รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 9, 2008 11:45 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9  ก.ค.51
SUMMARY:
- ครม.อัดฉีด 2.5 พันล้านบาทปรับค่า K ร้อยละ 2 ช่วยเหลือผู้รับเหมาก่อสร้าง
- ปัจจัยลบรุม ฉุดการส่งออกปี 51 ขยายตัวเพียงร้อยละ 16.9
- เตือนเงินเฟ้อยุโรปพองตัวเกินควบคุม
HIGHLIGHT:
1. ครม.อัดฉีด 2.5 พันล้านบาทปรับค่า K ร้อยละ 2 ช่วยเหลือผู้รับเหมาก่อสร้าง
- ครม.เห็นชอบการให้การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพงานก่อสร้าง ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยการปรับการคำนวณเงินเพิ่มลดค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) โดยชดเชยราคาวัสดุครอบคลุมทุกประเภทร้อยละ 2 ของงบประมาณก่อสร้าง จากเดิมชดเชยเฉพาะราคาน้ำมันและเหล็กที่มีราคาปรับสูงขึ้นแก่ผู้ประกอบการร้อยละ 4 ของมูลค่างานก่อสร้าง ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่ารัฐบาลจะมีค่าจ่ายจากการดำเนินดังกล่าวในปีงบประมาณ 51 ประมาณ 2,580 ล้านบาท ซึ่งมีงบประมาณก่อสร้างในโครงการต่างๆ 129,000 ล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่าจากปัญหาราคาน้ำมันและวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบอาชีพงานก่อสร้างรับภาระค่าใช้จ่ายต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาการชะลอการก่อสร้างส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งการปรับเพิ่มเงินค่า Escalation Factor หรือค่า K นั้น เป็นการปรับเพิ่มค่างานในวันเปิดซองใบเสนอราคาเพื่อให้ผู้รับเหมาได้รับค่างานที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับต้นทุนงานก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว ซึ่งจะเป็นปัจจัยส่งเสริมการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง และเป็นการส่งเสริมความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุน
2. ปัจจัยลบรุม ฉุดการส่งออกปี 51 ขยายตัวเพียงร้อยละ 16.9
- ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดการส่งออกครึ่งหลังปี 51จะขยายตัวร้อยละ 13.2 มูลค่า 92,282 ล้านดอลลาร์ ชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวร้อยละ 21.1 โดยคาดการณ์ทั้งปี 51 การส่งออกรวมทั้งปี 51 จะขยายตัวเพียงร้อยละ 16.9 มูลค่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์ ชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 17.5 ขณะที่ต้นทุนพุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 50 เผยปีนี้ขาดดุลการค้าครั้งแรกรอบ 3 ปี มูลค่า 3,906 ล้านดอลลาร์ โดยมีสาเหตุมาจาก ศ.ก.โลกที่ชะลอตัว ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะขยายตัว 13.1% และทั้งปีอยู่ที่ 9.7 % และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่าปริมาณการส่งออกสินค้า ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 11.3 ต่อปี สูงกว่าไตรมาส 1 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 ต่อปี สะท้อนว่าปริมาณการส่งออกยังสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่ง และผลของเงินบาทอ่อนและ Export Decoupling ที่มากขึ้นจะช่วยให้การส่งออกทั้งปี ดีกว่าปีที่ผ่านมา
3. เตือนเงินเฟ้อยุโรปพองตัวเกินควบคุม
- นายฮัวควิน อัลมูเนีย กรรมาธิการเศรษฐกิจและกิจกรรมการเงิน สหภาพยุโรป (อียู) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร (ยูโรโซน) ที่
กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ว่า ภาวะช๊อกจากอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันมีความรุนแรงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดผลกระทบระลอกสอง หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานครั้งใหญ่ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงเกินการควบคุม
- นอกจากนี้ นายอัลมูเนียยังกล่าวว่า ผลกระทบระลอกสองเกิดขึ้นแล้วในพื้นที่บางส่วนของยูโรโซน แต่ยังเป็นแค่ความเสี่ยงไม่ใช่ปัญหาร้ายแรง ประเทศสมาชิกควรป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวที่จะพัฒนาเป็นปัญหาที่แท้จริงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และเตือนด้วยว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่ควรปรับเพิ่มราคาน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านการจัดเก็บภาษีทางอ้อม
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนในเดือนมิ.ย. 51 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี นับเป็นการขยายตัวรวดเร็วที่สุดในรอบ 16 ปี ทั้งนี้ ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลให้ประชาชนลดการใช้จ่ายโดยเฉพาะสินค้าประเภทคงทน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงการชะลอตัวลงของการขยายตัวทาง GDP โดยในปี 51 สศค. คาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ