MacroMorning Focus ประจำวันที่ 25 มิ.ย.51
SUMMARY:
- หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มสูงในภาคเกษตร-แรงงาน
- หอการค้าญี่ปุ่นเผย นักธุรกิจญี่ปุ่นในไทยกังวลแนวโน้มธุรกิจครึ่งหลังปี 51ชะลอตัว
- ราคาบ้านในสหรัฐยังคงตกลงอย่างต่อเนื่อง
HIGHLIGHT:
1. หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มสูงในภาคเกษตร-แรงงาน
- ธปท.ระบุครัวเรือนที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในภาคเกษตรและแรงงาน มีความเสี่ยงภาวะหนี้ครัวเรือนสูง เหตุรายจ่ายสูงกว่ารายได้ และหนี้เงินกู้นอกระบบสูงขึ้น โดยภาระหนี้สินทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคิดเป็นร้อยละ 35 ของรายได้ต่อเดือน ตลอดจนมีเงินออมติดลบต่อเนื่อง แสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้ที่ต่ำลง ความเสี่ยงในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น
- โดยภาระหนี้สินของกลุ่มเกษตรกร ส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพร้อยละ 52.18 เพื่อการบริโภคร้อยละ 21.64 ซึ่งแหล่งเงินกู้ส่วนใหญ่มาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจร้อยละ 49.5 เงินกองทุนหมู่บ้านร้อยละ 29.1 และเงินกู้นอกระบบร้อยละ 11.9 ขณะที่กลุ่มแรงงานกู้ยืมเงินทุนจากนอกระบบร้อยละ 31.6 และการก่อนหนี้เพื่อการบริโภค (ไม่กอให้เกิดรายได้) ร้อยละ 54.24
- สศค.วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของเกษตรกรและกลุ่มแรงงานได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดีในระยะยาว ทั้งสองกลุ่มดังกล่าวยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงทั้งจากปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ปัญหาเงินเฟ้อ และความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร
2. หอการค้าญี่ปุ่นเผย นักธุรกิจญี่ปุ่นในไทยกังวลแนวโน้มธุรกิจครึ่งหลังปี 51ชะลอตัว
- หอการค้าญี่ปุ่น (JCC) เผยว่า บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย คาดการณ์ว่าสภาพเศรษฐกิจในหลายอุตสาหกรรม มีแนวโน้มที่จะปรับตัวในทิศทางที่ชะลอตัวลงช่วงครึ่งหลังปี51 เนื่องจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ราคาน้ำมัน และค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้น หลังจากที่สภาพธุรกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 50
- ทั้งนี้ หอการค้าญี่ปุ่น ได้สำรวจแนวโน้มทางศ.ก.ในไทย พบว่า อุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออก คาดว่าจะถูกกระทบจากค่าเงินบาท และต้นทุนที่สูงขึ้น โดยมีดัชนีค่าวัดสภาพธุรกิจ หรือ DI (Diffusion Index) ในช่วงครึ่งหลังปี 51 มีค่าอยู่ที่ระดับ 15 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับระดับที่ 23 ในช่วงครึ่งแรกปี 51 อย่างไรก็ตาม บริษัทญี่ปุ่นในไทย 65% มองว่า ปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ จะมีผลกระทบต่ออุตฯ การผลิตเครื่องจักรไฟฟ้า และอิเลกทรอนิกส์ โดยสินค้าเหล่านี้ส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง
- สศค. วิเคราะห์ว่า ผลสำรวจบริษัทญี่ปุ่นในไทยที่คาดว่า สภาพเศรษฐกิจในหลายอุตสาหกรรมช่วงครึ่งหลังปี 51 ที่อาจจะชะลอตัวลง นั้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของสอท. เดือนพ.ค.51 และดัชนีฯ คาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน ที่ได้ปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 71.4 และระดับ 76.9 จากดัชนีฯเดือนเม.ย.51 ที่อยู่ที่ระดับ 78.8 และระดับ 91.7 ตามลำดับ จากปัจจัยความกังวลดังกล่าว ที่อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการตัดสินใจชะลอการผลิต รวมทั้งปรับลดการผลิตลงได้ในอนาคต
3. ราคาบ้านในสหรัฐยังคงตกลงอย่างต่อเนื่อง
- Standard & Poor’s ผู้จัดทำดัชนีราคาบ้าน (Case-Shiller home price index) รายงานว่าในเดือนเม.ย. 51 ดัชนีราคาบ้านในเขต 20 เมืองใหญ่ของสหรัฐหดตัวลงมากเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ -15.3 ต่อปี หรือลดลงร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ราคาบ้านในเขตเมืองหลวง 10 เมืองหลักลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เช่นกันที่ร้อยละ -16.3 ต่อปี หรือลดลงร้อยละ -1.6 (mom)
- สศค.วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ตลาดบ้านของสหรัฐที่ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะปรับตัวดีขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของผู้บริโภค ซึ่งสะท้อนผ่านการชะลอตัวลงของการบริโภคภาคเอกชน โดยการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 1 ของปี 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th