รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 11, 2008 11:32 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 มิ.ย.51
SUMMARY:
- ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกผันผวนหนัก พุ่งขึ้น 11 เหรียญสหรัฐภายในวันเดียว
- IMF วิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ฟื้นตัว
- เวียดนาม “ลดค่าเงิน” สู้นักเก็งกำไร
HIGHLIGHT:
1.ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกผันผวนหนัก พุ่งขึ้น 11 เหรียญสหรัฐภายในวันเดียว
- สำนักข่าวเอพี รายงานวานนี้(10 มิ.ย.51) ว่าราคาน้ำมันดิบไลต์สวีต งวดส่งมอบเดือนก.ค.ในการซื้อขายที่ตลาดไนแม็กซ์สหรัฐปรับตัวลดลงทันที 4.19 เหรียญสหรัฐมาอยู่ที่ 134.35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากรัฐมนตรีคลังสหรัฐ ส่งสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสหรัฐจำเป็นจะต้องเข้าไปแทรกแซงค่าเงินเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยให้ราคาน้ำมันมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนอย่างหนัก โดยราคาขึ้นลงภายในวันเดียวถึง 11 เหรียญสหรัฐ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปเกือบแตะระดับ 140 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
- ปัจจัยของราคาน้ำมันที่ผันผวนมีขึ้นหลังจากที่ EIA ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปี 51 ลงไปอยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี2545 มาอยู่ที่วันละ 8 แสนบาร์เรล หลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และหลายประเทศตัดสินใจลดการอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศลง
- สศค. วิเคราะห์ว่าการที่สหรัฐตัดสินใจเข้าแทรกแซงค่าเงินสหรัฐไม่ให้แข็งเกินควร ย่อมทำให้ค่าเงินสกุลอื่นผันผวนไปในด้านอ่อนค่ามากขึ้น ธนาคารกลางของแต่ละประเทศจึงเข้าแทรกแซงเพื่อไม่ให้อ่อนค่าเร็วเกินไป ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นมากในขณะนี้น่าจะมาจากการการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และข้อพิพาทระหว่าอิสราแอลกับอิหร่าน
2. IMF วิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ฟื้นตัว
- เมื่อ 9 มิ.ย.51 กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่าการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 0 ในช่วง 2-3 ไตรมาสข้างหน้าต่อไป โดยความมั่นใจผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อยังคงตึงตัว และยังคงเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาก่อความเสียหายในวงกว้าง
- ประธานเฟดกล่าวว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟดจะชดเชยปัจจัยเสี่ยงจากอัตราว่างงานและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูง ขณะที่ รมว.คลังสหรัฐปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจระยะยาวของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง และต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ๆในการสร้างเสถียรภาพต่อค่าดอลล่าร์สหรัฐและแนวทางที่เหมาะสมต่อการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา
- สศค.วิเคราะห์ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐดังกล่าวส่งผลต่อไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลทางตรงจะทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐชะลอตัวลง ส่วนผลทางอ้อมจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐปรับเพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ตาม สศค.คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวร้อยละ 0.5-1.0
3. เวียดนาม “ลดค่าเงิน” สู้นักเก็งกำไร
- ธนาคารกลางเวียดนามตัดสินใจลดค่าเงินด่องลง 1.96% เพื่อสู้นักเก็งกำไรค่าเงิน ที่เข้ามาถล่มค่าเงินอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินด่องในตลาดจะอ่อนค่าลงเกือบ 30% เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิงอีก 2% จากระดับ 12% มาเป็น 14% หวังสกัดเงินเฟ้อ โดยทั้งสองมาตรการเวียดนามหวังว่าจะเป็นทางออกแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ในขณะที่นายเคลาดิโอ พิรอน นักยุทธศาสตร์ด้านค่าเงินแห่งค่ายเจพี มอร์แกน เชส แบงก์มองว่า ในภาพรวมการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นและแสดงให้เห็นว่า เวียดนามใช้หลายแนวทางในการรับมือกับปัญหา ในขณะที่นายดวีฟออร์ อีแวนส์ นักยุทธศาสตร์แห่งค่ายสเตท สตรีท ในฮ่งกงมองว่าธนาคารกลางเวียดนามดำเนินการน้อยและล่าช้าเกินไป อีกทั้งยังไม่ใช่นโยบายที่แก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด
- สศค.วิเคราะห์ว่า สาเหตุของการเข้าเก็งกำไรค่าเงินเวียดนามมาจากเงินทุนที่ไหลเข้าประเทศที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปี 50 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าเงินด่องแข็งค่าขึ้นและมีการนำเข้ามากขึ้น ส่งผลต่อการขาดดุลการค้าเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้เงินเฟ้อของเวียดนามสูงขึ้นอย่างมากกว่าร้อยละ 25 จากปัญหาดังกล่าวคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อนหน้าจากที่ขยายตัวร้อยละ 8.0
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ