รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 3, 2008 11:45 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 ก.ค.51
SUMMARY:
- ดัชนีความเชื่อมั่น SME เดือน พ.ค.51 อยู่ที่ระดับ 40
- ผวาเงินเฟ้อฉุดหุ้นทั่วเอเชีย
- ยุโรป มุ่งสู่ภาวะถดถอย
HIGHLIGHT:
1. ดัชนีความเชื่อมั่น SME เดือน พ.ค.51 อยู่ที่ระดับ 40
- สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอี (SME) ประจำเดือนพ.ค.51 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 40 จากระดับ 41.2 ในเดือนเม.ย.51 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 41.8 จากระดับ 42.8 โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง
- สศค.วิเคราะห์ว่า จากการที่ราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ประชาชนมีกำลังซื้อของประชาชนลดลง ดังนั้นภาครัฐอาจต้องมีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว ขณะที่ในส่วนประชาชนนั้น ภาครัฐได้มีนโยบายช่วยเหลือเบื้องต้นบ้างแล้ว เช่น ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและค่าจ้างขั้นต่ำ มาตรการด้านภาษี การแจกคูปองคนจน เป็นต้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ในระดับหนึ่ง
2. ผวาเงินเฟ้อฉุดหุ้นทั่วเอเชีย
- ความเคลื่อนไหวการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียวานนี้ (2 ก.ค.51) ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง โดยคอสปีของเกาหลีใต้ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.6 ดัชนีหั่งเส็งของฮ่องกงลดลงร้อยละ 1.8 ขณะที่ดัชนีนิเคอิของญี่ปุ่นปรับลดลงร้อยละ 1.3 ในส่วนของดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงประมาณร้อยละ 1 โดยสาเหตุหลักที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงทั่วเอเชีย เนื่องจาก ความกังวลของนักลงทุนทั่วโลก เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวประกอบกับราคาน้ำมันกับอาหารได้ส่งผลกระทบต่อกำไรบริษัทลดลง ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบ WTI ณ วันที่ 2 ก.ค. ได้ปิดที่ระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 143.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- สศค.วิเคราะห์ว่าการที่ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกโดยเฉพาะเอเชียตกต่ำต่อเนื่องส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะราคาน้ำมันที่ทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะเอเชียที่พึ่งพิงน้ำมันในระดับสูง และทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคเอเชียลดลง และกระทบต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม หากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นไม่ยืดเยื้อ อาจทำให้ธนาคารกลางในเอเชียจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น
3. ยุโรป มุ่งสู่ภาวะถดถอย
- มาร์กิต อิโคโนมิก กลุ่มวิจัยในยุโรป ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร หดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบสามปี เมื่อเดือน มิ.ย. โดยลดลงเหลือ 49.2 จาก 50.6 เมื่อเดือน พ.ค. ซึ่งดัชนีระดับต่ำกว่า 50 หมายถึงการหดตัว สำหรับเศรษฐกิจยุโรปเริ่มเผชิญกับข่าวร้ายต่างๆทั้งแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และสกุลเงินแข็งค่ามากขึ้น ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกซบเซาลง และการเกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว
- สศค.วิเคราะห์ว่า การที่ค่า PMI ลดลงอย่างมากนั้น สะท้อนถึงภาวะกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมซึ่งเป็นการชะลอตัวตามความต้องการภายในประเทศที่ลดลง สำหรับความกังวลจากสกุลเงินยูโรที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องนั้น จากดุลการค้ายูโร เดือนม.ค.-มี.ค. 51 ล่าสุด ยังคงเกินดุลจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมถึง 67.7 พันล้านยูโรเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เกินดุล 55.1 พันล้านยูโร สะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนอาจไม่มากนัก อนึ่ง อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรไตรมาส 1 ปี 51 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ