รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 16, 2008 12:19 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่  16 ก.ค.51
SUMMARY:
- รัฐบาลแถลง 6 มาตรการลดค่าครองชีพ
- ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ เดือน มิ.ย.51 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 73.6
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือนพ.ค. หดตัวลงมากสุดในรอบ 16 ปี
HIGHLIGHT:
1. รัฐบาลแถลง 6 มาตรการลดค่าครองชีพ
- นายกรัฐมนตรีแถลง 6 มาตรการช่วยเหลือประชาชนจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ดังนี้ 1) ลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันทั้งแก๊สโซฮอล 91,95 E10,20,85 ดีเซล 2) ชะลอปรับราคา LPG 6 เดือน 3) ลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา 4) ลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า 5) ลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสาร 6) ลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถไฟชั้น 3 ซึ่งทั้ง 6 มาตรการจะใช้เวลา 6 เดือน (1 ส.ค.51-31 ม.ค.52) ยดเว้นมาตรการที่ 1) จะเริ่ม 25 ก.ค. 51
- สศค. วิเคราะห์ว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีใน 4 ด้าน คือ 1) ช่วยให้ Sentiment ของเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นบ้าง 2) ช่วยการกระตุ้นการบริโภคครัวเรือนเนื่องจากรายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะคนจนในเมือง 3) ช่วยกระตุ้นภาคการขนส่งและอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นปัจจัยการดำเนินธุรกิจ และ 4) อัตราเงินเฟ้อน่าจะลดลงได้บ้างตามราคาน้ำมันขายปลีกที่ลดลง ทั้งนี้ รายได้ภาษีน้ำมันที่หายไป จะกลับคืนมาในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่มตามการใช้จ่ายที่มากขึ้น
2. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯเดือนมิ.ย.51 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 73.6
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ(สอท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเบื้องต้นเดือนมิ.ย.51 อยู่ที่ระดับ 73.6 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 71.4 เนื่องจากได้รับผลดีจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายที่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้ผลประกอบการปรับเพิ่มขึ้นตาม ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนการประกอบการยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนล่วงหน้า ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.9 เป็น 77.0 เนื่องจากยังไม่มีปัจจัจบวกที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในอนาคต
- สศค.วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนมิ.ย.51 นั้นสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและผันผวน ความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมทั้งยอดซื้อและยอดขายในประเทศที่ชะลอตัว ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ ในครึ่งปีแรกของปี 51 อยู่ที่ระดับ 79.3 ปรับตัวลดลงจากในครึ่งปีแรกของปี 50 ที่อยู่ที่ระดับ 82.9 ซึ่งปัจจัยที่กดดันความเชื่อมั่นอุตฯในครึ่งแรกปี 51 มาจากราคาน้ำมัน แตกต่างจากปีก่อนที่มาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
3. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือนพ.ค. หดตัวลงมากสุดในรอบ 16 ปี
- Eurostat รายงานตัวเลขดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือนพ.ค. 51 หดตัวลงร้อยละ -0.6 ต่อปี หรือหดตัวลงร้อยละ -1.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า นับเป็นการหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 35 ทั้งนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวลงในเดือนนี้เป็นการหดตัวในทุกภาคการผลิตและเกิดขึ้นทั่วภูมิภาคทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปนที่หดตัวลงร้อยละ -2.6 ในขณะที่อิตาลีหดตัวร้อยละ -1.4
- สศค. คาดว่าการหดตัวลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของยูโรโซนในเดือนนี้สะท้อนให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 จะชะลอตัวลง โดยในปี 51 เศรษฐกิจยูโรโซนคาดว่า จะชะลอตัวลงที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของลงทุนภาคเอกชน และหากเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัวลง จะกระทบต่อการส่งออกไทยมาก เนื่องจากเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยด้วยสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 12.5 ของการส่งออกทั้งหมด
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ