รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 21, 2008 11:19 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21  ก.ค.51
SUMMARY:
- คาดเศรษฐกิจโลกชะลอตัวฉุดเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละแค่ 4.0 - 5.0 ต่อปี
- เอกชนมั่นใจส่งออกครึ่งหลังขยายตัวดีต่อเนื่อง
- นโยบายรัฐบาลให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจลดส่วนต่างดอกเบี้ยเหลือ 2%
HIGHLIGHT:
1. คาดเศรษฐกิจโลกชะลอตัวฉุดเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละแค่ 4.0 - 5.0 ต่อปี
- นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเห็นพ้องกันว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 51จะเผชิญกับ เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้นจากปัญหาซับไพร์มที่ยังทวีความรุนแรงอยู่ โดยเฉพาะ ดร.สมชัย จิตสุชน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (TDRI) ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอลงของเศรษฐกิจต่างประเทศมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี ขณะที่ นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เห็นว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมากกว่าการที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นและคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี
- สศค.คาดว่าในปี 51 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.0-6.0 ต่อปี เนื่องจากได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากอัตราการขยายตัวในไตรมาส 1 ปี 2551 ที่สูงถึงร้อยละ 6.0 ต่อปี ในขณะที่แรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภายนอกประเทศยังคงขยายตัวได้ดีและอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากตามราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงมาตรการรัฐบาลเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการเร่งรัดการเบิกจ่ายของรัฐบาล
2. เอกชนมั่นใจส่งออกครึ่งหลังขยายตัวดีต่อเนื่อง
- การส่งออกของไทยสวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง จากราคาน้ำที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนของไทยได้กล่าวถึงการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังว่ายังมีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งได้อานิสงค์จากจีนคู่แข่งสำคัญที่ต้นทุนการผลิตพุ่งขึ้น ในขณะที่ความเชื่อมั่นมาตรฐานสินค้าไทยเหนือกว่าสินค้าจากจีน
- สศค.วิเคราะห์ว่า จากการที่ภาคเอกชนได้คาดการณ์การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 51 ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ไทยหันไปพึ่งพิงตลาดใหม่อย่างเช่น จีน อินเดีย อินโดจีน ตะวันออกกลาง และแอฟริกาที่มีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราที่สูง รวมถึงสินค้าส่งออกที่คาดว่ามีอัตราการเติบโตที่สูง ได้แก่ สินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตรและอาหาร เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ เป็นต้น ประกอบกับทิศทางค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลงนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 51
3. นโยบายรัฐบาลให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจลดส่วนต่างดอกเบี้ยเหลือ 2%
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จะเรียกประชุมผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจทั้งหมดเพื่อรับนโยบาย 2 เรื่อง คือ 1.การเลื่อนมาตรฐานบัญชี IAS 39 ไปอย่างไม่มีกำหนด 2.เรื่องการลดส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารเฉพาะกิจลงจากปัจจุบันที่มีส่วนต่างอยู่ที่ 4 % ซึ่งถือว่ามีกำไรมากเกินไป จึงเสนอให้ลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 2% เนื่องจากเห็นว่าธนาคารเหล่านี้ ไม่ได้มุ่งหวังกำไรเป็นหลัก
- สศค.วิเคราะห์ว่า ในปัจจุบันระดับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน อยู่ที่ช่วงระดับร้อยละ 2.75-3.00 ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR) อยู่ที่ระดับร้อยละ 7.25 ต่อปี อย่างไรก็ตาม นโยบายปรับลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อลดต้นทุนดำเนินการและป้องกันความเสี่ยงจากปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้น
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ