อันตรายของอนุพันธ์การเงิน 2 (Derivatives)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 11, 2008 16:10 —กระทรวงการคลัง

          ฉบับที่แล้วผมได้นำเสนอข้อดี และกลุ่มที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการที่ตราสารอนุพันธ์ว่าเป็นใครบ้าง วันนี้เรามาดูข้อเสียของอนุพันธ์ตราสารกันบ้างข้อเสียของอนุพันธ์การเงินนั้น มีควบคู่ไปกับข้อดีกล่าวคือ ในขณะที่อนุพันธ์การเงินนำมาซึ่งเงินทุนไหลเข้า (Capital Flows) แต่ก็นำเอาความเสี่ยงเข้ามาด้วย ซึ่งสามารถแจกแจงได้ดังนี้
1. ทำให้ขาดหรือลดความโปร่งใสในงบการเงินของบริษัทที่เกี่ยวข้อง งบการเงินของธนาคารกลาง และงบการเงินของประเทศ เนื่องจากการพิจารณา การประเมินและการเข้าใจฐานะที่แท้จริงทำได้ลำบาก ตัวอย่างเช่น การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำอนุพันธ์การเงินประเภท Currency forward และ SWAP ในช่วงปี 2539-2540 ทำให้เราเข้าใจผิดถึงฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศที่แท้จริง
อีกตัวอย่างหนึ่งของการลดความโปร่งใสของงบการเงินในระดับประเทศนั้น สามารถเกิดขึ้นกับดุลการชำระเงิน (balance of payment accounts) เพราะระยะเวลาการชำระเงิน (maturity) และสกุลเงินต่างประเทศ (currency denomination) ของสินทรัพย์และหนี้สินต่างประเทศ สามารถเปลี่ยนไปด้วยอนุพันธ์การเงินที่อิงกับอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งภาระดอกเบี้ยที่จะได้รับหรือที่จะต้องจ่ายออกไปนั้น สามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วยอนุพันธ์การเงินที่อิงกับอัตราดอกเบี้ย เงินกู้ระยะยาวสามารถกลายเป็นเงินกู้ระยะสั้นได้ถ้าใช้ put options “หลายๆครั้งอนุพันธ์การเงินสามารถทำให้หนี้ระยะสั้นดูเหมือนการลงทุน (portfolio investments)” ซึ่งดูเหมือนดี แต่จริงๆ ไม่ใช่เพราะกลายเป็นมีภาระหนี้ระยะสั้นจำนวนมาก ตัวอย่างอื่นๆ เช่น อนุพันธ์การเงินสามารถช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้อันดับเครดิต (Rating) ดีขึ้น ซึ่งอาจทำให้ Junk bond ดูเหมือน —A- rated bond นอกจากนั้น อนุพันธ์การเงินยังสามารถปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการรับรู้รายได้จากปัจจุบันเป็นอนาคต หรืออนาคตเป็นปัจจุบัน และเปลี่ยน Capital gain เป็น Interest Payment หรือในทางกลับกัน
2. อนุพันธ์การเงินยังสามารถช่วยให้บริษัทหลีกเลี่ยงเกณฑ์การกำกับดูแลด้านความมั่นคงได้ โดยการปรับเปลี่ยนสถานะความเสี่ยงที่จะปรากฏในงบดุล โดยการซ่อนเร้นความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และลดเงินกองทุนที่จำเป็นต้องมีไว้ โดยที่พันธบัตรที่มีความเสี่ยงสูง สามารถปรับเปลี่ยนให้ดูมีความเสี่ยงน้อยลงได้
3. อนุพันธ์การเงินช่วยให้บริษัทเพิ่มระดับความเสี่ยงโดยที่ยังคงระดับเงินกองทุนไว้ที่เดิม (Leverage) ความเสี่ยงสามารถโอนย้ายกันได้โดยไม่จำเป็นต้องโอนสิทธิความเป็นเจ้าของหรือเงินต้นทั้งหมด การลงทุนเพียงวางเงินไว้บางส่วนโดยไม่ต้องวางเงินทั้งหมด
การใช้อนุพันธ์การเงินมากๆ อาจส่งผลให้ฐานะเงินกองทุนที่จะรองรับความเสียหายมีไม่เพียงพอ โดยทั่วไปการเก็งกำไรในลักษณะนี้จะทำให้ระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้น การใช้อนุพันธ์การเงินอาจเป็นแรงกดดันกับค่าเงิน (ระดับอัตราแลกเปลี่ยน) และนำสู่วิกฤติการทางการเงินได้
อนุพันธ์การเงินจึงอาจเป็นอันตรายต่อระบบอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ อนุพันธ์การเงินยังสามารถช่วยซ้ำเติม ทำให้ราคาสินทรัพย์ทางการเงินและหลักทรัพย์ตกต่ำรวดเร็ว ทำให้วิกฤติการเงินเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงได้ ซึ่งรวมถึงการระบาดหรือการแพร่กระจายของวิกฤติการเงิน (Contagion)
ทั้งนี้ เนื่องจากคู่กรณีของอนุพันธ์การเงินมักจะมีบริษัทในหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องในเวลาเดียวกัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัทหนึ่ง หรือตลาดการเงินหนึ่ง ก็จะมีผลกระทบต่อบริษัทอื่นหรือตลาดการเงินอื่นที่เป็นคู่สัญญาด้วย
ในขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของปริมาณธุรกรรมทางตราสารอนุพันธ์ ทำให้ทางการและองค์กรกำกับดูแลเริ่มมีความกังวล เนื่องจากพันธะสัญญาและความรับผิดชอบระหว่างคู่กรณี มีมูลค่ามากมายมหาศาล ซึ่งง่ายที่จะเกิดการผิดสัญญา ผิดนัดชำระหรือส่งมอบกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการผันผวนอย่างรวดเร็วของระดับราคา อัตราดอกเบี้ยหรืออัตราแลกเปลี่ยน ผลเสียจะยิ่งมากขึ้น ถ้าเกี่ยวพันกับประชาชนผู้ลงทุนรายย่อยซึ่งนอกจากจะสูญเสียเงินแล้วยังสูญเสียความเชื่อมั่นในธุรกรรมประเภทนี้ซึ่งเป็นผลเสียอย่างยิ่งต่อตลาดการเงิน
นอกจากนี้ การประเมินความเสี่ยงจากการซื้อขายตราสารอนุพันธ์นั้นคำนวณได้ยากเพราะขึ้นอยู่กับความเคลื่อนไหวของ Underlying asset ซึ่งยากต่อการทำนายและผลลัพธ์สามารถเป็นไปได้หลายร้อยรูปแบบ ถึงแม้จะมีการคิดค้นสูตรและวิธีทางคณิตศาสตร์ เช่น Black and Scholes หรือ Binomial Method หรือสูตรผสมอื่นๆ มาช่วยในการคำนวณอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงแล้ว ก็ยังไม่สามารถจัดการกับตราสารอนุพันธ์ที่นับวันจะมีความหลากหลายและสลับซับซ้อนมาก
นอกจากนั้นแล้วการที่ผู้เล่นสามารถใช้เทคนิคการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ที่สลับซับซ้อน ลงทุนในตราสารอนุพันธ์ในหลายลักษณะ หลาย Maturity ในเวลาพร้อมกันนั้น ทำให้ยากต่อการคำนวณความเสี่ยงยิ่งนักนี่คืออันตรายของอนุพันธ์ตราสาร ยังไม่จบแค่นี้นะครับ ไว้คราวหน้าผมจะชำแหละให้เห็นพิษภัยของอนุพันธ์ตราสารให้ผู้อ่านได้เห็นฤทธิ์เดชเพิ่มเติม
โดย ดร. โชติชัย สุวรรณาภรณ์ email: fsa@fpo.go.th
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

แท็ก มาดู  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ