รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 มิถุนายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 12, 2008 10:55 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 มิ.ย.51
SUMMARY:
- รถเก๋งพาตลาดรถฉลุย 5 เดือนแรกพุ่งร้อยละ 13 ต่อปี
- ค่าเงินป่วน-มูดี้ส์ชี้ซึมยาว
- อุตสาหกรรมการเงินสหรัฐมีแนวโน้มควบรวมกิจการมากขึ้น
HIGHLIGHT:
1. รถเก๋งพาตลาดรถฉลุย 5 เดือนแรกพุ่งร้อยละ 13 ต่อปี
- ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ เปิดเผยยอดจำหน่ายรถยนต์ทุกประเภทใน 5 เดือนแรก ปี 51 พบว่ามียอดจำหน่ายทั้งสิ้น 271,356 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.4 ต่อปี ทั้งนี้ การเติบโตหลักมาจากยอดจำหน่ายของตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.1 ต่อปี สำหรับตลาดปิกอัพมีการเติบโตเช่นกัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ต่อปี เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม หากดูเฉพาะรถยนต์ เดือน พ.ค. มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.33 ต่อปี เป็นผลมาจากยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ตลาดอื่นๆ หดตัวลง เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน การปรับขึ้นของราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่องและความวุ่นวายทางการเมือง
- สศค.วิเคราะห์ว่า การเพิ่มขึ้นของยอดจำหน่ายรถยนต์รวม 5 เดือนแรกปีนี้ เป็นผลจากรถยนต์นั่งประเภท E 20 ที่ได้รับสิทธิปรับลดภาษีสรรพสามิตตั้งแต่ต้นปี 51 และเมื่อพิจารณายอดจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน พ.ค. 51 ที่ขยายตัวร้อยละ 29.4 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากยังคงมียอดค้างส่งรถยนต์ E 20 ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการบริโภคสินค้าคงทนให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปคาดว่ายอดจำหน่าย ทั้งรถยนต์นั่งและปิกอัพอาจเริ่มปรับลดลงเนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง และอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้ประชาชนชะลอการซื้อรถยนต์
2. ค่าเงินป่วน-มูดี้ส์ชี้ซึมยาว
- นักค้าเงินจากซิตี้แบงก์กล่าวว่าสกุลเงินเอเชียร่วงหนักวานนี้ ขณะที่เงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นหลังนายเบน เบอร์แนนคี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะสูงขึ้นอีก และอาจนำมาซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 2% ทำให้ธนาคารกลางของเกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, อินเดีย และอินโดนีเซีย ต่างพากันขายเงินเหรียญสหรัฐฯ ออกมา เพื่อสกัดการร่วงลงของค่าเงินแต่ละประเทศ
- ขณะที่ บริษัท มูดี้ส์ อินเวสต์เมรท์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยจะชะลอตัวต่อเนื่องอีก 3 ไตรมาส เนื่องจากบริษัทเอกชนลดอัตราการลงทุนและภาคครัวเรือนลดการใช้จ่าย เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ
- สศค.วิเคราะห์ว่าการปั่นป่วนของตลาดเงินเอเชียทำให้ค่าเงินบาทร่วงลงมาอยู่ที่ 33.1 บาท/เหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่าลง 1.9% จากระดับปิดเมื่อสิ้นเดือน พ.ค. ที่ 32.5 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสาเหตุของการอ่อนค่าลงของเงินบาทมาจากการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ตลาดเงินปั่นป่วน แต่คาดว่าบาทจะปรับตัวแคบลง เนื่องจาก ธปท. ได้เข้าแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงิน
3. อุตสาหกรรมการเงินสหรัฐมีแนวโน้มควบรวมกิจการมากขึ้น
- เมอร์ริล ลินช์ แอนด์ โค วาณิชธนกิจชั้นของสหรัฐฯ กล่าวว่า กิจการในอุตสาหกรรมธนาคารมีแนวโน้มที่จะมีการควบรวมกิจการมากขึ้น เนื่องจากภาคธุรกิจต้องการลดความเสี่ยงต่อการล้มละลายของธุรกิจ ประกอบกับมีนักลงทุนให้ความสนใจลงทุนต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเตือนว่าธุรกิจขนาดใหญ่ก็มีความเสี่ยงที่จะล้มละลายเช่นกัน ซึ่งในขณะนี้ บรรดาบริษัทการเงินต่างมีความกดดันในการหานักลงทุนภายนอกเข้ามาลงทุน หลังจากที่ต้องลดมูลค่าสินทรัพย์ไปเกือบ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปีที่แล้ว
- สศค.วิเคราะห์ว่า จากปัญหาซับไพร์มสหรัฐ อาจทำให้ภาคธุรกิจการเงินขนาดใหญ่สหรัฐ จำเป็นต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เช่น ลดขนาดธุรกิจลง เพิ่มเงินลงทุนมากขึ้น และการควบรวมกิจการ เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงของธุรกิจล้มละลาย ทั้งนี้ สศค.คาดว่าปัญหาซับไพร์มน่าจะเริ่มพลิกฟื้นได้ในปี 2552 เป็นอย่างช้า เนื่องจากการที่ Fed ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างเฉียบพลัน จะทำให้ภาคการเงินสหรัฐสามารถรับรู้ผลการขาดทุนได้อย่างรวดเร็ว และ Fed ทำหน้าที่เป็น “แหล่งเงินกู้สุดท้าย” (Lender of Last Resorts) ให้กับสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาได้
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ