รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 11, 2008 11:52 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่  11  ก.ค.51
SUMMARY:
- บัวหลวงคาด กนง. ขึ้นดอกเบี้ยครึ่งปีหลัง สูงสุดร้อยละ 0.75
- การส่งออกของจีนเริ่มชะลอลง
- เศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาส 2 ปี 51 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่ำสุดในรอบ 5 ปี
HIGHLIGHT:
1. บัวหลวงคาด กนง. ขึ้นดอกเบี้ยครึ่งปีหลัง สูงสุดร้อยละ 0.75
- รายงานจากฝ่ายวิจัย ธ.กรุงเทพ ในเดือน มิ.ย. ระบุว่าทางธนาคารคาดการว่าในครึ่งปีหลัง ธปท. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.5-0.75 เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเป็นสำคัญ ส่วนธ.พาณิชย์จะขึ้นดอกเบี้ยตามหรือไม่นั้นอยู่ที่สภาพคล่องของแต่ละธนาคาร สำหรับสถานการณ์เงินฝากในระบบธ.พาณิชย์ เดือน พ.ค.มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ถ้าเทียบกับสิ้นปี2550 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.3แสนล้านหรือร้อยละ 6.6 สาเหตุจากแต่ละธ.จัดโปรแกรมรณรงค์เงินฝากผ่านการปรับขึ้นดอกเบี้ยประจำแบบพิเศษ โดย ธ.ที่มีการขยายตัวสูงสุดใน3อันดับแรกคือ ธ.ไทยพาณิชย์, ธ.กสิกรไทย, ธ.กรุงไทย ซึ่งมีการเพิ่มขึ้นของเงินฝากร้อยละ 11.6, 7.5, 6.3 ตามลำดับ
- สศค. วิเคราะห์ว่า การเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึง ณ เดือน มิ.ย. มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 8.9 โดยมีอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงถึงร้อยละ 3.6 นั้นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้หลายฝ่ายออกมาคาดการณ์ถึงทิศทาง การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านราคา อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาถึงการขยายตัวของเงินฝาก และสินเชื่อในระบบธ.พาณิชย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง แสดงถึงสภาพคล่องที่ดีในระบบธนาคาร ถึงแม้ฐานลูกค้าส่วนมากที่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อย (SME) จะประสบกับปัญหาจากภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในขณะนี้
2. การส่งออกของจีนเริ่มชะลอลง
- การส่งออกจีนในเดือนมิ.ย. 51 ขยายตัวร้อยละ 17.6 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 28.1 ต่อปี ผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและการแข็งค่าของเงินหยวน ในขณะที่การนำเข้าสินค้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ประมาณร้อยละ 31.0 ต่อปี ตามราคาสินค้าวัตถุดิบที่มีราคาสูงขึ้น ทำให้ดุลการค้าเกินดุลลดลงในเดือนที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า กลุ่มนักวิเคราะห์และธนาคารส่วนใหญ่กำลังกังวลว่า รัฐบาลจีนจะให้ความสำคัญกับปัญหาเงินเฟ้อหรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อาจชะลอลงตามการส่งออกที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวต่อไปในครึ่งปีหลัง
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ค่าเงินหยวนของจีนที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีส่วนทำให้ดุลการค้าเกินดุลลดลง ในขณะเดียวกันก็ทำให้ปัญหาเงินเฟ้อในจีนไม่รุนแรงมากนัก อย่างไรก็ตาม หากค่าเงินหยวนแข็งขึ้นอีกอาจทำให้การส่งออกชะลอลงต่อเนื่องไปอีกในช่วงครึ่งหลังของปีเนื่องจากการสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันไป ดังจะเห็นได้ว่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องประดับเริ่มมีการส่งออกชะลอลง
3. เศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาส 2 ปี 51 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่ำสุดในรอบ 5 ปี
- กระทรวงการค้าสิงคโปร์แถลงว่าผลิตภัณฑ์มวลในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 2 ปี 51 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี ต่ำสุดในรอบ 5 ปี หลังจากขยายตัวร้อยละ 6.9 ในไตรมาสแรก เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายปล่อยให้ค่าเงินแข็งค่า เพื่อชะลอเงินเฟ้อแต่กระทบต่อภาคการส่งออกส่งผลให้นักวิเคราะห์ทั้งหลายกังวลว่าเศรษฐกิจเอเชียจะเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว
- นอกจากนี้สถาบันต่างๆโดยเฉพาะ สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจสิงคโปร์ลงอยู่ที่ร้อยละ 3.5 จากเดิมร้อยละ 4.5 สศค. วิเคราะห์ว่า เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสิงคโปร์ปี 51 จะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี หากเศรษฐกิจสหรัฐยังชะลอตัวจากวิกฤตซับไพร์ม เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีลักษณะเปิดมากกว่าร้อยละ 60 และพึ่งพิงสหรัฐเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงถึงร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเดือนพฤษภาคม 51 ที่จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียคาดว่ายังคงขยายตัวได้ในระดับสูงแม้ว่าจะขยายตัวชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากประเทศต่างๆในเอเชียมีการค้าขายระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ปัญหาอัตราเงินเฟ้อก็ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ