รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 14-18 ก.ค.51

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 22, 2008 11:33 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน มิ.ย. 51 อยู่ที่ระดับ 70.8 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 71.8 ปรับลดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ส่งผลให้ไตรมาส 2 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 71.9 จากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 72.5 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามแรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันและสินค้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ขณะที่รายได้ปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองที่ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาเชิงลบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคเห็นได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน มิ.ย. ที่ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 7.6 ต่อปีจากที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า และบ่งชี้ว่าการบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 2 ขยายตัวได้ในอัตราชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 51
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน มิ.ย. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 29.3 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 29.4 ต่อปี แม้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องในปัจจุบัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งเสริมการขายของค่ายรถยนต์บางค่าย มีส่วนจูงใจให้ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงขยายตัวได้ในระดับทรงตัว นอกจากนี้ การปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้น้ำมัน E20 ตั้งแต่ต้นปี 51 และการส่งเสริมพลังงานทางเลือกอื่นๆน่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เดือน มิ.ย. 51 หดตัวถึงร้อยละ -20.9 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -3.7 ต่อปี และเมื่อพิจารณาประเภทยอดรถบรรทุกขนาด 2 ตันขึ้นไป และรถปิคอัพขนาด 1 ตัน ซึ่งเป็นขนาดรถยนต์ที่ภาคธุรกิจ SME นิยมใช้ พบว่า หดตัวมาก ที่ร้อยละ -21.6 ต่อปี และร้อยละ -21.2 ต่อปี ในเดือน มิ.ย. ตามลำดับ เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ ในปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลที่ส่วนใหญ่ใช้กับรถยนต์เชิงพาณิชย์มีราคาสูงกว่าน้ำมันเบนซิน
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 51 อยู่ที่ระดับ 73.6 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 71.4 แต่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยได้รับผลกระทบทางบวกจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายจากต่างประเทศที่ดีขึ้นเล็กน้อย ส่งผลต่อเนื่องให้ผลประกอบการดีขึ้น นอกจากนี้อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกยังได้รับผลกระทบทางบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงเล็กน้อยในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ยังคงเป็นปัจจัยที่กระทบความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายในวันที่ 16 ก.ค. 51 ธปท.มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 3.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 3.50 ต่อปี ประเด็นสำคัญในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท.เนื่องจาก (1)เศรษฐกิจไทยในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ยังขยายตัวได้ดี ทั้งการใช้จ่ายภายใน และภาคการส่งออก (2) ธปท. มีความเห็นว่าความเสี่ยงทางเงินเฟ้อมีการปรับตัวในอัตราเร่งมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาจากราคาน้ำมันและอาหารสด ประกอบกับการส่งผ่านราคาไปยังสินค้าอื่นๆ เกิดขึ้นเร็วกว่าในอดีตเพราะเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี (3) ปัจจัยความเสี่ยงเงินเฟ้อจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และภาคเอกชน และมีผลต่อการดูแลเสถียรภาพในระยะต่อไป รวมทั้งศักยภาพในการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะยาว
Economic Indicators: Next Week
หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ เดือน พ.ค. 51 คาดว่าอยู่ที่ระดับร้อยละ 36.2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง (ที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 63.0 ของหนี้สาธารณะรวม) จากการกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณในช่วงเดือน พ.ค. 51 จำนวนประมาณ 11.5 พันล้านบาท ส่งผลให้ยอดหนี้สาธารณะรวมในเดือน พ.ค. 51 คาดว่าจะอยู่ที่ 3,409 พันล้านบาท
ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์เดือน มิ.ย. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี แม้ว่ารายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาผลผลิตสินค้าเกษตรในตลาดโลกจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อในระดับรากหญ้าซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของตลาดรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ เนื่องจากผลกระทบทางจิตวิทยาจากภาวะราคาน้ำมันและอาหารที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องทำให้คาดว่าปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์อาจจะขยายตัวได้ชะลอลงในระยะต่อไป
ดุลการค้าเดือนมิ.ย. 51 คาดว่าจะขาดดุลที่ประมาณ -0.8 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 15.2 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 21.4 ต่อปี โดยเป็นผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ในขณะที่มีการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 29.9 ต่อปี จากร้อยละ 15.7 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า โดยคาดว่าตัวเลขการนำเข้าน่าจะเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะในหมวดสินค้าเชื้อเพลิงที่คาดว่าจะมีตัวเลขการนำเข้ากลับมาขยายตัวเร่งขึ้น อันเป็นผลจากราคาเชื้อเพลิงนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. 51
Foreign Exchange Review
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะค่าเงินฟิลิปปินส์เปโซ ในขณะที่ค่าเงินวอนเกาหลี
ใต้อ่อนค่าลงมากที่สุด
ค่าเงินสกุลเอเชียทุกสกุลยกเว้นวอนเกาหลีแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ค่าเงินสกุลเอเชียเกือบทุกสกุลแข็งค่าขึ้นเนื่องมาจาก ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันให้อ่อนค่าลงจากปัญหาของสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อเพื่อการจำนอง เฟรดดี้ แมค และเฟนนี เม จากการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ธนาคารกลางในเอเชียมีความกังวลเรื่องสถานภาพความเข้มแข็งของทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว เนื่องจากธนาคารกลางในเอเชียเข้าซื้อตราสารหนี้ของทั้ง 2 บริษัทคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางในเอเชียได้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยเฉพาะธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย(Overnight borrowing) อย่างมากจากระดับที่ร้อยละ 5.25 มาเป็นร้อยละ 5.75 ต่อปีส่งผลให้ค่าเงินฟิลิปปินส์เปโซแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า
ค่าเงินยูโรและค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากค่าเงินยูโรได้รับปัจจัยลบจากการประกาศตัวเลขดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค. 51 หดตัวลงร้อยละ -0.6 ต่อปี นับเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 16 ปีในขณะที่ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้ามาจากการที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเป็นจำนวน -2,137 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินวอนเกาหลีใต้ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐถึงร้อยละ -1.6 เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติได้ถอนเงินออกจากตลาดหุ้นเกาหลีอย่างต่อเนื่องภายหลังจากในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้เข้าแทรกแซงเพื่อขายดอลลาร์สหรัฐเป็นจำนวนรวมถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยพยุงค่าเงินวอนที่อ่อนค่าลงจากการที่ดุลการค้าขาดดุลเพิ่มขึ้น และการแทรกแซงดังกล่าวยังคงมีอยู่แม้ว่าจะเบาบางลง
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักทุกสกุลแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน
สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าแข็งค่าขึ้นในทุกสกุลเนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย RP 1 วัน ร้อยละ 0.25 จากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี แม้ว่าทิศทางตลาดหุ้นไทยยังคงปรับตัวลดลง ส่งผลให้เงินทุนไหลออกยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง
ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 21 ก.ค. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 3.84 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 2.68
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 21.0) ดอลลาร์ฮ่องกง(ร้อยละ 14.3) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 13.9) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 13.6)ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 6.3) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 5.3) เงินเยน (ร้อยละ 4.6)และริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 0.5) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ ยูโร (ร้อยละ 9.8) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 3.1) หยวน (ร้อยละ 2.6) และเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 1.8)
Foreign Exchange and Reserves
ในสัปดาห์ก่อน ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation ณ วันที่ 11 ก.ค.51 ลดลงสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน -0.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 123.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐโดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วน
หนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลง คาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วพบว่านักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิต่อเนื่องที่ประมาณ -0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้ สะท้อนว่า ผลจากการเข้าแทรกแซงของทางการมีน้อยกว่าความต้องขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 4 ก.ค.51) 0.28 บาท จาก 33.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 11 ก.ค.51 หรือ แข็งค่าขึ้นคิดเป็นร้อยละ 0.83
Major Trading Partners’ Economies: This Week
CPI ของสหรัฐเดือนมิ.ย. 51 ขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อปี สูงทีสุดในรอบ 16 ปี จากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาพลังงานในเดือนมิ.ย. ขยายตัวที่ร้อยละ 24.7 ต่อปี ทั้งนี้ อัตราเงินฟ้อของสหรัฐที่ร้อยละ 5.0 ใกล้เคียงกับตัวเลขคาดเงินเฟ้อคาดการณ์ที่จัดทำโดย Reuters/University of Michigan ในเดือนมิ.ย. ที่ร้อยละ 5.3 ต่อปี ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐอาจจะมีการปรับขึ้นหรือคงอัตราดอกเบี้ย Fed Fund ในการประชุมวันที่ 5 ส.ค. นี้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจสหรัฐในระยะต่อไปว่าจะว่ามีความเปราะบางมากเพียงใด
ดุลการค้าของสหรัฐเดือนพ.ค. 51 ขาดดุลที่ 59.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงจากเดือนเม.ย. ที่ขาดดุล 60.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการส่งออกขยายตัวมากกว่าการนำเข้า โดยการส่งออกในเดือนพ.ค. ขยายตัวร้อยละ 17.8 ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่า 157.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออกวัสดุเครื่องมือ อุปกรณ์แรงงาน เป็นหลัก ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 12.5 ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่า 217.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุน รวมถึงการบริการด้านขนส่งโดยสารและการท่องเที่ยว เป็นหลัก
ยอดค้าปลีกของสหรัฐเดือนมิ.ย. 51 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 0.1 (mom) จากการหดตัวของยอดจำหน่ายรถยนต์มากที่สุดในรอบ 2 ปี สะท้อนให้เห็นว่าผลจากมาตรการคืนภาษีเริ่มหมดไป โดยมาตรการดังกล่าวส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคมากที่สุดในเดือนพ.ค. 51
ตัวเลข Housing start ของสหรัฐเดือนมิ.ย. 51 ขยายตัวดีกว่าที่คาดที่ร้อยละ 9.1 (mom) หรือคิดเป็นจำนวน 1.066 ล้านหลัง นับเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 51 ในขณะที่ตัวเลขคำขออนุญาตสร้างบ้านใหม่ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนการก่อสร้างบ้านในอนาคตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.6 (mom) หรืออยู่ที่ 1.091 ล้านหลัง
ตัวเลขดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือนพ.ค. 51 หดตัวลงร้อยละ -0.6 ต่อปี หรือหดตัวลงร้อยละ -1.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า นับเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 16 ปี ทั้งนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวลงในเดือนนี้เป็นการหดตัวในทุกภาคการผลิตและเกิดขึ้นทั่วภูมิภาคทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปนที่หดตัวลงร้อยละ -2.6 ในขณะที่อิตาลีหดตัวร้อยละ -1.4
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นคงที่อัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นคาดว่าจะชะลอตัวลง ตามเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
ดุลการค้าสิงคโปร์เดือนมิ.ย. 51 เกินดุลที่ 2.0 พันล้านเหรียญดอลลาร์สิงคโปร์ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 2.3 พันล้านเหรียญดอลลาร์สิงคโปร์เป็นผลจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน ได้แก่ สินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเคมีภัณฑ์ ซึ่งหดตัวที่ร้อยละ -10.5 ต่อปี และร้อยละ -11.1 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการส่งออกหดตัว ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้าส่วนประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ Disk Drives และ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ในขณะเดียวกัน การส่งออกเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเองก็หดตัวลงด้วย โดยการส่งออกสินค้าไปยังตลาดส่งออกหลักลดลงในเกือบทุกตลาด ยกเว้นมาเลเซียและฮ่องกง ทำให้การส่งออกรวมเดือนมิ.ย. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 10.9 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 12.5 ต่อปี ซึ่งเป็นการชะลอลงมากกว่าการนำเข้าที่ขยายตัวชะลอลงจากร้อยละ 19.1 ต่อปีในเดือนพ.ค. 51 มาเป็นร้อยละ 18.4 ต่อปี
เศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 2 ปี 51 ขยายตัวร้อยละ 10.1 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 10.6 ต่อปีในไตรมาสที่ 1 ปี 51 ผลจากการขยายตัวชะลอลงของการส่งออกอันเป็นผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของจีน ในขณะที่การนำเข้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจนทำให้ตัวเลขการส่งออกสุทธิลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนในครึ่งแรกของปี 51 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 10.4 ต่อปี ยังจัดว่าอยู่ในระดับการขยายตัวที่สูง ทั้งนี้ เป็นผลจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังขยายตัวดีอยู่ โดยการบริโภคภายในประเทศขยายตัวสูงตามรายได้ที่สูงขึ้นทั้งในระดับเมือง (ร้อยละ 14.4 ต่อปี) และชนบท (ร้อยละ 19.8 ต่อปี) ด้านการลงทุนในสินทรัพย์คงที่มีการขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 26.8 ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นฟูพื้นที่ในมณฑลเสฉวนที่ประสบภัยแผ่นดินไหวในเดือน พ.ค. 51
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ