Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 มิ.ย.51
SUMMARY:
- บสก.หวั่นหลังเดือนส.ค.ยอด NPL พุ่ง
- ธ.ก.ส. คาดสิ้นเดือนมิ.ย.51 มีโรงสีเข้าร่วมรับจำนำข้าว 300 แห่ง
- FED คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเท่าเดิม
HIGHLIGHT:
1. บสก.หวั่นหลังเดือนส.ค.ยอด NPL พุ่ง
- บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.กล่าวถึง ยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ต่อยอดสินเชื่อทั้งระบบในไตรมาสที่ 2 ปี 2551 จะปรับลดลงเนื่องจากสินเชื่อโดยรวมขยายตัวทำให้ฐานสินเชื่อมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยคาดว่ายอดสินเชื่อในไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวร้อยละ 7 — 8 ต่อปี ลดลงจากไตรมาสแรก ที่ขยายตัวร้อยละ 9 ต่อปี โดยหากในเดือนส.ค.ธนาคารแห่งประเทศไทย เปลี่ยนแปลงเกณฑ์การนับ NPL ใหม่ โดยให้นำ NPL ของ AMC ที่เป็นบริษัทลูกของแบงค์เข้ามานับรวมด้วย จะทำให้ยอด NPL ทั้งระบบเพิ่มขึ้น
- สศค.วิเคราะห์ว่า หากในช่วงที่เหลือของปี 2551 ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้ยอด NPL เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากหนี้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะส่งผลต่อการชำระหนี้ เนื่องจากจะมีต้นทุนจากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อในช่วงต้นปี 2551 เป็นการส่งสัญญาณในด้านบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการลงทุน ทั้งนี้ สศค. ในปี 2551 ธปท.จะปรับอัตราดอกเบี้ย RP 1 วัน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.25 ต่อปี ณ สิ้นปี 2551 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.00-4.50 ต่อปี
2. ธ.ก.ส. คาดสิ้นเดือนมิ.ย.51 มีโรงสีเข้าร่วมรับจำนำข้าว 300 แห่ง
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เปิดเผยผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 51 ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.-24 มิ.ย.51 ว่ามีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 4,309 ราย มีปริมาณข้าวเปลือก 53,330 ตัน จำนวนเงิน 698.9 ล้านบาท โดยมีโรงสีข้าวเข้าร่วมและผ่านการอนุมัติแล้ว 296 แห่ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 27 จังหวัด
- นอกจากนี้ ได้มีการปรับหลักเกณฑ์วางเงินค้ำประกันโรงสีจากเดิมวางหลักทรัพย์ร้อยละ 20 ของมูลค่าข้าวและต้องมีข้าวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณที่รับเข้าจำนำ เป็นให้วางหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่าเพียงอย่างเดียว
- สศค.วิเคราะห์ว่า การที่มีจำนวนโรงสีเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวอย่างมากและครอบคลุมหลายจังหวัดนั้น นอกจากจะช่วยให้เกษตรกรมีความสะดวกและได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการดังกล่าวมากขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความผันผวนของราคาข้าวได้มาก ซึ่งจะทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศให้ขยายตัวต่อไป
3. FED คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเท่าเดิม
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED คงระดับอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ร้อยละ 2 ต่อปี ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตสินเชื่อ sub-prime เมื่อกลางปีก่อนที่ FED ไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดย FED ให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการรักษาสมดุลระหว่างความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นและความเสี่ยงจากการชะลอตัวลงทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 51 นอกจากนี้ ยังมองว่าความเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงนั้นมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้นกำลังเพิ่มขึ้น
- สศค.วิเคราะห์ว่าปัญหาวิกฤต sub-prime ในปีก่อนที่ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงเป็นสาเหตุหลักในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ FED ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี GDP ของสหรัฐฯ ในไตรมาส 1 ปี 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี ไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาส 4 ปี 50 สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอลงมากอย่างที่คาดไว้เดิม ขณะการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมัน ราคาอาหาร และราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ในตลาดโลกในปัจจุบัน ได้ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือน พ.ค. 51 อยู่ที่ ร้อยละ 4.2 ต่อปี เพิ่มขึ้นอย่างมากจากค่าเฉลี่ยในปี 50 ที่ร้อยละ 2.9
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th