รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 30, 2008 11:32 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 มิ.ย.51
SUMMARY:
- ขยับเป้าเงินเฟ้อพุ่งร้อยละ 7.5
- ก่อสร้าง-อสังหาอ่วม ต้นทุนพุ่ง
- เงินเฟ้อพื้นฐานญี่ปุ่นขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี
HIGHLIGHT:
1. ขยับเป้าเงินเฟ้อพุ่งร้อยละ 7.5
- กระทรวงพาณิชย์ เผยว่ากำลังประเมินสถานการณ์และสมมติฐานอัตราเงินเฟ้อของปี 2551 ใหม่ ภายใต้สมมติฐานที่ระดับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยไม่เกิน 130 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนไม่เกิน 35.00 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 6.5 — 7.5 ต่อปี โดยการปรับสมมติฐานดังกล่าวจะพิจารณาอัตราเงินเฟ้อของเดือน มิ.ย. 51 ก่อน
- สศค.วิเคราะห์ว่า การที่กระทรวงพาณิชย์มีการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อใหม่นั้น โดยมีปัจจัยหลักมาจาก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมานับจากต้นปี 2551 รวมถึงราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสาร ผักและผลไม้ ที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ตาม สศค.คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อในปี 2551 จะอยู่ที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.0-8.0 ต่อปี) โดยมีสมมติฐานราคาน้ำมันดูไบครึ่งหลังของปีจะอยู่ที่ 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ราคาเฉลี่ยดูไบทั้งปี 2551 อยู่ที่ 116 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
2. ก่อสร้าง-อสังหาอ่วม ต้นทุนพุ่ง
- รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปัจจัยด้านต้นทุนที่สูงขึ้นเกิดจากราคาวัสดุก่อสร้างและปัจจัยเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมัน กระทบต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15-19 สำหรับโครงการแนวราบ และหากเป็นอาคารสูงอาจสูงขึ้นร้อยละ 30
- โดยปัจจัยดังกล่าว ทำให้การขายโครงการใหม่ลดลง โดยในไตรมาสแรกปี 2551 ยอดโอนลดลงร้อยละ 15 ต่อปี ยอดขายโครงการใหม่ติดลบร้อยละ -15.0 ต่อปี เนื่องจากกำลังซื้อถดถอยจากผลกระทบเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจ แต่หากผู้ประกอบการปรับตัวได้ การเติบโตก็จะมีต่อเนื่อง เช่น บริษัทพฤกษาฯ มียอดขายในไตรมาสแรกโตกว่าร้อยละ 100
- สศค.วิเคราะห์ว่า วิกฤติราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องผลักดันให้ราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคธุรกิจก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้างเป็นหลัก ทั้งเหล็กและปูนซีเมนต์ ที่ปรับราคาขึ้นไปสูงมาก โดยในเดือนพ.ค. 2551 ราคาเหล็กและปูนซีเมนต์ปรับขึ้นร้อยละ 67.2 และ 7.2 ต่อปี ดังนั้น สศค. คาดการณ์ว่า ต้นทุนการก่อสร้าง-อสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้น จะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้การลงทุนภาคเอกชนในปี 2551 จะขยายตัวที่ร้อยละ 8.5 ต่อปี จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 9.7 ต่อปี
3. เงินเฟ้อพื้นฐานญี่ปุ่นขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี
- ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (ไม่รวมอาหาร) ของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 1.5 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี และสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 1.4 โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาวัตถุดิบโดยเฉพาะน้ำมันที่พุ่งขึ้นมากในปัจจุบัน ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้จะทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคและผลประกอบการของภาคเอกชนหดตัวลงซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อการบริโภคและลงทุนของญี่ปุ่นในระยะต่อไป โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ผลิตพบว่า ดัชนีผลผลิตมีแนวโน้มจะหดตัวลงร้อยละ 0.9 ในเดือน มิ.ย. ขณะที่ตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่น (ปรับเงินเฟ้อแล้ว) หดตัวร้อยละ 3.2 ในเดือน พ.ค.
- สศค. วิเคราะห์ว่าภาวะเงินเฟ้อญี่ปุ่นที่พุ่งสูงขึ้นเกิดจากราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นเป็นหลัก พิจารณาได้จากเงินเฟ้อทั่วไป (รวมอาหารและพลังงาน) ในเดือน พ.ค. ที่อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ต่ำกว่าเงินเฟ้อพื้นฐานที่ร้อยละ 1.5 ขณะที่หากหักทั้งอาหารและพลังงานแล้วจะพบว่าเงินเฟ้อในญี่ปุ่นยังคงหดตัวลงร้อยละ -0.1 ในเดือน เม.ย. ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเกิดจากต้นทุนการผลิต (Cost-push Inflation) เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันในครึ่งหลังของปี 51 ไม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก น่าจะทำให้ภาวะเงินเฟ้อในญี่ปุ่นลดลงได้ ซึ่งหากภาวะเงินเฟ้อญี่ปุ่นมิได้ยืดเยื้อ ธนาคารกลางน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0.5 ไปจนถึงสิ้นปี 51 นี้
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ