รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 กรกฎาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 10, 2008 11:18 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่  10  ก.ค.51
SUMMARY:
- ยอดแอลพีจีครัวเรือนสูงเกินจริง พลังงานเชื่อลอบถ่ายภาคขนส่ง
- น้ำมันดิ่ง 6 ดอลลาร์ หวั่นเศรษฐกิจโลกเบรกแรง
- เศรษฐกิจจีนก้าวเป็นเบอร์1 ปี 2578
HIGHLIGHT:
1. ยอดแอลพีจีครัวเรือนสูงเกินจริง พลังงานเชื่อลอบถ่ายภาคขนส่ง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่าปริมาณการใช้แอลพีจีเพิ่มสูงขึ้นทั้งภาคขนส่ง อุตสาหกรรม และครัวเรือน โดยเดือน ก.ค. นี้มีการใช้แอลพีจีในทุกภาคส่วนรวม 385,000 ตัน เป็นการใช้ในปิโตรเคมี 90,000 ตัน ภาคขนส่ง 60,000 ตัน อุตสาหกรรม 58,000 ตัน และครัวเรือน 177,000 ตัน ในส่วนของครัวเรือนที่มีการเติบโตที่สูงเกินจริงนั้น ต้องหาข้อเท็จจริงต่อไปว่ามีการนำแอลพีจีในครัวเรือนไปใช้ในส่วนอื่นๆ หรือไม่ อาทิเช่น นำถังแอลพีจีในครัวเรือนไปใช้ในภาคขนส่งซึ่งถือว่าอันตราย หรืออาจมีการลักลอบส่งออกขายต่างประเทศไปตามแนวชายแดน
- สศค.วิเคราะห์ว่าปริมาณการใช้แอลพีจีที่สูงขึ้นสะท้อนว่าปัจจุบันคนไทยได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 130-140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกทะลุ 40 บาทต่อลิตร ทำให้หันมาใช้พลังงานทดแทน เช่น แอลพีจี มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตความต้องการแอลพีจีซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้านั้นเพิ่มมากขึ้นและอาจส่งผลให้มีการทยอยปรับขึ้นราคา ประกอบกับราคาน้ำมันยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในระยะยาวภาครัฐจึงควรส่งเสริมให้มีการจัดหาพลังงานทดแทนประเภทอื่น เช่น พลังงานชีวมวล ลม แดด และน้ำ มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งมากขึ้น
2. น้ำมันดิ่ง 6 ดอลลาร์ หวั่นเศรษฐกิจโลกเบรกแรง
- ราคาน้ำมันในตลาดสหรัฐเมื่อวันที่ 9 ก.ค. ดิ่งฮวบลง 6 US$เหลือที่ 135.14 US$/BLL ขณะที่ราคาน้ำมันเบรนท์ของลอนดอน ดิ่งลงถึง 5.37 US$ มาอยู่ที่ 136.50 US$/BLL เมื่อปิดตลาดเมื่อคืนวันที่ 8 ก.ค. สำหรับตลาดเอเชียราคาในการซื้อขายได้ปรับเพิ่มขึ้นที่ 136.04 US$/BLL หลังจากกระแสวิตกต่อการซ้อมขีปนาวุธของอิหร่าน และการที่ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงนั้น เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง อาจทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงตามไปด้วย
- สศค.วิเคราะห์ว่าภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงในช่วงนี้ เป็นเพียงภาวะชั่วคราว เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงน่าจะมีผลทางจิตวิทยาต่อการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อของประชาชนได้มากกว่า เนื่องจาก 1) ความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในจีน อินเดียและตะวันออกกลาง 2) ปัญหาการเก็งกำไรน้ำมันยังคงมีอยู่ ตราบใดที่เงินดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่า และ 3) การเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันยังมีอยู่จำกัด ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงหากมีสาเหตุจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจริงอาจส่งผลต่อกลุ่มประเทศผู้ส่งออก
3. เศรษฐกิจจีนก้าวเป็นเบอร์ 1 ปี 2578
- นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันคาร์เคกี้ เอนดาวเมนท์ ฟอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล พีซ ได้ประเมินว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยภายในประเทศมากกว่าการส่งออก และมีแนวโน้มว่าจะสามารถรักษาการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพไว้ได้อีกหลายทศวรรษนั้น คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับเศรษฐกิจสหรัฐประมาณปี 2563 ด้วยมูลค่า GDP ราว 18 ล้านล้านดอลลาร์ และจะแซงหน้าเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในปี 2578 จากนั้นในปี 2593 GDP จีนน่าจะอยู่ราว 82 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับสหรัฐที่ GDP น่าจะอยู่ราว 42 ล้านล้านดอลลาร์
- สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนปี 51 คาดว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปีก่อนที่ร้อยละ 10.0 ต่อปี แม้ว่าจะชะลอลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 11.4 จากปีก่อน ตามนโยบายรัฐบาลจีนที่มีมาตรการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ เช่น การปรับเพิ่มอัตราเงินสดสำรองธนาคารพาณิชย์ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นต้น แต่คาดว่าไม่ได้ผลมากนัก เนื่องจาก จีนมีการขยายการลงทุนเพื่อเตรียมตัวการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคในเดือนส.ค. อย่างไรก็ตาม จีนมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องอัตราเงินที่สูงถึงร้อยละ 8.0 ต่อปี ในไตรมาส 1 ปี 51ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในประวัติศาสตร์
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ