รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 7-11 ก.ค.2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 14, 2008 12:01 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
รายจ่ายรัฐบาลในเดือน มิ.ย. 51 สามารถเบิกจ่ายได้ 143.0 พันล้านบาท หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ร้อยละ -12.9 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานที่สูงในเดือนมิถุนายน 50 ทั้งนี้ รายจ่ายประจำสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 107.0 พันล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ -15.0 ต่อปี โดยมีการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่สำคัญ เช่น งบกองทุนหลักประกันสุขภาพจำนวน 4.0 พันล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนสวัสดิการของภาครัฐ ในขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 30.0 พันล้านบาท หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -7.6 ต่อปี โดยมีการโอนงบเงินหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 15.0 พันล้านบาท เพื่อเร่งรัดการกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจระดับรากหญ้าอย่างไรก็ตาม สาเหตุที่รายจ่ายลงทุนหดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -7.6 ต่อปี มาจากฐานที่สูงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากในปีที่แล้วได้มีการโอนเงิน
งบอุดหนุนให้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อปท. กว่า 18.0 พันล้านบาท
รายได้สุทธิรัฐบาลเดือน มิ.ย. 51 สามารถจัดเก็บได้สุทธิ (ก่อนหักจัดสรร VAT ให้ อปท.) 113.7 พันล้านบาท ขยายตัวในอัตราร้อยละ 10.8 ต่อปีโดยในเดือนนี้มีการหักจัดสรรฯ 10.9 พันล้านบาท โดยภาษีสำคัญที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นในระดับสูง ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่รายได้นำส่งจากรัฐวิสาหกิจขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 138.4 ต่อปี โดยเป็นการนำส่งในส่วนของค่าธรรมเนียมการให้บริการสื่อสาร (เพื่อชดเชยภาษีโทรคมนาคม) ของ บ.ทีโอทีฯ และ บ.กสท.เป็นสำคัญ ทั้งนี้ เมื่อพิจาณาฐานภาษี พบว่าภาษีฐานรายได้ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) จำนวน 33.8 พันล้านบาท ขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.7 ต่อปี ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 21.5 เนื่องจากช่วงเดือนก่อนหน้าที่เป็นช่วงครบกำหนดชำระภาษีเงินได้บุคคลจากกำไรสุทธิรอบสิ้นปีบัญชี 50 ในด้านการจัดเก็บภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) นั้น จำนวน 42.4 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 16.0 ต่อปี สะท้อนการบริโภคและการนำเข้าที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่เดือน มิ.ย. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.6 ต่อปี สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี แต่เป็นการขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาส 2 ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 9.4 ต่อปีจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงต่อเนื่องตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เร่งตัวขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง โดยในเดือน มิ.ย. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 8.9 ต่อปี นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองที่ยังคงยืดเยื้อส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง บ่งชี้ว่าภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ไม่เต็มที่
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน มิ.ย. 51 ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงที่ร้อยละ 25.9 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 20.4 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า (ปรับฐาน ณ อัตราภาษีใหม่ที่ร้อยละ 0.1) และสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 20.0 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาส 2 ขยายตัวเร่งขึ้นมากอยู่ที่ร้อยละ 29.3 ต่อปี ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะจากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 3.0 เป็นอัตราใหม่ที่ร้อยละ 0.1 เมื่อสิ้นเดือน มี.ค. 51 และจะสิ้นสุดผลบังคับใช้ ในเดือน มี.ค. 52 มีส่วนจูงใจให้ภาคธุรกิจเร่งทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น แม้ว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบการภาคธุรกิจก่อสร้างจะเผชิญปัจจัยลบจากภาวะราคาเหล็กและวัสดุก่อสร้างโดยรวมที่เพิ่มขึ้นซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตก็ตาม
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เดือน มิ.ย.51 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.5 ต่อปี เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน ที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อปี เป็นผลมาจากการขยายตัวของผลผลิตข้าวนาปรัง ยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ร้อยละ 74.0 5.8 และ 73.6 ต่อปีตามลำดับ เนื่องจาก ภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ขณะที่ข้าวนาปรังรุ่นที่ 2 เริ่มให้ผลผลิตบ้างแล้ว ยังทั้งราคาในตลาดยังดีอยู่ จูงใจให้มีการเร่งเก็บเกี่ยวมากขึ้น
Economic Indicators: Next Week
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือนมิ.ย. 51 คาดว่าอยู่ที่ระดับ 70.0 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 71.8 แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการบริโภคอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงด้านภาวะเงินเฟ้อเป็นผลให้ผู้บริโภคกังวลกับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความไม่เชื่อมั่นจากเสถียรภาพทางการเมือง เห็นได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวชะลอลงในเดือน มิ.ย. ทำให้คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย.จะปรับตัวลดลงตาม
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน มิ.ย. 51 คาดว่าขยายตัวที่ร้อยละ 13.0 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 29.4 ต่อปี ซึ่งอัตราขยายตัวที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องซึ่งกระทบต่อภาระค่าครองชีพผู้บริโภค อาจทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อไปก่อน อย่างไรก็ตามการปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้ E20 ตั้งแต่ต้นปี 51 และการส่งเสริมพลังงานทางเลือกอื่นๆ น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เดือน มิ.ย. 51 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -5.0 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -3.7 ต่อปี เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้ประกอบการและทำให้ผู้ประกอบการอาจไม่เร่งเพิ่มระดับการลงทุนมากนักในระยะเวลาอันใกล้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เห็นได้จากยอดรถบรรทุกขนาด 2 ตันขึ้นไป ซึ่งเป็นขนาดที่ภาคธุรกิจ SME นิยมใช้นั้น ลดลงอย่างชัดเจน โดยในเดือน พ.ค. หดตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ -32.7 ต่อปีสอดคล้องกับระดับความเชื่อมั่นการลงทุนของธุรกิจขนาดกลางที่ปรับลดลงมาอยู่ทีระดับ 70.5 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 81.6 และขนาดย่อมที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 63.0 จากเดือนก่อนหน้าทีระดับ 75.0
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบาย ในวันที่ 16 ก.ค. 51 คาดว่าธปท.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย RP 1 วันจะปรับขึ้นจากที่ระดับร้อยละ 3.25 ต่อปี ในปัจจุบันเป็นที่ระดับร้อยละ 3.50 ต่อปี เนื่องจาก ธปท. ได้ส่งสัญญาณชัดเจนใน
การประชุมครั้งก่อนในการดูแลและรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่มีการเร่งตัวสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.6 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 6 เดือนอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.2 นอกจากนี้แล้ว ตลาดการเงินและตลาดทุนได้มีการคาดการณ์ถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงต่อไป โดยธนาคารพาณิชย์เริ่มทยอยปรับขึ้น ทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้มีการปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 1 ปีปรับตัวสูงขึ้นขึ้นร้อยละ 0.56 ต่อปี โดยปรับขึ้นจากร้อยละ 3.42 ต่อปี ณ วันที่ 21 พ.ค.(การประชุมกนง.ครั้งก่อน ) เป็นที่ระดับร้อยละ 3.98 ต่อปี ณ สิ้นวันที่ 8 ก.ค. ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงการคาดการณ์ของตลาดว่าอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวจะสูงขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 51 คาดว่าจะอยู่ใกล้เคียงระดับเดิมที่ระดับ 71.4 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการส่งออกรายใหญ่ได้รับผลกระทบทางบวกจากแนวโน้มของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออก อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ประกอบการที่ขายสินค้าภายในประเทศเป็นหลักจะได้รับผลกระทบทางลบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นประกอบกับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อทำให้ผู้บริโภคภายในประเทศชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง
Foreign Exchange Review
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะค่าเงินวอนเกาหลีใต้ ในขณะที่ค่าเงินฟิลิปปินส์เปโซอ่อนค่าลงมากที่สุด
- ค่าเงินสกุลเอเชียส่วนใหญ่ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ อินโดนีเซียรูเปียห์ มาเลเซียริงกิต สิงคโปร์ดอลลาร์ หยวน และโดยเฉพาะค่าเงินวอนเกาหลีใต้ที่แข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องมาจากธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้เข้าแทรกแซงเพื่อขายดอลลาร์สหรัฐเป็นจำนวนรวมถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยพยุงค่าเงินวอนที่อ่อนค่าลงจากการที่ดุลการค้าขาดดุลเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากมูลค่าการนำ เข้าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นตามภาวะราคาน้ำ มันในตลาดโลก ในขณะที่การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินรูเปียห์อินโดนีเซียก็มาจากการเข้าแทรกแซงของธนาคารกลางอินโดนีเซียเช่นกัน
- ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจาก ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวกับภาคการเงินของสหรัฐ ในขณะเดียวกันหุ้นของบริษัทจำนองที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ (แฟนนี เม และเฟรดดี แมค) ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 1991 ซึ่งส่งผลต่อการจำกัดความสามารถในการเพิ่มทุนที่จำเป็นต่อการซื้อเงินกู้ และลดอัตราดอกเบี้ยจำนอง สะท้อนว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐจะยังคงไม่ฟื้นตัว แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะได้รับปัจจัยบวกจากการที่ประธานเฟดและ รมว.คลังสหรัฐออกมาแถลงต่อสภาคองเกรสว่า จะดำเนินการทุกอย่างเพื่อสร้างสถียรภาพให้กับตลาดเงินก็ตาม
- อย่างไรก็ตาม ค่าเงินเยน ปอนด์สเตอริง ไต้หวันดอลลาร์ และฟิลิปปินส์เปโซ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะค่าเงินฟิลิปปินส์เปโซที่อ่อนค่าลงมากที่สุด เนื่องจากยอดขาดดุลการค้าที่สูงขึ้นอย่างมากทำให้ค่าเ งินเปโซอ่อนไหวต่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักทุกสกุลอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน
- สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าอ่อนค่าลงในทุกสกุลเนื่องจากปัจจัยปัญหาการเมืองในประเทศและตลาดหุ้นไทยที่มีแนวโน้มลดลง แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะได้เข้าแทรกแซงตลาดเพื่อชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทก็ตาม
ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 11 มิ.ย. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 2.88 และอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 3.85
- เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 18) ดอลลาร์ฮ่องกง(ร้อยละ 13) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 12) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 12) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 5) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 4) เงินเยน (ร้อยละ 3) และเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 0.5) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ยูโร (ร้อยละ 11) ดอลลาร์สิงคโปร์(ร้อยละ 4) หยวน (ร้อยละ 4) และริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 1)
Foreign Exchange and Reserves
ในสัปดาห์ก่อน ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation ณ วันที่ 4 มิ.ย. 51 ลดลงสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน -0.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 124.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐโดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 0.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลง คาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วพบว่านักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิต่อเนื่องที่ประมาณ 0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้ สะท้อนว่า ผลจากการเข้าแทรกแซงของทางการมีมากกว่าความต้องขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (27 มิ.ย. 51) -0.16 บาท จาก 33.54 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 4 ก.ค.51 หรือ แข็งค่าขึ้นคิดเป็นร้อยละ -0.49
Major Trading Partners’ Economies: This Week
GDP ยูโรโซน (2nd release) ไตรมาสที่ 1 ปี 51 ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปีปรับลดลงจากตัวเลข Flash estimate ที่ประกาศในเดือนมิ.ย. ที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยูโรโซน จากผลกระทบจาก 1) ภาวะสินเชื่อตึงตัว 2) การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐจากปัญหาซับไพร์มที่ยืดเยื้อ 3) ค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลต่อการส่งออกของเศรษฐกิจในภูมิภาค และ 4) อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค
ตัวเลขเบื้องต้นของ GDP สิงคโปร์ไตรมาส 2 ปี 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 6.9 ต่อปีในไตรมาส 1 ปี 51 ทั้งนี้ เนื่องมาจากการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะ 16 เดือนติดต่อกัน ในขณะที่การส่งออกสินค้าเวชภัณฑ์เริ่มปรับตัวลดลงในช่วงเดือนเม.ย. และ พ.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมหดตัวร้อยละ -5.6 ต่อปี จากที่ขยายตัวร้อยละ 12.7 ต่อปีในไตรมาสก่อนหน้าอย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสิงคโปร์ที่ยังคงขยายตัวได้เล็กน้อย เป็นผลจากการขยายตัวของภาคบริการที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี ซึ่งชะลอลงจากร้อยละ 7.6 ต่อปีในไตรมาสก่อนหน้า
ดุลการค้าจีนเดือนมิ.ย. 51 เกินดุลที่ 21.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเพิ่มจาก 20.2 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อนหน้า แม้การส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 17.6 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 28.1 ต่อปี เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการแข็งค่าของเงินหยวน เนื่องจากการนำเข้าสินค้าที่ขยายตัวชะลอลงมากกว่า โดยอยู่ที่ร้อยละ 31.0 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 40.0 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินหยวนที่แข็งขึ้นทำให้มูลค่าการนำเข้าเมื่อคิดในรูปดอลลาร์สหรัฐไม่ขยายตัวมากนัก แม้ราคาสินค้าในตลาดโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี หากการขยายตัวของการส่งออกที่ชะลอลงเกิดขึ้นต่อเนื่องไปในครึ่งปีหลัง อาจทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวชะลอลงตามในครึ่งหลังของปี 51
ดุลการค้าไต้หวันเดือน มิ.ย. 51 เกินดุลที่ 1.5 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 2.2 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อนหน้า ผลจากการนำเข้าที่มีการขยายตัวเร่งขึ้นสูงกว่าการส่งออก โดยการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 22.5 ต่อปี จากร้อยละ 17.6 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า โดยมีการนำเข้าสินค้านำเข้าหลักเพิ่มขึ้นในเกือบทุกประเภท ยกเว้นเครื่องจักร ในขณะที่การส่งออกขยายตัวร้อยละ 21.3 ต่อปี เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 20.5 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ซึ่งได้อานิสงส์การขยายตัวของการส่งออกสินค้าไปยังจีนและฮ่องกง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และญี่ปุ่น ช่วยชดเชยการส่งออกไปยังสหรัฐที่มีการหดตัวลงสินค้าส่งออกหลักมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวดี เช่น อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 6.2 ต่อปี) โลหะ (ร้อยละ 8.8 ต่อปี) พลาสติกและผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 22.7 ต่อปี)เครื่องมือสื่อสาร (ร้อยละ 28.0 ต่อปี) และเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 56.9 ต่อปี )
การส่งออกของฟิลิปปินส์เดือน พ.ค. 51 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี ผลจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ 2 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทนี้ลดลงร้อยละ -3.4 ต่อปี โดยการส่งออกรวมยังขยายตัวได้เล็กน้อยเป็นผลจากการขยายตัวของการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญได้แก่ การส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของฟิลิปปินส์ ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี การส่งออกไปญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 22.0ต่อปี และการส่งออกไปจีนที่ขยายตัวร้อยละ 8.6 ต่อปี ช่วยชดเชยการส่งออกไปยังฮ่องกงที่มีมูลค่าลดลงถึงร้อยละ -23.0 ต่อปี
Major Trading Partners’ Economies: Next Week
CPI ของสหรัฐเดือนมิ.ย. 51 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นคาดว่า จะคงที่อัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นคาดว่าจะชะลอตัวลง ตามเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ตามราคาน้ำมัน ราคาโภคภัณฑ์ และราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นมาก
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ