Economic Indicators: This Week
หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ เดือน เม.ย. 51 อยู่ที่ระดับร้อยละ 36.11 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 35.8 เนื่องจากในเดือนนี้มีการปรับฐาน GDP ณ ราคาปัจจุบัน (Nominal GDP) จากเดิม 9,158 พันล้านบาท เป็น 9,419 พันล้านบาท รวมถึงการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงที่เพิ่มขึ้นสุทธิ 39.9 พันล้านบาท จากการออกพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรออมทรัพย์และตั๋วเงินคลัง เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในรอบเดือน เม.ย. 51 ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน (ที่รัฐบาลค้ำประกัน) สุทธิ 13.9 พันล้านบาท จากการออกพันธบัตรของ ขสมก.และ กคช. และการกู้ระยะยาวของ กคช.และการทางพิเศษฯ อย่างไรก็ดี ในส่วนของหนี้ต่างประเทศเมื่อแปลงเป็นเงินบาทกลับลดลง 7.9 พันล้านบาท จากการแข็งค่าของเงินบาท ในช่วงที่ผ่านมา
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิ.ย. 51 สูงขึ้นร้อยละ 8.9 ต่อปี สูงกว่าที่ คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 8.7 ต่อปี และเป็นการสูงขึ้นมากจากเดือนพ.ค. ที่ร้อยละ 7.6 ต่อปี มาจากการสูงขึ้นของดัชนีน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลักที่ร้อยละ 44.7 ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี มาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป วัสดุก่อสร้าง และค่าโดยสารสาธารณะ เป็นหลัก ทั้งนี้ สศค. ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของปี 51 อยู่ที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงครึ่งหลังของปีที่ 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนในช่วงครึ่งหลังของปีอยู่ที่ 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ เดือน พ.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -5.0 ต่อปี และเป็นการปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.3 ต่อปี แต่ถ้าเทียบการเปลี่ยนแปลงรายเดือนแล้วขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ร้อยละ 8.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการคาดว่าปัจจัยเสี่ยงจากราคาวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการเร่งสำรองวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน โดยในเดือน พ.ค.51 ราคาเหล็กและปูนซีเมนต์ขยายตัวในอัตราสูงที่ร้อยละ 67.2 และ 7.2 ต่อปี ตามลำดับประกอบกับปัจจัยบวกจากมาตรการให้การสนับสนุนและช่วยเหลือภาครัฐที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะที่ประกาศไปเมื่อสิ้นเดือน มี.ค.51 มีส่วนจูงใจใหภ้ คธุรกิจเรง่ ทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์และเร่งซื้อวัตถุดิบ เช่น ปูนซีเมนต์มากขึ้น ทำให้ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์กลับมาพลิกฟื้นขึ้นในเดือน พ.ค.
ดัชนีอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 11.3 ต่อปี โดยมีสาเหตุจาก 1) การผลิตสินค้าเครื่องประดับอัญมณี ที่หดตัวลดลงที่ร้อยละ -29.3 ต่อปี เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปีเนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงของประเทศผู้สั่งซื้อรายใหญ่เช่น สหรัฐฯ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ 2) การหดตัวลงมากของการผลิตกระเป๋าเดินทางที่หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 99.7 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 98.3 ต่อปี และ 3) การผลิตน้ำตาลที่ลดลง เนื่องจากเป็นฤดูกาลที่โรงงานปิดหีบน้ำตาล อย่างไรก็ดี สินค้าที่มีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว รถจักรยานยนต์ และการผลิตสินค้าส่งออกหลัก เช่น Hard Disk Drive ยานยนต์ เป็นต้น
Economic Indicators: Next Week
รายจ่ายรัฐบาลในเดือน มิ.ย. 51 คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ประมาณ 146.2 พันล้านบาท หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ร้อยละ -12.9 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานที่สูงในเดือนมิ.ย. 50 โดยในเดือนมิ.ย. 51 คาดว่ารายจ่ายประจำจะสามารถเบิกจ่ายได้ประมาณ 110.0 พันล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ -13.0 ต่อปีโดยมีการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำสำคัญ เช่น งบกองทุนหลักประกันสุขภาพ 4.0 พันล้านบาท และงบชำระหนี้ของรัฐบาล 20.0 พันล้านบาท ในขณะที่รายจ่ายลงทุนคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ประมาณ 30.2 พันล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ -6.2 ต่อปี แม้ว่าส่วนราชการหลักจะสามารถเร่งเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนได้มากขึ้น เนื่องจากในช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้วได้มีการโอนงบรายจ่ายลงทุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 18.3 พันล้านบาท ในขณะที่ในปีงบประมาณนี้คาดว่าจะมีการโอนงบรายจ่ายลงทุนให้แก่ อปท. จำนวนประมาณ 15.0 พันล้านบาท
รายได้จัดเก็บรัฐบาลเดือน มิ.ย. 51 คาดว่าจะมีรายได้จัดเก็บสุทธิ 109.1 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี โดยภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11.1 ต่อปี ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.4 ต่อปี เนื่องจากทิศทางการนำเข้าและอุปสงค์เพื่อการบริโภคที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากปัจจัยราคาที่เพิ่มสูงขึ้นขณะเดียวกัน ภาษีฐานรายได้ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล) คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเช่นกันที่ร้อยละ 8.7 ต่อปี โดยมีปัจจัยลบจากฐานเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยชะลอลง
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่เดือน มิ.ย. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 ต่อปีชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 ต่อปี อันเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมากตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มซึ่งในเดือนมิ.ย. เร่งขึ้นที่ร้อยละ 8.9 ต่อปี ส่งผลทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง นอกจากนั้น สถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มตึงเครียดขึ้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อสินค้าคงทนออกไป
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน มิ.ย. 51 คาดว่าขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงที่ร้อยละ 20.0 ต่อปี ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 20.4 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า(ปรับฐาน ณ อัตราภาษีใหม่ที่ร้อยละ 0.1) ซึ่งเป็นผลจากมาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะจากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 3.0 เป็นอัตราใหม่ที่ร้อยละ 0.1 เมื่อสิ้นเดือน มี.ค. 51 และจะสิ้นสุดผลบังคับใช้ ในเดือน มี.ค. 52 ซึ่งจะมีส่วนจูงใจให้ภาคธุรกิจเร่งทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป คาดว่าธุรกรรมภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างจะเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากราคาวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง
Foreign Exchange Review
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อ่อนค่าลง ยกเว้นค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน
สาเหตุที่ค่าเงินคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 4.25 ในการประชุมวันที่ 3 ก.ค.ตามที่ตลาดคาด หลังจากเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 4 อย่างไรก็ตาม ECB ส่งสัญญาณว่าอาจไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในระยะใกล้เนื่องจากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจชะลอตัวมีมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐหลายตัวมิได้ตกต่ำมากดังเช่นที่ตลาดคาด โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย. ที่หดตัว 6.2 หมื่นคนต่ำกว่าที่ตลาดว่าจะหดตัว 1 แสนตำแหน่ง ขณะที่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสถาบัน ISM ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมิได้ตกต่ำรุนแรงดังคาด ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สามารถให้ความสำคัญกับภาวะเงินเฟ้อได้มากขึ้นและเป็นไปได้ว่าอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยหากความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งทิศทางดอกเบี้ยที่แตกต่างกันระหว่างสหรัฐและยุโรปนี้ทำให้นักลงทุนถอนการลงทุนจากยุโรปและตลาดอื่น ๆ และกลับมาลงทุนในสหรัฐมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลอื่นจึงแข็งค่าขึ้น นอกจากนั้น ภาวะราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง (ปัจจุบันอยู่ที่ 144 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ทำให้นักลงทุนกังวลในทิศทางเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มเอเชียโดยเฉพาะฟิลิปปินส์และเกาหลี จึงถอนการลงทุนจากสองประเทศดังกล่าว ค่าเงินทั้งสองเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจึงอ่อนค่าลงมาก
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากทางการของทั้งสามเขตเศรษฐกิจ(โดยเฉพาะสิงคโปร์) มีแนวโน้มจะแทรกแซงค่าเงินให้แข็งค่าขึ้นเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อจากภาวะราคาสินค้านำเข้าที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ค่าเงินทั้งสามแข็งค่าขึ้น
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักทุกสกุลแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน
สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าแข็งค่าขึ้นในทุกสกุลเนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากในช่วงที่ผ่านเนื่องจากเผชิญแรงกดดันจากทั้งสถานการณ์ทางการเมืองและราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งการที่ ธปท. แทรกแซงค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่น ๆ นั้น ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับสกุลอื่น ๆ โดยเฉพาะสกุลหลัก เช่น ยูโร เยน และปอนด์สเตอลิงค์ รวมถึงค่าเงินเอเชียบางสกุลเช่น วอนเกาหลี และเปโซฟิลิปปินส์ที่อ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 27 มิ.ย. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 4.07 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 3.47 ค่อนข้างมาก
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 25) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 14) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 14) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 13) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 6) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 5) เงินเยน (ร้อยละ 4) และริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 1) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 1) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับหยวน (ร้อยละ 2) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 3) และยูโร (ร้อยละ 9)
Foreign Exchange and Reserves
ในสัปดาห์ก่อน ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation ณ วันที่ 20 มิ.ย. 51ลดลงสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน-0.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 124.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐโดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 0.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลง คาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วพบว่านักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิที่ประมาณ 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้ สะท้อนว่า ความต้องขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติที่มีมากกว่าผลจากการเข้าแทรกแซงของทางการ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (13 มิ.ย. 51) 0.10 บาท จาก 33.44 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.54 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 27 มิ.ย.51 หรือ อ่อนค่าลงคิดเป็นร้อยละ 0.31
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non farm payroll) ของสหรัฐเดือนมิ.ย. 51 ลดลง -62,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะจากการจ้างงานในภาคบริการ (Professional business services) ที่ลดลง -51,000 ตำแหน่งส่งผลให้การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย.51 ลดลงถึง -438,000 ตำแหน่ง การจ้างงานที่ลดลงอย่างมากสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความอ่อนแอมาก และคาดว่าสถานการณ์เช่นนี้จะต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 51 นี้ อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานในเดือนมิ.ย. 51 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.5
ISM Manufacturing Index ของสหรัฐเดือนมิ.ย. 51 อยู่ที่ 50.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. ที่ระดับ 49.6 นับเป็นระดับที่สูงกว่า 50 (ระดับที่สะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการผลิตอุตสาหกรรมมีการขยายตัว)เป็นเดือนแรกนับตั้งแต่ต้นปี 51 โดยได้รับการสนับสนุนจากการผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินและอากาศยาน รวมถึงเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ นอกจากนี้ การผลิตในเดือนมิ.ย. ที่เพิ่มขึ้นน่าจะเป็นผลมาจากภาวะน้ำท่วมในทางตอนกลางของประเทศ (Midwest) ส่งผลต่อความต้องการสินค้าให้เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตาม ตัวเลข ISM ที่ออกมาดียังไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐกลับมาฟื้นตัวแล้ว
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Refinancing rate ร้อยละ 0.25 จากระดับที่ร้อยละ 4.0 มาเป็น 4.25 ต่อปีเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (HICP Flashestimate) ของยูโรโซนเดือนมิ.ย. 51 ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปีจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี สาเหตุหลักยังคงมาจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ ECB ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี ดังนั้น ECB จึงมีการส่งสัญญาณล่วงหน้าแล้วว่าจะดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดขึ้น เพื่อช่วยควบคุมเงินเฟ้อ
ดุลการค้าเกาหลีใต้เดือน มิ.ย. 51 กลับมาขาดดุลอีกครั้งที่ -0.28 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หลังเกินดุลในเดือนพ.ค. ที่ 0.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นผลจากการนำเข้าที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 32.3 ต่อปี จากร้อยละ 28.8 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า และการส่งออกที่ขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 17.0 ต่อปีจากร้อยละ 26.9 ต่อปีในเดือนพ.ค. 51 เนื่องจากการประท้วงของคนขับรถส่งของทำให้การขนส่งล่าช้าในช่วงวันที่ 12 -19 มิ.ย. 51 ซึ่งทำให้เกิดการชะงักของการส่งออกมูลค่าถึง 3.6 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และการส่งออกไปยังยุโรปที่ลดลง แม้จะมีการขยายตัวของการส่งออกไปยังจีน ตะวันออกกลางและละตินอเมริกามาช่วยชดเชยบ้าง
ดุลการค้าอินโดนีเซียเดือน พ.ค. 51 เกินดุลที่ 1.2 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จากที่ขาดดุล -0.5 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในเดือน เม.ย. 51 โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 31.4 ต่อปี จากร้อยละ 23.1 ต่อปีในเดือนเม.ย. 51 โดยมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สหภาพยุโรปมาเลเซีย เกาหลีใต้และจีนเพิ่มขึ้น ส่วนการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 50.1 ต่อปีชะลอลงจากร้อยละ 66.2 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า โดยมีการนำเข้าสินค้าที่เป็นน้ำมันชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 73.6 ต่อปี ในเดือนเม.ย. 51 เป็นร้อยละ 70.6 ต่อปี และการนำเข้าสินค้าที่มิใช่น้ำมันขยายตัวชะลอลงจากร้อยละ 63.2 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้ามาเป็นร้อยละ 41.4 ต่อปี
อัตราเงินเฟ้อเกาหลีใต้เดือน มิ.ย. 51 อยู่ที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี เร่งจากร้อยละ 4.9 ต่อปี ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลจากราคาน้ำมันและราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นมากตามราคานำเข้าของสินค้าทั้ง 2 หมวด
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของอินโดนีเซียเดือน มิ.ย. 51 อยู่ที่ร้อยละ 11.0 ต่อปีสูงที่สุดในรอบ 21 เดือน เร่งจากร้อยละ 10.4 ต่อปี ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ผลจากราคาน้ำมันและราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นมากตามราคาในตลาดโลก โดยราคาอาหารสดเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 ต่อปี เร่งจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 18.2 ต่อปีและราคาอาหารแห้งสูงขึ้นร้อยละ 9.7 ต่อปี เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 19.6 ต่อปี ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นผลักให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ต่อปีเร่งจากร้อยละ 2.09 ต่อปีในเดือนพ.ค. 51 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 8.7 ต่อปี เร่งจากร้อยละ 8.2 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า
Major Trading Partners’ Economies: Next Week
ดุลการค้าของสหรัฐเดือนพ.ค. 51 คาดว่า จะขาดดุลที่ระดับประมาณ -60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมูลค่านำเข้าที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลกแม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูงก็ตาม
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง www.fpo.go.th