รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 4, 2008 11:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4  ก.ค.51
SUMMARY:
- อัตราเงินเฟ้อสูงกระทบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20-25
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ แบงค์ชาติหมดทางเลือก เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย
- ธนาคารโลกเร่ง จี-8 แก้อาหารแพง
HIGHLIGHT:
1. อัตราเงินเฟ้อสูงกระทบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20-25
- สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) คาดการณ์ว่า จากภาวะเงินเฟ้อที่เป็นปัญหาในภาพรวมทั่วโลกและปัญหาราคาน้ำมัน จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วงก.ค.-ก.ย.51 ทำให้เม็ดเงินจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20-25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอัตราการเข้าพักในจังหวัดท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตที่คาดว่าจะลดลงจากร้อยละ 30-40 เหลือเพียงร้อยละ 20
- ขณะที่อุปนายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่าจากปัญหาเบื้องต้นนั้น สำหรับธุรกิจโรงแรมเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบด้านอัตราที่เข้าพักที่ลดลงประมาณร้อยละ 10 ต่อเนื่องจากนี้อีก 1-2 เดือน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวในระดับสูงนั้น จะส่งผลกระทบต่อทั้งต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการอุตสากรรมการท่องเที่ยวให้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการเดินทางของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 51 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศ จำนวน 6.78 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 14.4 จากช่วงเดียวของปีก่อน
2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ แบงค์ชาติหมดทางเลือก เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเสนอรายงานเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ภาวะ Stagflation เปรียบเทียบวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐในปี 1970 โดยเฟดไม่ได้สนับสนุนนโยบายทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดในภาวะราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น เพราะเชื่อว่าราคาน้ำมันและเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงมาเองเมื่อเวลาผ่านไป แต่ผลกลับออกมาตรงกันข้าม ทำให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงในเวลาต่อมา และเห็นว่าขณะนี้เงินเฟ้อของไทยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่ามีโอกาสแตะระดับเลข 2 หลักในบางเดือนของไตรมาส 3/2551และจะมีค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ร้อยละ7.4-8.0 จำเป็นที่กนง.ต้องพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของปีเพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม
-สศค. วิเคราะห์ว่า จากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิ.ย. 2551 อยู่ที่ระดับร้อยละ8.9 โดยมีอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับร้อยละ3.6 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นเช่นนี้ จนอาจเกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการดำเนินนโยบายทางการเงินจำเป็นต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง คำนึงถึงผลลัพธ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเป็นอย่างดี ประกอบกับการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว ผ่านการเบิกจ่ายงบประมาณได้รวดเร็ว จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อได้
3.ธนาคารโลกเร่ง จี-8 แก้อาหารแพง
- สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ประธานธนาคารโลกได้ส่งสำเนาจดหมายต่อผู้นำของแต่ละประเทศในกลุ่ม จี-8 โดยระบุว่า ถือเป็นครั้งแรกนับจากปี 2516 ที่ประเทศต่างๆต้องเผชิญภาวะน้ำมันและอาหารแพงเป็นประวัติการณ์ในเวลาเดียวกัน ก่อให้เกิดความเสี่ยงว่าหลายประเทศจะประสบปัญหาความยากจนและไร้เสถียรภาพทางสังคมมากขึ้น
- รัฐบาลประเทศต่างๆวิตกว่าตลาดอาหารโลกจะทรุดตัวและเร่งสะสมอาหาร ซึ่งเป็นการผลักดันราคาให้สูงขึ้นไปอีก จี-8 และประชาคมโลกควรพิจารณาระบบสำรองอาหารโลกสำหรับภาวะฉุกเฉินลักษณะเดียวกับองค์การพลังงานสากล (IEA) ซึ่งประสานความร่วมมือในการสำรองน้ำมันฉุกเฉินโดยประเทศสมาชิก
- สศค. วิเคราะห์ว่า หากประชาคมโลกมีการพิจารณาจัดตั้งระบบสำรองอาหารโลกน่าจะช่วยลดภาวะกดดันราคาอาหารโลกที่เป็นส่วนหนึ่งของแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อลงได้ในระดับหนึ่ง โอกาสนี้ในบางประเทศเช่น สิงคโปร์ ที่เป็นประเทศนำเข้าอาหารสุทธิ มีมาตรการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาบริโภคอาหารแช่แข็งที่มีราคาถูกกว่าอาหารสด
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ