Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 ก.ค.51
SUMMARY:
- “น้ำมัน” ดันเงินเฟ้อ 2 หลัก พาณิชย์ปรับคาดการณ์ทั้งปี
- ธปท.แจงเศรษฐกิจทรุดหนี้เสียโผล่
- ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าการประชุมสุดยอด G-8
HIGHLIGHT:
1. “น้ำมัน” ดันเงินเฟ้อ 2 หลัก พาณิชย์ปรับคาดการณ์ทั้งปี
- อธิบดีกรมการค้าภายใน เผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกประมาณการเงินเฟ้อทั้งปีที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 5 — 5.5 ต่อปี ภายใต้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 100 -150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เงินบาทที่ 31 -32 บาทต่อดอลลาร์ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.25 ซึ่งสมมติฐานทั้งหมดนี้ได้เปลี่ยนแปลงเกือบทุกรายการซึ่งล้วนเป็นปัจจัยหลักที่กดดันเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้น
- ทั้งนี้ การคาดการณ์ราคาน้ำมันในขณะนี้อยู่ที่ระดับ 170 — 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศเฉลี่ยลิตรละ 50 บาท ทำให้เงินเฟ้อน่าจะมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับเลข 2 หลัก ได้
- สศค.วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาจากสาเหตุหลัก 2 ประการคือ 1) ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และ 2) ปัจจัยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน ซึ่งปัจจัยทั้ง 2 ประการนี้ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์มีการปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อใหม่จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สศค.คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อในปี 2551 จะอยู่ที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.0-8.0 ต่อปี) โดยมีสมมติฐานราคาน้ำมันดูไบครึ่งหลังของปีจะอยู่ที่ 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ราคาเฉลี่ยดูไบทั้งปี 2551 อยู่ที่ 116 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
2. ธปท.แจงเศรษฐกิจทรุดหนี้เสียโผล่
- รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ มีแรงกดดันต่อการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบสถาบันการเงินมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการประกอบการและค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการชำระคืนของลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มลดลง อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้ยังไม่ได้สร้างความกังวลต่อยอดหนี้เสียของระบบธนาคารพาณิชย์มากนัก เนื่องจากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการรักษาคุณภาพการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการดูแลลูกหนี้ที่ขอสินเชื่อรายเดิมและสินเชื่อรายใหม่มากขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า ข้อมูลล่าสุด Gross NPLs (ณ สิ้นไตรมาส) ของระบบธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ร้อยละ 6.8 ของสินเชื่อรวม จากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 7.3 ของสินเชื่อรวม ขณะที่ยอดสินเชื่อรวมในระบบเดือนพ.ค.ยังขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 8.4 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย.ที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 ต่อปี แสดงถึงสัญญาณในด้านบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างไรก็ตาม หากในช่วงที่เหลือของปี 2551 อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจจะส่งผลให้ยอด NPL เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาระหนี้ของภาคเอกชนและธุรกิจจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการชำระหนี้ในอนาคต
3. ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าการประชุมสุดยอด G-8
- การประชุมสุดยอดผู้นำประเทศอุตสาหกรรม 8 ประเทศ (G 8) ได้เปิดฉากแล้วในวันนี้ (7 ก.ค.) โดยภารกิจหลักคือการหาแนวทางร่วมกันในการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกที่กำลังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและอาหารที่แพงขึ้น จนส่งผลให้เกิดการประท้วงทั่วโลก ประกอบกับปัญหาสินเชื่อในตลาดการเงินสหรัฐ(ซับไพร์ม)ที่อาจส่งผลกระทบอีกครั้งหนึ่ง นอกจากประเทศ G 8 แล้ว ยังจะมีผู้นำจากอีก 15 ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึง จีน อินเดีย บราซิล ออสเตรเลีย และ 8 ชาติแอฟริกาเข้าร่วมหารือในวาระการประชุมเรื่องโลกร้อนและการบรรเทาปัญหาความยากจนด้วย
- สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวชะลองมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 2.0 และ 1.3 ต่อปี ตามลำดับเนื่องจากปัญหาซับไพร์มที่จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคการลงทุนของประเทศอุตสาหกรรมลดลง อย่างไรก็ตาม สศค.คาดว่า เศรษฐกิจเอเชียและตะวันออกกลางจะยังคงขยายตัวได้ในระดับสูงแม้ว่าจะขยายตัวชะลอลงจากปีก่อน ดังนั้นไทยควรมีการกระจายตลาดสินค้าไปยังประเทศดังกล่าว เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th