รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 21-25 กรกฎาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 30, 2008 12:26 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์เดือน มิ.ย. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.1 ต่อปี สูงกว่าที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเป็นสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้ประชาชนหันมานิยมรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวเครื่องยนต์หัวฉีดที่ประหยัดน้ำมันสูงกว่า ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ส่งผลบวกต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในระดับฐานรากซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในตลาดรถจักรยานยนต์
มูลค่าการส่งออกรวมในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน มิ.ย. 51 ขยายตัวร้อยละ 27.4 ต่อปี เร่งจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 21.4 ต่อปี ด้วยมูลค่าถึง 16.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงสุดในประวัติศาสตร์ เป็นผลจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าเร่งขึ้นในเกือบทุกหมวด ทั้งนี้การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 52.8 ต่อปี เป็นร้อยละ 62.7 ต่อปี โดยเป็นผลจากการส่งออกข้าวในปริมาณเพิ่มขึ้นประกอบกับราคาข้าวที่สูงขึ้นในตลาดโลก ทำให้มูลค่าการส่งออกข้าวขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 201.9 ต่อปี จากร้อยละ 128.4 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้น เป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ การขยายตัวของการส่งออกสินค้า เป็นผลจากการขยายตัวด้านปริมาณร้อยละ 11.5 ต่อปี และราคาร้อยละ 14.3 ต่อปี
มูลค่าการนำเข้าสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 51 ขยายตัวร้อยละ 30.7 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.7 ต่อปี ผลจากการนำเข้าที่ขยายตัวเร่งขึ้นในทุกหมวดสินค้าหลังจากที่เคยชะลอลงในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในหมวดสินค้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 4.7 ในเดือนพ.ค. 51 เป็นร้อยละ 66.4 ต่อปี ผลจากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบโลก และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ในหมวดสินค้าทุนมีการขยายตัวของมูลค่าร้อยละ 15.0 ต่อปี แต่หากหักรายการเครื่องบิน เรือ รถไฟ จะขยายตัวร้อยละ 20.8 ต่อปี สินค้าวัตถุดิบนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 ต่อปี บ่งชี้ว่าการส่งออกในระยะต่อไปไม่น่าจะชะลอตัวลงมาก ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ทั้งนี้ การขยายตัวของการนำเข้าสินค้า เป็นผลจากการขยายตัวด้านปริมาณร้อยละ 9.4 ต่อปี และราคาร้อยละ 19.4 ต่อปี
สินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์เดือน มิ.ย. 2551 ขยายตัวในอัตราร้อยละ 12.5 สินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ จำนวน 18 แห่ง ณ เดือน มิ.ย. 2551 ขยายตัวสูงต่อเนื่องจากต้นปี 2551 โดยขยายตัวในอัตราร้อยละ 12.5 สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.7 โดยสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 5,622.3 พันล้านบาท สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 5,519.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมิ.ย.51 มีจำนวน 1.15 ล้านคน ขยายตัวในอัตราที่ชะลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 17.8 ต่อปี เป็นร้อยละ 11.7 ต่อปี ส่งผลทำให้ Q2/51 ขยายตัวร้อยละ 14.9 ต่อปี สูงกว่า Q1/51 ที่ขยายตัวร้อยละ 13.3 ต่อปี ส่วนหนึ่งจากฐานที่ต่ำจากปีก่อน ที่เกิดปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือในข่วงปลายเดือนมี.ค.50 โดยอัตราการขยายตัวดีในช่วงต้นปีมากจากกลุ่มประเทศ ยุโรป อเมริกา โอเชียเนีย อาเซียน และเอเชียใต้ ขณะที่กลุ่มตะวันออกกลางมีการขยายตัวที่หดตัวลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2550 เนื่องจากปัญหาภายในประเทศและการส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคกันเองมากขึ้น
Economic Indicators: Next Week
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 9.5 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ที่ร้อยละ 8.9 ต่อปี เนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงสูงขึ้น บวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาเล็กน้อย ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับราคาขึ้นตาม อีกทั้งราคาอาหารสดบางรายการยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนมาตรการ ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์และดีเซลที่เริ่มมีผลแล้ว จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค. ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม
ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 9.2 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.1 ต่อปี โดยมีอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ปิโตรเคมี พลาสติก และอาหาร ที่ยังขยายตัวได้ดีเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ทั้งนี้ แม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ปรับตัวชะลอลง แต่ความต้องการจากประเทศเอเชียแปซิฟิกยังคงดีอยู่ บวกกับอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง ทำให้คาดว่าการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกอาจจะขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับมูลค่าส่งออกที่ทำสถิติสูงสุด
ยอดขายปูนซีเมนต์ เดือน มิ.ย. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี เนื่องจากความกังวลของผู้ประกอบการทั้งจากราคาน้ำมัน และราคาวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องมีส่วนผลักดันให้ผู้ประกอบการเร่งสำรองปูนซีเมนต์เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนที่อาจสูงขึ้นในอนาคต นอกจากนั้น มาตรการที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือภาครัฐโดยให้สิทธิลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะที่จะสิ้นสุดลงในเดือน มี.ค. 52 ส่งผลให้ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์เดือน มิ.ย. ยังคงขยายตัวได้
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ