อันตรายของอนุพันธ์การเงิน (Derivatives)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 3, 2008 11:05 —กระทรวงการคลัง

          บทความนี้เขียนเพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจสถาบันการเงิน หรือบริษัทที่คิดจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอนุพันธ์การเงิน ซึ่งเป็นเสมือนดาบสองคม ที่อาจมีทั้งประโยชน์แต่ก็อาจมีโทษมหันต์ 
เมื่อเร็วๆนี้ผมได้ไปช่วยสอบสวนหาข้อเท็จจริง กรณีความเสียหายซึ่งเป็นหลักหลายพันล้านบาท ของสถาบันการเงินของรัฐแห่งหนึ่งที่ไม่ได้รับเงินฝาก (ผู้ฝากเงินและประชาชนทั่วไปไม่ต้องตกใจเพราะไม่เกี่ยวข้องกัน และไม่ได้รับผลกระทบใดๆทั้งสิ้น) ซึ่งได้ทำความตกลงทางอนุพันธ์การเงินกับสถาบันการเงินต่างประเทศรายหนึ่ง ซึ่งได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายจากการที่อัตราดอกเบี้ยที่ใช้อ้างอิงเปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่ผลสอบสวนและข้อเท็จจริงยังไม่เป็นที่ยุติ แต่ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้ว
ผมจึงอยากจะเตือนสถาบันการเงินเละบริษัทของไทย ให้พึงระวังให้มากในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวทำความตกลงทางอนุพันธ์การเงิน ซึ่งตัวเองอาจไม่เข้าใจผลของมันดีพอ และความเสี่ยงหรือผลเสียหายต้องประเมินด้วยว่า หากเกิดขึ้นแล้วสามารถแบกรับได้หรือไม่
อนุพันธ์การเงิน (Derivatives) คือวิธีการและเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงหรือเก็งกำไร โดยสามารถแยกแยะความเสี่ยงประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านตลาด ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงด้านระยะเวลา และความเสี่ยงด้านการลงทุน แล้วนำไปกระจายให้กับบุคคลอื่นที่สามารถรับความเสี่ยงได้ และ ที่มีระดับการยอมรับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่แตกต่างกัน
นอกจากนั้น อนุพันธ์การเงินยังสามารถเป็นช่องทางและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มุ่งเน้นการเก็งกำไรแต่มีความเสี่ยงสูงได้ด้วย
อนุพันธ์การเงินช่วยให้เงินทุนไหลเข้าประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการเงินทุน สถาบันการเงินและนักลงทุนระหว่างประเทศสามารถโอนย้ายความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนให้กับประเทศผู้รับเงินทุน ทำให้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามายังประเทศกำลังพัฒนาที่ระบบเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็ว อย่างไรก็ดี อนุพันธ์การเงินได้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศผู้รับทุนเหล่านั้น
ธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (BIS) ได้รายงานข้อมูลการใช้อนุพันธ์การเงิน ณ สิ้นปี 2550 ปริมาณมูลค่าอนุพันธ์การเงินทั่วโลกมีถึง 600 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเกือบ 99% ของมูลค่าดังกล่าว เป็นอนุพันธ์การเงินนอกตลาดซื้อขายทางการ (OTC derivatives) โดยธุรกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป แต่ธุรกรรมในประเทศเอเชียกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยที่อนุพันธ์การเงินในตลาด OTC โตโดยเฉลี่ยปีละ 30%
มีผู้ที่มองว่าการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ เป็นการพนันอย่างหนึ่งในลักษณะ Zero-Sum Game ซึ่งในที่สุดแล้วจะต้องมีคนได้และคนเสียในปริมาณที่เท่ากันเสมอ
แต่ประโยชน์ของตราสารอนุพันธ์ก็มีอยู่มาก ผู้ประกอบการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ เพื่อที่จะบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และราคาพลังงาน แร่ธาตุและสินค้าเกษตรกรรมซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิต
สถาบันการเงินกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทประกันภัยและผู้ลงทุนสถาบันทั่วไป อาจใช้อนุพันธ์การเงินเพื่อรักษาตันทุน หรือปกป้องมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ครอบครองอยู่ไม่ว่าจะเป็นหุ้นสามัญ หุ้นกู้ และสินทรัพย์อื่นๆ
อนุพันธ์การเงินถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง
แต่ถ้าใช้ตราสารอย่างไม่ถูกวิธีและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็อาจจะทำให้ได้รับผลที่ตรงกันข้ามอย่างรุนแรง มีผู้ประกอบการหลายรายต้องตกเป็นเหยื่อของเกมการเงินเช่นนี้
ผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการที่ตราสารอนุพันธ์ได้รับความนิยมแพร่หลายและมีปริมาณธุรกรรมมากขึ้น ก็คือ ธนาคารพาณิชย์และบริษัทวาณิชธนกิจค้าหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์ และขายออกไปรวมทั้งยังเป็นผู้ค้าและทำหน้าที่เป็นนายหน้าอีกด้วย ธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์ทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ จึงพยายามที่จะกระตุ้นและเชิญชวนให้เกิดทั้งตลาดทางการ และไม่เป็นทางการ สำหรับซื้อขายตราสารอนุพันธ์ เพื่อที่จะดึงดูดทุนในตราสารอนุพันธ์ เช่น Collateralized Debt Obligation (CDO) หรือ Credit Default Swaps (CDS)หรือให้สถาบันการเงินไทยทำข้อตกลง Interest Rate SWAP (IRS)ให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทวาณิชธนกิจหลักทรัพย์ต่างประเทศได้รับค่าธรรมเนียมมากขึ้น
เอาไว้ตอนหน้าผมชำแหละในเรื่องข้อเสียและสิ่งที่ควรตระหนักก่อนตัดสินใจลุยซื้อตราสารอนุพันธ์
โดย ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ email: fsa@fpo.go.th
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ