Economic Indicators: This Week
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เดือน พ.ค.51 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.4 ต่อปี ดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.6 ต่อปี เป็นผลมาจากการขยายตัวของผลผลิตข้าวนาปรังและผลไม้ที่ร้อยละ 23.5 และ 12.6 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากมีการเพาะปลูกเหลื่อมปี และเป็นฤดูผลไม้ เช่น ทุเรียน
อัตราการว่างงานเดือน เม.ย. 51 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี ถือว่าอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากเดือน มี.ค. 51 เนื่องจากการจ้างงานภาคบริการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่ร้อยละ 5.3 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี ซึ่งเป็นผลพวงจาก 1) การจ้างงานในสาขาการก่อสร้างที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงภาวะการก่อสร้างภายในประเทศที่ยังขยายตัวเร่งขึ้น แม้ว่าราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาก และ 2) การจ้างงานภาครัฐที่เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากเป็นช่วงสำเร็จการศึกษา จึงมีการเปิดรับข้าราชการและลูกจ้างเข้าทำงานเพิ่มขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. อยู่ที่ระดับ 71.4 ปรับตัวลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 78.8 โดยได้รับผลกระทบหลักจากต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาความผันผวนของราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูง ความกังวลของผู้บริโภคที่ส่งผลต่อยอดขายในประเทศที่ปรับลดลง รวมทั้งปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 90.9 เป็น 92.6 แสดงให้เห็นถึงอุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังคงดีอยู่
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจรวม เดือน พ.ค. 51 ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ที่ 71.8 จากเดือนก่อนหน้าที่ 73.0 เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคกังวลกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น และสถานการณ์ด้านการเมืองที่เริ่มตึงเครียดขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกจากมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาล การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์เดือน พ.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อปี และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี เนื่องจากภาวะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและอาหารที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องมีผลต่อภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น สะท้อนจากการปรับตัวลดลงของภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เดือน พ.ค. ที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 ต่อปี และฐานที่สูงจากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาผลผลิตสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังส่งผลดีต่อกำลังซื้อในระดับรากหญ้าซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของตลาดรถจักรยานยนต์
Economic Indicators: Next Week
มูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เดือน พ.ค. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 20.5 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 27.0 ต่อปี น่าจะเป็นผลด้านราคาร้อยละ 12.8 ต่อปี และผลจากปริมาณร้อยละ 6.8 ต่อปี เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักมีสัญญาณการชะลอตัว ส่งผลให้อุปสงค์ต่อสินค้าส่งออกของไทยชะลอตัวลง แต่การขยายตัวในระดับดังกล่าวถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี และสอดคล้องกับประเทศคู่ค้าในภูมิภาค นอกจากนี้ยังคาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก และเคมีภัณฑ์ ยังขยายตัวได้ดีมากตามความต้องการจากตลาดโลก ช่วยให้มูลค่าส่งออกสินค้าโดยรวมไม่ชะลอตัวลงมาก
มูลค่านำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เดือน พ.ค. 51 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 20.0 ต่อปี อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 44.4 ต่อปี น่าจะเป็นผลด้านราคาร้อยละ 14.0 ต่อปี และผลจากปริมาณร้อยละ 6.0 ต่อปี โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าวัตถุดิบชะลอลงตามการชะลอลงของการส่งออก มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคน่าจะชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าตามอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลง ในขณะที่การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวชะลอลงตามปริมาณที่น่าจะลดลง
หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ เดือน เม.ย. 51 คาดว่าอยู่ที่ระดับร้อยละ 38.1 โดยในเดือนนี้มีการปรับฐาน GDP ณ ราคาปัจจุบัน (Nominal GDP) จากเดิม 9,158 พันล้านบาท เป็น 9,419 พันล้านบาท ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะต่อ GDP ดังกล่าว มีปัจจัยจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง (ที่มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 63.0 ของหนี้สาธารณะรวม) เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในรอบเดือน เม.ย. 51 จำนวน 35.9 พันล้านบาท โดยคาดการณ์ยอดหนี้สาธารณะรวมในเดือน เม.ย. เท่ากับ 3,401 พันล้านบาท
Foreign Exchange Review:
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น ยกเว้นค่าเงินบาท
- สาเหตุที่ค่าเงินคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากตลาดเริ่มคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 25 มิ.ย. ดังเช่นที่เคยส่งสัญญาณไว้ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากมีความกังวลว่าผลของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจะทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงมากกว่าที่จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจนกลายเป็นความเสี่ยง นอกจากนั้น ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐในเดือน พ.ค. ตกต่ำที่สุดในรอบ 17 ปี ประกอบกับผลประกอบการรายไตรมาสของวานิชธนกิจหลายแห่งที่ยัง
ขาดทุนในระดับสูงบ่งชี้ว่าวิกฤตภาคการเงินของสหรัฐอาจยังไม่สิ้นสุดลง ดังนั้นแนวโน้มที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะสั้นยังเป็นไปได้ยาก
- นอกจากนั้น ตัวเลขเงินเฟ้อยุโรป (HICP) ที่ประกาศในเดือน พ.ค. อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ความจำเป็นของธนาคารกลางยุโรป(ECB) ในการปรับดอกเบี้ยขึ้นในการประชุมครั้งถัดไปมีมากขึ้น ซึ่งทิศทางดอกเบี้ยที่แตกต่างกันระหว่างสหรัฐและยุโรปนี้ทำให้นักลงทุนถอนการลงทุนจากสหรัฐและหันกลับมาลงทุนในตลาดอื่น ๆ โดยเฉพาะยุโรปมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลอื่นจึงอ่อนค่าลง
- นอกจากนั้น ทิศทางอัตราเงินเฟ้อในเอเชียที่สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ทำให้ทางการของหลายประเทศในเอเชียเริ่มส่งสัญญาณว่าจะใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าเพื่อช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อที่เกิดจากการนำเข้า โดยเฉพาะในบางธนาคารกลางเช่น มาเลเซียและเกาหลี เริ่มทำการแทรกแซงค่าเงินให้แข็งค่าขึ้นเพื่อช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ ค่าเงินของสกุลเอเชียจึงแข็งค่าขึ้น
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน
- สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าอ่อนค่าลงในทุกสกุลเนื่องจากค่าเงินบาทเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความกังวล จึงเทขายสินทรัพย์สกุลเงินบาทโดยเฉพาะหลักทรัพย์ ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SETI) ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าอย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่อ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับสกุลอื่น ๆ ที่แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เช่น ยูโร วอนเกาหลี และดอลลาร์สิงคโปร์ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 20 มิ.ย. 51
แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 4.44 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 5.55 ค่อนข้างมาก
- เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 23) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 15) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 14) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 14) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 7) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 6) เงินเยน (ร้อยละ 6) และริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 1) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 1) หยวน (ร้อยละ 2) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 2) และยูโร (ร้อยละ 8)
Foreign Exchange and Reserves:
ในสัปดาห์ก่อน ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation ณ วันที่ 13 มิ.ย. 51 ลดลงสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน -3.67พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 123.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -4.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นของ Forward Obligation จำนวน 0.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลง คาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วพบว่าต่างชาติมีการขายสุทธิต่อเนื่องที่ประมาณ 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้ สะท้อนว่า ความต้องขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติสูงกว่าการเข้าแทรกแซงทางการ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (6 มิ.ย.51) ร้อยละ 0.47 จาก 32.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 13 มิ.ย.51
Major Trading Partners’ Economies: This Week
อัตราเงินเฟ้อสหรัฐเดือนพ.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปีจากราคาน้ำมันและอาหารที่สูงขึ้น โดยในเดือนพ.ค. ราคาน้ำมันขยายตัวถึงร้อยละ 4.4 ต่อปี สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 50 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารและพลังงาน)ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตามความคาดหวังเงินเฟ้อ (Inflation expectation) ยังคงอยู่ในระดับสูง โดย Reuter และ University of Michigan ได้ทำการสำรวจการคาดหวังเงินเฟ้อในช่วงระยะเวลา 1 ปี พบว่า อยู่ที่ร้อยละ 5.1 ซึ่งการคาดหวังเงินเฟ้อที่สูงจะส่งผลต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและต้นทุนต่างๆ ส่งผลใ ห้ธนาคารกลางสหรัฐอาจจะต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมในช่วงครึ่งหลังของปี 51 นี้
อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนเดือนพ.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี นับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปีสาเหตุหลักยังคงมาจากราคาอาหารและพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยราคาอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ต่อปี ราคาพลังงาน13.7 ต่อปี หลักๆ มาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้คาดว่าธนาคารกลางยุโรปจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ในการประชุมวันที่ 3 ก.ค. นี้ มาอยู่ที่ร้อยละ 4.25 ต่อปี
ดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐไตรมาสที่ 1 ปี 51 ขาดดุลเพิ่มมาอยู่ที่ -176.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 5.0 ต่อ GDP จากไตรมาสที่ 4 ปี 2550 ที่ขาดดุล -167.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 4.8 ต่อ GDP
ตัวเลขการสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐเดือนพ.ค. 51 หดตัวลงร้อยละ -3.3 ต่อปี หรืออยู่ที่ 975,000 หลัง ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 17 ปี นอกจากนี้ตัวเลขคำของอนุญาตสร้างบ้านใหม่ลดลงเช่นกัน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า ตลาดที่อยู่อาศัยยังคงไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างน้อยในระยะสั้นนี้
ดุลการค้ายูโรโซนเดือนเม.ย. 51 กลับมาเกินดุลที่ 2.3 พันล้านยูโร จากเดือนมี.ค. ที่ขาดดุล -1.5 พันล้านยูโร โดยมีการส่งออกและนำเข้าขยายตัวในอัตราที่สูงที่ร้อยละ 16.0 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนอาจจะไม่มากอย่างที่คาดไว้ (รายละเอียดดุลการค้าในเดือนเม.ย. 51 ยังไม่ประกาศ) ทั้งนี้ ดุลการค้าของกลุ่มประเทศยูโรโซนในไตรมาสแรกของปี 51 ขาดดุล -9.5 พันล้านยูโร โดยหลักๆ มาจากการขาดดุลสินค้าในหมวดพลังงาน -74.5 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดดุล -52.7 พันล้านยูโร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าเงินยูโรจะแข้งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ดุลการค้ายูโรยังคงเกินดุลจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมถึง
67.7 พันล้านยูโร เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่เกินดุล 55.1 พันล้านยูโร
มูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมน้ำมันของสิงคโปร์เดือนพ.ค. 51 หดตัวร้อยละ-10.5 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อปี เป็นผลจากการส่งออก 3 สินค้าออกสำคัญหดตัว ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์หดตัวร้อยละ -8.5 ต่อปียารักษาโรคหดตัวร้อยละ -48.5 ต่อปี และปิโตรเคมีหดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี การส่งออกไปยัง 10 คู่ค้าสำคัญหดตัวในทุกตลาดยกเว้นอินโดนีเซียและไต้หวัน โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ และยุโรปหดตัวร้อยละ -22.0 ต่อปี และร้อยละ -28.0 ต่อปีตามลำดับ แม้แต่การส่งออกไปยังจีนก็ลดลงร้อยละ -1.5 ต่อปี จากที่เคยขยายตัวถึงร้อยละ 19.0 ต่อปีในเดือนเม.ย. 51
Major Trading Partners’ Economies: Next Week
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) คาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ย Fed Fundไว้ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี แม้ว่า แรงกดดันเงินเฟ้อจะเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจอันดับแรกก็ตาม
ดุลการค้าญี่ปุ่นเดือน พ.ค. 51 คาดว่าจะเกินดุลลดลง เป็นผลจากการชะลอตัวลงมากของการส่งออกตามการชะลอตัวของความต้องการสินค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ แม้จะมีการขยายตัวของการส่งออกไปตลาดเกิดใหม่มาช่วยชดเชยบ้าง โดยคาดว่าจะมีการส่งออกน่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.0 ต่อปี ลดลงจากร้อยละ 4.0 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ในขณะเดียวกันมีการนำเข้าที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามราคาน้ำมันและราคาวัตถุดิบนำเข้า เช่น โลหะ โดยคาดว่าน่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 12.5 ต่อปี เพิ่มจากร้อยละ 11.9 ต่อปี
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง www.fpo.go.th