รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 6-12 มิ.ย.51

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 9, 2008 14:55 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.6 ต่อปี สูงกว่าที่ประเมินไว้ที่ร้อยละ 7.1 ต่อปี สาเหตุหลักยังคงมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงถึงร้อยละ 31.2 ต่อปีส่งผลให้ทั้งหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 11.8 ต่อปี โดยเฉพาะ ข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ ไก่สด ไข่และผลิตภัณฑ์นม และเครื่องประกอบอาหาร เป็นต้น ในขณะที่หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 5.1 ต่อปี ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานในเดือนพ.ค. 51 สูงขึ้นร้อยละ 2.8 ต่อปี เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี เนื่องจาก การสูงขึ้นของราคาสินค้าเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป วัสดุก่อสร้าง ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าธรรมเนียมการศึกษา เป็นต้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 5 เดือนแรกอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี เทียบกับเฉลี่ยปี 50 ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงการส่งผ่านเงินเฟ้อจากราคาต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น
Economic Indicators: Next Week
รายได้จัดเก็บรัฐบาลเดือน พ.ค. 51 คาดว่าจะมีรายได้จัดเก็บสุทธิ 266.0 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 9.1 ต่อปี โดยมีปัจจัยสำคัญจากการคาดการณ์ขยายตัวในระดับสูงของภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในรอบเดือน พ.ค. รัฐบาลมีรายได้สำคัญจากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีการชำระภาษีรอบสิ้นปี 2550 (ภ.ง.ด.50) ซึ่งรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คาดว่าดีขึ้นดังกล่าว สะท้อนผลประกอบการที่ดีขึ้นของภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 50 และผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ที่ดีขึ้น เนื่องจากมีการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญตามมาตรฐาน IAS 39 น้อยลง สำหรับการวิเคราะห์ภาษีฐานการบริโภคคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.5 ต่อปี แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า จากปัจจัยระดับราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ภาษีฐานรายได้คาดว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 16.9 ต่อปี ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อปี จากปัจจัยการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับสูงดังกล่าว
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่เดือน พ.ค. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 ต่อปี อันเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมากตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง นอกจากนั้นสถานการณ์ด้านการเมืองที่เริ่มตึงเครียดขึ้นอาจมีผลทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงและมีผลต่อการบริโภคสินค้าคงทนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตั้งแต่ปลายปี 50 น่าจะทำให้การบริโภคของประชาชนในระดับรากหญ้ายังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน พ.ค. 51 คาดว่าขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงที่ร้อยละ 22.0 ต่อปี ลดลงจากที่ขยายตัวสูงมากที่ร้อยละ 44.6 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า (ปรับฐาน ณ อัตราภาษีใหม่ที่ร้อยละ 0.1) ซึ่งเป็นผลจากมาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะจากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 3.0 เป็นอัตราใหม่ที่ร้อยละ 0.1 เมื่อสิ้นเดือน มี.ค. 51 ทำให้น่าจะมีการทำธุรกรรมสูงต่อเนื่องในเดือน พ.ค. 51 อย่างไรก็ตาม ราคาเหล็กและวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และอาจส่งผลต่อการทำธุรกรรมในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน พ.ค. 51 คาดว่าขยายตัวที่ร้อยละ 10.0 ต่อปีชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 13.7 ต่อปี ซึ่งอัตราขยายตัวที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อ และสำรองเงินไว้ใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันแทน อย่างไรก็ตามการปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้ E20 ตั้งแต่ต้นปี 51 น่าจะเป็นปัจจัยบวกและส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวต่อเนื่องปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เดือน พ.ค. 51 คาดว่าขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 8.2 ต่อปีเนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้ประกอบการ และทำให้ผู้ประกอบการอาจไม่เร่งเพิ่มระดับการลงทุนมากนักในระยะเวลาอันใกล้ อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวดีต่อเนื่องตามการบริโภคภาคเอกชนน่าจะทำให้ภาคเอกชนยังคงมีการลงทุนต่อเนื่อง เห็นได้จากเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน เดือน เม.ย. 51 ยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 34.0 ต่อปี
Foreign Exchange Review
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อ่อนค่าลง ยกเว้นค่าเงินยูโร วอนเกาหลี และดอลลาร์ไต้หวัน
- สาเหตุที่ค่าเงินคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากคำกล่าวของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่กังวลว่าดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่ามากในช่วงที่ผ่านมาทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐสูงขึ้นมาก ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับสกุลอื่น ๆ แข็งค่าขึ้นมาก นอกจากนั้นตัวเลขดัชนีการผลิตนอกภาคอุตสาหกรรมสหรัฐของสถาบัน ISM ที่ดีเกินคาดก็เป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน
- ในขณะเดียวกัน ดัชนีเงินเฟ้อของประเทศในเอเชียเช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนิเซียในเดือน พ.ค. สูงสุดในรอบเกือบสิบปี ทำให้นักลงทุนกังวลถึงทิศทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศดังกล่าว รวมทั้งยังคาดว่าธนาคารกลางในเอเชียอาจต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อสกัดความคาดหวังเงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ซึ่งจะส่งผลลบต่อการลงทุนในเอเชีย นักลงทุนจึงเร่งถอนทุนออกจากตลาดเงินทุนเอเชีย เป็นผลให้ค่าเงินเอเชียอ่อนลงมากและทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งต้องแทรกแซงค่าเงิน
- อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบางสกุลเช่น ยูโร วอน และดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากเหตุผลต่างกัน โดยในกรณียูโรเกิดจากการที่ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณรุนแรงว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นในการประชุมครั้งถัดไปหลังจากประกาศตรึงดอกเบี้ยในการประชุมล่าสุด เนื่องจากความเสี่ยงเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและยุโรปสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในยุโรปมากขึ้น ขณะที่ค่าเงินของเกาหลีและไต้หวันแข็งค่าขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐมิได้ตกต่ำมากดังคาด ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของทั้งสองประเทศที่มีสหรัฐเป็นตลาดส่งออกหลัก นอกจากนั้นค่าเงินวอนยังได้รับปัจจัยบวกจากตัวเลขการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีที่สูงมากอีกด้วยค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนเกือบทุกสกุล ยกเว้นค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์
- สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าอ่อนค่าลงเกือบทุกสกุลเนื่องจากคำกล่าวของประธาน Fed ที่กังวลต่อภาวะเงินเฟ้อทำให้ตลาดคาดว่าทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐมีแนวโน้มปรับขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มหันกลับไปลงทุนในตลาดสหรัฐมากขึ้นขณะที่สถานการณ์การเมืองไทยที่รุนแรงขึ้น ทำให้นักลงทุนกังวลและทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงเกือบร้อยละ 3 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก รวมทั้งทำให้นักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุนจากตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง ค่าเงินบาทจึงอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้นการที่ธนาคารกลางเอเชียที่อื่น ๆ แทรกแซงค่าเงินอย่างต่อเนื่องขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยให้ค่าเงินบาทดำเนินตามกลไกตลาดก็ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การที่ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน พ.ค. ของฟิลิปปินส์สูงสุดในรอบ 9 ปีที่ร้อยละ 9.6 ทำให้นักลงทุนกังวลในเศรษฐกิจฟิลิปปินส์เป็นพิเศษ จึงถอนการ
ลงทุนและทำให้ค่าเงินเปโซตกต่ำกว่าระดับจิตวิทยาที่ 44 เปโซต่อดอลลาร์ ค่าเงินบาทต่อเปโซจึงแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 30 พ.ค. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 5.58 แต่อ่อนค่าลงค่อนข้างมากจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 6.86
- เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 23) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 17) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 16) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 15) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 8) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 7) เงินเยน (ร้อยละ 5) ริงกิตมาเลเซีย(ร้อยละ 2) และ หยวน (ร้อยละ 0.2) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 0.8) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1) และยูโร (ร้อยละ 7)
Foreign Exchange and Reserves
ในสัปดาห์ก่อน ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation ณ วันที่ 30 พ.ค. 51 ลดลงสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน -1.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 127.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -1.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน -0.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลง คาดว่ามาจาก 1) การประเมินมูลค่าเงินสำรองในรูปดอลลาร์สหรัฐลดลง (Valuation Loss) จากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นและค่าเงินสกุลอื่นอ่อนค่าลงโดยเมือพิจารณาค่าเงิน EU และ JPY พบว่าอ่อนลงจากสัปดาห์ดังกล่าว ร้อยละ 1.3 และ 2.1 ตามลำดับ 2) การเข้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วพบว่าต่างชาติมีการขายสุทธิที่ 0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้ สะท้อนว่า ความต้องการขายเงินตราต่างประเทศของธปท.น้อยกว่าความต้องการซื้อเงินตราต่างประเทศของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า(23 พ.ค.51) ร้อยละ 1.24 จาก 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 30 พ.ค.51
Major Trading Partners’ Economies: This Week
GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 51 (First Full Release) ขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 ต่อปีไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลข Advance โดยมีเศรษฐกิจเยอรมนีและฝรั่งเศสที่ขยายตัวได้ดีเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก นอกจากนี้การลงทุนภายในภูมิภาคยังคงขยายตัวได้ดี
ตัวเลข ISM Manufacturing Index เดือนพ.ค. 51 ของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 49.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.6 แต่ยังคงต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวจากความกังวลถึงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงการใช้จ่ายของภาคก่อสร้างที่ลดลง
ดุลการค้าเกาหลีใต้เดือนพ.ค. 51 กลับมาเกินดุลที่ 1.04 พันล้านเหรียญ
ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากขาดดุล -0.2 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในเดือนเม.ย. 51 โดยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในด้านการนำเข้าที่ร้อยละ 28.8 ต่อปี จากร้อยละ 28.5 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า และ ด้านการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 27.2 ต่อปี สูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี ผลจากการอ่อนค่าของเงินวอนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ โดยมีการส่งออกโทรศัพท์เคลื่อนที่และเทคโนโลยีจอแบนไปยังจีน ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกาเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้การส่งออกของบริษัทยักษ์ใหญ่ 2 บริษัทได้แก่ บริษัท ฮุนได มอเตอร์ และบริษัท ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้มีการขยายตัวมาตลอด 10 ปีเนื่องจากมูลค่าการส่งออกของประเทศมีสัดส่วนถึงเกือบร้อยละ 50 ของ GDP เกาหลีใต้
ดุลการค้ามาเลเซียเดือนเม.ย.51 เกินดุล 11.5 พันล้านริงกิต เพิ่มจาก 8.0 พันล้านริงกิตในเดือนมี.ค. 51 เป็นผลจากการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 10.0 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่การส่งออกขยายตัวเร่งมากกว่าที่ร้อยละ 20.9 ต่อปี จากร้อยละ 5.3 ต่อปี ผลจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์หลังจากหดตัวติดต่อกันมาตั้งแต่ปลายปี 50 นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวในอัตราเร่งของการส่งออกสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ อีกทั้งมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม น้ำมันดิบ น้ำมันกลั่น และก๊าซธรรมชาติยังคงมีการขยายตัวสูงตามราคาตลาดโลกแม้จะมีการชะลอลงบ้าง
ดุลการค้าอินโดนีเซียเดือนเม.ย. 51 กลับมาเกินดุลที่ 1.6 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 4.0 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในเดือนมี.ค. 51 เนื่องจากมีการขยายตัวเร่งขึ้นของการนำเข้าที่ร้อยละ 66.2 ต่อปี จากร้อยละ 40.0 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่การส่งออกขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 23.1 ต่อปีจากร้อยละ 31.2 ต่อปี ทั้งนี้การส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันไปยังสิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. 51 ในขณะที่มีการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย จีน และเกาหลีใต้ ลดลง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเกาหลีใต้เดือนพ.ค. 51 อยู่ที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี เพิ่มจากร้อยละ 4.1 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลัก คือ ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ต่อปี และราคาน้ำมันดิบนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นร้อยละ 10.6 ต่อปี ทั้งนี้เกาหลีใต้นำเข้าน้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 97 ของปริมาณการใช้น้ำมันภายในประเทศ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบเกือบ 7 ปีนี้อาจส่งแรงกดดันต่อค่าเงินวอนให้อ่อนลงอีก
อัตราเงินเฟ้ออินโดนีเซียเดือนพ.ค. 51 ปรับตัวสูงขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบ 20 เดือนที่ร้อยละ 10.4 ต่อปี จากร้อยละ 9.0 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากราคาอาหารทีสูงขึ้นร้อยละ 18.2 ต่อปี โดยในตลาดอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกราคาข้าวในเดือนทีแล้วสูงขึ้นร้อยละ 6.3 ต่อปี และต้นทุนขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 2.1 ต่อปี ทำให้ธนาคารกลางตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจากร้อยละ 8.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 8.5 ต่อปี
Major Trading Partners’ Economies: Next Week
ที่ประชุมนโยบายการเงินธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 13 พ.ค. 51 คาดว่าน่าจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี เพื่อรอท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐและสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นน่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นร้อยละ 0.25 ต่อปี ภายในสิ้นปีนี้ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีการชะลอตัวลง แต่แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องมาจากราคาสินค้านำเข้าและราคาวัตถุดิบที่คาดว่าจะสูงขึ้นต่อไปอีกซักระยะหนึ่ง อาจทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อดังกล่าวในอนาคต
ที่มา: Macroeconomic Policy Bureau
Fiscal Policy Office Ministry of Finance Tel. 02-273-9020 Ext. 3253
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ