รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 10, 2008 12:23 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 มิ.ย.51
SUMMARY:
- ธปท.แทรกแซงเงินบาท เบรกต่างชาติเข้าเก็งกำไร
- วิกฤติ อาหาร-พลังงาน กระตุ้นทั่วโลกงัดมาตรการคุมเงินเฟ้อ
- นักวิเคราะห์คาดน้ำมันอาจทะลุ 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลภายใน 3 เดือน
HIGHLIGHT:
1. ธปท.แทรกแซงเงินบาท เบรกต่างชาติเข้าเก็งกำไร
- ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงระดับค่าเงินบาทวันที่ 9 มิ.ย.ที่ปิดที่ระดับ 33.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐว่า อ่อนค่าเร็วผิดปกติเกินกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากนักลงทุนต่างชาติที่ขายหุ้นและพันธบัตรนำเงินออกนอกประเทศ ขณะเดียวกันก็มีนักลงทุนต่างชาติเก็งกำไรด้วยการกู้ยืมเงินบาทไปซื้อดอลลาร์โดยไม่มีธุรกรรมรองรับ (Underlying) ด้วยแต่มีจำนวนไม่มากนัก ซึ้งธปท.กำลังจับตาดูอยู่ เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงิน
- สศค.วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทระหว่างวันวานนี้ (9 มิ.ย.) อ่อนสุดอยู่ที่ระดับ 33.41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนับเป็นการอ่อนค่าลงในรอบ 3 เดือน ซึ่งเกิดจากการที่มีความต้องการซื้อเงินตราต่างประเทศของนักลงทุนต่างชาติมากกว่าความต้องการขายเงินตราต่างประเทศ จากภาวะเงินทุนที่ไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ไทยโดยหันกลับไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ จากการคาดการณ์ว่า FED จะมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรการเข้ารักษาเสถียรภาพค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยทำให้ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 33.21 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐวานนี้
2. วิกฤติ อาหาร-พลังงาน กระตุ้นทั่วโลกงัดมาตรการคุมเงินเฟ้อ
- ปัญหาเงินเฟ้อกำลังเป็นปัญหาที่สร้างความวิตกให้กับทุกประเทศ และทุกหน่วยงานทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมารองกรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ออกมาเตือนว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีสกุลเงินผูกพันกับเงินดอลลาร์ กำลังสู้กับภาวะเศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงเกินไป ซึ่งจะต้องเข้มงวดกับเศรษฐกิจมหภาค เพื่อเป็นการตอบโต้แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อราคาผู้บริโภคทั่วโลกในปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 5.5 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี
- สศค.วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวในระดับสูงนั้นมีผลจากปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงราคาอาหาร และสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาร ที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี รัฐบาลของหลายประเทศหันมาใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อบรรเทาแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ
3. นักวิเคราะห์คาดน้ำมันอาจทะลุ 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลภายใน 3 เดือน
- Goldman Sachs คาดว่าราคาน้ำมันดิบอาจถีบตัวขึ้นเกินระดับ 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลภายใน 3 เดือน เนื่องจากปริมาณความต้องการจะสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในซีกโลกตะวันตก อีกทั้งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ปริมาณน้ำมันในสต๊อกของสหรัฐอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับลดลง โดยในเดือน เม.ย. กำลังการผลิตน้ำมันของรัสเซียและเม็กซิโกซึ่งเป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่นอกกลุ่ม OPEC ต่ำสุดในรอบ 18 เดือน ขณะที่รัฐมนตรีน้ำมันซาอุดิอาราเบียกล่าวว่าราคาในปัจจุบันสูงกว่าปัจจัยพื้นฐานแล้ว แม้ว่าจะได้เพิ่มกำลังการผลิตร้อยละ 3.3 เพื่อตอบรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ Morgan Stanley คาดว่าราคาน้ำมันดิบอาจขึ้นถึงระดับ 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลก่อนวันที่ 4 ก.ค.
- สศค.วิเคราะห์ว่าเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันในระยะสั้นจะถีบตัวสูงขึ้นอีก เนื่องจากปัจจัยทางจิตวิทยาเป็นหลัก โดยความต้องการน้ำมันดิบโลกในแต่ละวันอยู่ที่ประมาณ 87 ล้านบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่ากำลังการผลิตที่ 88.3 ล้านบาร์เรล แต่หากมีปัจจัยใดที่อาจกระทบกำลังการผลิต เช่น ปัญหาทางการเมืองหรือภัยธรรมชาติ จะทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลและเร่งซื้อน้ำมันเพื่อประกันความเสี่ยง จึงทำให้ราคาระยะสั้นถีบตัวสูงขึ้นมาก ทั้งนี้ หากซาอุดิอาราเบียเพิ่มกำลังการผลิตอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 52 ตามแผน น่าจะทำให้ราคาน้ำมันเริ่มปรับลดลงในระยะต่อไป
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ