Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 ก.ค.51
SUMMARY:
- ก.พาณิชย์คาดอัตราเงินเฟ้อปี 51 ขยายตัวร้อยละ 7.8
- ปตท.ลดเบนซิน 1 บาท-ดีเซล 80 สตางค์
- หุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้นจากการคลายความกังวลซับไพรม์รอบ 2
HIGHLIGHT:
1. ก.พาณิชย์คาดอัตราเงินเฟ้อปี 51 ขยายตัวร้อยละ 7.8
- ปลัด ก.พาณิชย์ กล่าวถึงว่ารัฐบาลมีความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 51 โดยประเมินว่าหากราคาน้ำมันดิบยังขยายตัวในระดับร้อยละ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อปี 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี และหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเดือนต่อไป (ก.ค.)อาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ต่อปี แต่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีไม่น่าจะถึง 2 หลัก
- นอกจากนี้ พบว่าปัจจุบันมีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ทั้งก๊าซแอลพีจี และเอ็นจีวี มากขึ้น ขณะที่ตะกร้าคำนวณเงินเฟ้อไม่ได้รวมกลุ่มนี้ จึงอาจต้องมีการศึกษาทางวิชาการว่าจะนำน้ำหนักการใช้จ่ายพลังงานทดแทนสองชนิดนี้ มาคำนวณเงินเฟ้อใหม่
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนมิ.ย.ปี 51 อยู่ที่ร้อยละ 8.9 และคาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี เร่งตัวขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี จากการที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการที่มีอย่างต่อเนื่อง แต่อุปทานค่อนข้างตึงตัว ประกอบกับการเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ของนักเก็งกำไร ทั้งนี้ คาดว่า จากการภาครัฐออกมาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันทั้งแก๊สโซฮอล 91,95 E10,20,85 ดีเซล ซึ่งน่าจะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกลดลงได้ และจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อได้
2. ปตท.ลดเบนซิน 1 บาท-ดีเซล 80 สตางค์
- ปตท.ประกาศปรับลดราคาเบนซิน 1 บาท/ลิตร,ดีเซล 80 สต./ลิตร มีผลวันนี้ หลังสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่องกันหลายวัน ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ของ ปตท.วันนี้ โดยเบนซิน ออกเทน 91 อยู่ที่ลิตรละ 39.39 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ลิตรละ 35.79 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ลิตรละ 34.99 บาท และดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 42.24 บาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกล่าสุด (21 ก.ค. 51) ปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 127.52 USD/BBL ซึ่งการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงนอกจากจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพผู้บริโภค และต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการลดลงได้ในระดับหนึ่ง ยังมีผลทางจิตวิทยาเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและผู้ประกอบการ
3. หุ้นเอเชียปรับตัวสูงขึ้นจากการคลายความกังวลซับไพรม์รอบ 2
- ตลาดหุ้นเอเชีย และตลาดหุ้นในออสเตรเลีย ปิดพุ่งทะยานสูงมากในวันที่ 21 ก.ค. 2551 ที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นไทย SET ปรับตัวสูงขึ้น 22.78 จุด โดยปิดที่ระดับ 687.30จุด คิดเป็นการปรับขึ้นร้อยละ 3.43 ในขณะที่ตลาดหุ้นในออสเตรเลียปรับตัวสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา โดยปิดสูงขึ้น 171.4 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 3.54 นอกจากนี้ ตลาดหุ้นของเกาหลีใต้มีการปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.51 รวมทั้งดัชนีหุ้นของไต้หวันปิดพุ่งขึ้นร้อยละ 3.94 สำหรับปัจจัยสำคัญในการปรับตัวของหุ้นเนื่องจาก นักลงทุนคลายความกังวลเรื่องตลาดสินเชื่อภายหลังซิตี้กรุ๊ปเปิดเผยตัวเลขขาดทุนน้อยกว่าที่คาดไว้
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากตัวเลขผลประกอบการซิตี้ กรุ๊ปที่ประกาศ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่เปิดเผยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ตัวเลขการสร้างบ้านใหม่ในสหรัฐขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์และตัวเลขขาดดุลการค้าสหรัฐเดือน พ.ค. ขาดดุล 59.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ที่ปรับตัวลดลงเทียบจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 60.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลด้านบวกต่อจิตวิทยาของนักลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคการลงทุนที่แท้จริงจะปรับตัวดีขึ้นได้ต้องอาศัยปัจจัยบวกในระยะยาว ได้แก่ ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้น รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงทางภาวะราคาน้ำมันที่ลดลงและมีเสถียรภาพมากขึ้น
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th