รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 28, 2008 12:14 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 ก.ค.51
SUMMARY:
- ทีดีอาร์ไอเตือนหนี้สาธารณะปรับตัวสูงขึ้นภายในสิ้นปี
- ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงตามค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น
- เงินเฟ้อญี่ปุ่นพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี
HIGHLIGHT:
1. ทีดีอาร์ไอเตือนหนี้สาธารณะปรับตัวสูงขึ้นภายในสิ้นปี
- ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยว่าในปัจจุบันรัฐบาลใช้มาตรการทางการคลังในเชิงรุกมาก ซึ่งส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2551 และ 2552 รัฐบาลขาดดุลรวมเกินร้อยละ 5.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) นอกจากนี้ ยังส่งผลให้หนี้สาธารณะสิ้นปี 2552 เกินร้อยละ 40.0 ของ GDP
- สศค.วิเคราะห์ว่า จากการที่รัฐบาลมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้บทบาทนโยบายการคลังแบบขยายตัวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย (Expansionary Fiscal Policy)โดยจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลในปีงบประมาณ 2551 และ 2552 นั้น เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก และการใช้จ่ายภาคเอกชนยังไม่สามารถฟื้นตัวเต็มที่ อย่างไรตาม การขาดดุลงบประมาณดังกล่าวยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ยอดหนี้สาธารณะไม่เกินร้อยละ 50.0 ของ GDP
2. ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงตามค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น
- ธนาคารกสิกรไทย รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก(WTIC) ปรับตัวลดลง 23 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจากสถิติสูงสุดที่ระดับ 147.27 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อวันที่ 11 ก.ค.51 ท่ามกลางการปรับขึ้นอย่างแข็งแกร่งของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ออกมากล่าวว่าอาจจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ธ.กสิกรไทยประเมินค่าความอ่อนไหวว่า ในอนาคตหากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงร้อยละ 1 จะมีผลทำให้ราคาน้ำมันขยับขึ้น 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
- สศค.วิเคราะห์ว่า จาก ณ วันที่ 11 ก.ค.51 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเงินเยนและยูโรแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.54 และ -1.45 ขณะที่ราคาน้ำมัน WTIC ลดลงร้อยละ 15.48 จาก 144.96 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเป็น 122.51ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ณ 25 ก.ค.51 ส่งผลดีต่อราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศให้ปรับตัวลดลงซึ่งจะช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อ ทั้งนี้ สศค. พบว่าหากราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น 1 ดอลลาร์จะส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกปรับขึ้น 30 สตางค์ต่อลิตร
3. เงินเฟ้อญี่ปุ่นพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี
- ดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่น (ไม่รวมอาหาร) ในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ต่อปี สูงสุดในรอบ 10 ปี และปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือน มิ.ย. ขยายตัวร้อยละ 2 ต่อปี โดยมาจากราคาสินค้าหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 ต่อปี ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นคาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปี 51 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี
- สศค.วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเงินเฟ้อญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นจะเป็นสัญญาณว่าญี่ปุ่นหลุดพ้นจากสถานการณ์เงินฝืดนับตั้งแต่ปี 2543 แล้วก็ตาม แต่เงินเฟ้อจากต้นทุนการผลิต (Cost-push Inflation) ที่เพิ่มขึ้นขณะที่เศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จะทำให้ภาคธุรกิจไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้มากนัก และทำให้ผลประกอบการตกต่ำต่อเนื่อง ทำให้บริษัทไม่สามารถปรับขึ้นค่าจ้างให้พนักงานได้มากนัก ซึ่งจะทำให้รายได้ที่แท้จริง (หลังหักเงินเฟ้อ) ของพนักงานลดลงและส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนในอนาคต อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.5 นั้นทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงของญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ -1.5 ซึ่งดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ติดลบนี้น่าจะทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนเริ่มทำการลงทุนมากขึ้น
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ