชียวันที่ 18 มิ.ย. ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 133.58 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หลังจากที่ซาอุดิอาระเบียประกาศเพิ่มกำลังการผลิต อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่าตลาดยังคงกังขาว่าการตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตครั้งนี้จะเป็นวิธีแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงอย่างยั่งยืนหรือไม่
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันในระยะสั้นอาจยังคงผันผวนเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงด้านความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและการเข้าซื้อขายของกองทุนเก็งกำไร อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวราคาจะขึ้นอยู่กับกลไกตลาด และแม้ว่าซาอุดิอาระเบียเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ราคาน้ำมันไม่ลดลงจากเดิมมากนัก
3.OECD คาดมูลค่าขาดทุนซับไพร์มทั่วโลกประมาณ 420,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยรายงานทิศทางตลาดการเงินรายครึ่งปี ประเมินว่า ความเสียหายที่เป็นผลจากวิกฤตซับไพร์มในสหรัฐอาจมีมูลค่าถึง 352,000-422,000 ล้านดอลลาร์ โดยธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐอาจมียอดเสียหายประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนวาณิชธนกิจจะขาดทุนประมาณ 27,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าว มาจากรูปแบบการประเมินอัตราการฟื้นตัวของหนี้ค้างชำระที่ร้อยละ 40-50 รวมทั้งภาพรวมเศรษฐกิจและราคาบ้านที่มีพื้นฐานจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า ผลจากวิกฤตซับไพร์มสหรัฐได้ก่อให้เกิดผลเสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะภาคการเงินที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จนทำให้ภาคธุรกิจการเงินขนาดใหญ่ ต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เช่น ลดขนาดธุรกิจลง เพิ่มเงินลงทุนมากขึ้น และการควบรวมกิจการ เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงของธุรกิจล้มละลาย ทั้งนี้ สศค.คาดว่าปัญหาซับไพร์มน่าจะเริ่มพลิกฟื้นได้ในปี 2552 เป็นอย่างช้า เนื่องจากการที่ Fed ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างเฉียบพลัน ทั้งนี้คาดการณ์ว่าปี 51 เศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตได้ร้อยละ 1.0 ต่อปี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th