รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 2, 2008 12:33 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่  2  ก.ค.51
SUMMARY:
- เงินเฟ้อเดือนมิ.ย.พุ่งขึ้นร้อยละ 8.9 สูงสุดในรอบ 10 ปี
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุปี 51 รายได้ค่าธรรมเนียมธนาคารเติบโตชะลอตัวลง
- สำนักงานพลังงานน้ำมันสากล(EIA) เตือนปริมาณการผลิตน้ำมันทั่วโลกปรับลดลง
HIGHLIGHT:
1. เงินเฟ้อเดือนมิ.ย.พุ่งขึ้นร้อยละ 8.9 สูงสุดในรอบ 10 ปี
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิ.ย.51 สูงขึ้นร้อยละ 8.9 สูงขึ้นมากจากเดือนพ.ค.ที่ร้อยละ 7.6 ต่อปี และนับเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 10 ปี มาจากการสูงขึ้นของดัชนีน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลักที่ร้อยละ 44.7 ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมพลังงานและอาหาร) สูงขึ้นที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี สูงขึ้นอย่างมากจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี มาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป วัสดุก่อสร้าง และค่าโดยสารสาธารณะ เป็นหลัก
- ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 51 ที่ร้อยละ 5.0-5.5 ต่อปี ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไปที่ 105 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันช่วงครึ่งปีหลังปรับขึ้นโดยเฉลี่ยที่ 142 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปี 51 อยู่ที่ 120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0
- สศค.วิเคราะห์ว่า ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงครึ่งหลังของปี 51 ที่เฉลี่ย 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้ราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 116 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ขณะที่ค่าเงินบาทครึ่งปีหลังอยู่ที่ 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 51 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี
2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุปี 51 รายได้ค่าธรรมเนียมธนาคารเติบโตชะลอตัวลง
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ปี 51 อัตราการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์จะชะลอตัว เหลืออยู่ในช่วงอัตราร้อยละ 15-17 โดยมีค่าธรรมเนียม 3 ประเภทที่เสี่ยงกับการขยายตัวลดลง ได้แก่ ด้านสินเชื่อ ด้านอิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้ง และด้านตลาดทุน เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปี 51 ส่งผลให้สัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมต่อรายได้รวมมีแนวโน้มลดลลงเช่นกัน
- สศค.วิเคราะห์ว่า ในภาวะปัจจุบันรายได้จากค่าธรรมเนียมเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อภาคธนาคารพาณิชย์ จากเดิมที่มีรายได้สำคัญจากส่วนต่าง (spread) ของดอกเบี้ยเงินกู้-ดอกเบี้ยเงินฝาก อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่ ธปท.ถูกคาดหมายว่าอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถึยรภาพด้านราคา จะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้น ขณะที่จะยังตรึงดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้น ซึ่งจะทำให้รายได้ของธนาคารพาณิชย์จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและชดเชยรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ลดลงได้
3. สำนักงานพลังงานน้ำมันสากล (IEA) เตือนปริมาณการผลิตน้ำมันทั่วโลกปรับลดลง
- IEA เตือนปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างรวดเร็วภายใน 2 ปีข้างหน้า หลังจากที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตที่เร่งผลิตจนเกินความต้องการ และคาดว่าจะทำให้ปริมาณผลิตน้ำมันสำรองจะลดลงมาถึงระดับต่ำสุดใน 5 ปีข้างหน้า
- นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันของโลกใน 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นจาก 86.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 94.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปี 50 เนื่องจากราคาที่สูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคชะลอการบริโภคลง โดยคาดว่าระดับความต้องการในปีนี้จะลดลงร้อยละ 1.4
- สศค. วิเคราะห์ว่า เป็นไปได้ที่ความต้องการใช้น้ำมันโลกใน 5 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น ดังเช่นที่ IEA คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตในอนาคตน่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ๆ โดยเฉพาะในอเมริกาใต้ ประกอบกับมีการผลิตน้ำมันจากวัตถุดิบใหม่ๆ (Unconventional source) เช่น Tar sand มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันในระยะยาวไม่ผันผวนมากนัก อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในระยะสั้นน่าจะยังคงผันผวนต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากกำลังการผลิตที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วในระยะสั้น
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ