รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 17, 2008 12:25 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 มิ.ย.51
SUMMARY:
- สินเชื่อ 4 เดือนแรกขยายตัวสูง
- น้ำมันดิบล่วงหน้าพุ่งเกือบถึง 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- เศรษฐกิจโลกป่วนแนวโน้ม GDP หดตัว
HIGHLIGHT:
1. สินเชื่อ 4 เดือนแรกขยายตัวสูง
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยถึงการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ 4 เดือนแรก ปี 2551 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.65 ต่อปี สูงกว่าการช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.61 ต่อปี ขณะที่สินเชื่อชั้นดี ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2551 ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 9.9 ต่อปี เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าจากปัญหาเงินเฟ้อจะทำให้สินเชื่อจะเติบโตชะลอลงในไตรมาสที่เหลือของปี
- สศค.วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของสินเชื่อบ่งชี้ถึงสัญญาณการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจใน Q1/51 ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์ว่า สินเชื่อในปี 2551 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 ขยายตัวสูงกว่าปี 2550 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนในปีนี้สามารถขยายตัวที่ร้อยละ 9.7 ต่อปี
2. น้ำมันดิบล่วงหน้าพุ่งเกือบถึง 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- ณ วันที่ 16 มิ.ย. 51 ราคาน้ำมันดิบ light ส่งมอบตลาดล่วงหน้านิวยอร์ค (NYMEX) ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 139.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ก่อนปรับลดเหลือ 138.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากแนวโน้มดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโรหลังจากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อยุโรปเดือน พ.ค. ที่สูงเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 3.7 ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางยุโรปอาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ยูโรแข็งค่าขึ้น
- อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับลดลงในวันเดียวกัน โดยอยู่ที่ 134.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากซาอุดิอาระเบียจะเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน ก.ค. อีก 5.5 แสนบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราการผลิตสูงสุดในรอบ 30 ปี
- สศค.วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันในระยะสั้นจะยังคงผันผวน จากปัจจัยทางจิตวิทยาและการเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นหลัก โดยหากดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลง จะทำให้นักลงทุนโยกย้ายเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ เช่นน้ำมันและโภคภัณฑ์แทน ประกอบกับหากมีปัจจัยใดที่อาจกระทบกำลังการผลิต เช่น สงครามหรือภัยธรรมชาติ จะทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลและเร่งซื้อน้ำมันเพื่อประกันความเสี่ยง ทำให้ราคาระยะสั้นถีบตัวสูงขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ทิศทางดอลลาร์สหรัฐที่ไม่น่าจะอ่อนค่าลงอีกมากนักเนื่องจากทางการสหรัฐเริ่มผลักดันให้แข็งค่าขึ้นเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ประกอบกับซาอุดิอาราเบียเพิ่มกำลังการผลิต น่าจะทำให้ราคาเริ่มปรับลดลงในระยะต่อไป
3. เศรษฐกิจโลกป่วนแนวโน้ม GDP หดตัว
- สมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษประกาศปรับลดการคาดการณ์การเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2551 จากที่คาดไว้เดิม ณ เดือน มี.ค.ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.7 ต่อปี และในปี 2552 จากร้อยละ 1.7 ต่อปี เป็น 1.3 ต่อปี ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับจากปี 2535 ที่เศรษฐกิจอังกฤษเผชิญภาวะถดถอย
- เนื่องจากระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนและผลกำไรบริษัทอันเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อที่ขัดขวางธนาคารอังกฤษปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงเศรษฐกิจ
- สศค.วิเคราะห์ว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมากในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งจะทำให้การบริโภคภาคประชาชนลดลง ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง อย่างไรก็ดีธนาคารกลางทั่วภูมิภาคต่างๆ อาจจำเป็นต้องมีการนำมาตรการทางการเงินมาใช้ เช่น การปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันของอังกฤษอยู่ที่ ระดับร้อยละ 5.0 ต่อปี หลังจากที่มีการปรับลดครั้งสุดท้ายในเดือน เม.ย. 51ร้อยละ 0.25 โดยจะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 10 ก.ค.51
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ