รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 31, 2008 12:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 ก.ค.51
SUMMARY:
- IMF เตือนวิกฤติบ้านยังไม่ถึงจุดต่ำสุด
- ราคาบ้านและความเชื่อมั่นสหรัฐปรับตัวดีขึ้นกว่าคาด
- ผู้เชี่ยวชาญคาดราคาน้ำมันลดลงต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
HIGHLIGHT:
1.IMF เตือนวิกฤติบ้านยังไม่ถึงจุดต่ำสุด
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุสถานการณ์ในตลาดเงินโลกทั้งในภาคผู้บริโภคและสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติตลาดบ้านและปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพหรือ Sub-prime ในสหรัฐฯ ว่ายังไม่ดีขึ้น และยังเป็นตัวแปรที่จะฉุดให้การเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวต่อไปอีก เนื่องจากตลาดการเงินโลกยังคงอยู่ในภาวะเปราะบาง และปัญหาสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น โดยหากการขอกู้เงินเริ่มถูกจำกัด กดดันให้ครัวเรือนต้องรัดเข็มขัด ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในภาวะอึมครึม จะทำให้ปัญหาผิดนัดชำระหนี้และการยึดหลักทรัพย์จำนองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ราคาบ้านตกลงอย่างต่อเนื่อง
- สศค. คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 51 คาดว่าจะปรับตัวชะลอลงมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี ลดลงจากปี 50 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี เนื่องจากความยืดเยื้อในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีสัญญานหดตัวอยู่ สะท้อนได้จากยอดจำหน่ายบ้านและราคาที่อยู่อาศัยที่ยังคงลดลง และผลของภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น รวมถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund ในช่วงครึ่งหลังของปี แม้จะช่วยบรรเทาภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ แต่จะเป็นแรงกดดันการใช้จ่ายภายในประเทศ
2. ราคาบ้านและความเชื่อมั่นสหรัฐปรับตัวดีขึ้นกว่าคาด
- ดัชนีราคาบ้าน S&P Case-Shiller ใน 20 เมืองใหญ่ของสหรัฐในเดือน พ.ค. หดตัวลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 15.8 ต่อปี แต่เป็นการหดตัวที่น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 16.1 ต่อปี ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐในเดือน ก.ค. ที่วัดโดยสมาคม Conference Board อยู่ที่ 51.9 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 50.4 และดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 50.0 จุด
- สศค. วิเคราะห์ว่าราคาบ้านที่ปรับลดลงน้อยกว่าตลาดคาดบ่งชี้ว่าภาวะชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐอาจไม่รุนแรงมากอย่างที่คาดไว้เดิม แต่เป็นไปได้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์อาจยังคงตกต่ำต่อเนื่องจนถึงปี 2552 ซึ่งจะทำให้การลงทุนภาคที่อยู่อาศัยของสหรัฐ (Residential Investment) ยังคงหดตัวต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐที่ปรับตัวดีขึ้นบ่งชี้ว่าภาคการบริโภคสหรัฐซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของ GDP มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจเป็นผลมาจากมาตรการคืนภาษี (Tax Rebate) ของรัฐบาล อนึ่ง ตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐในเดือน มิ.ย. ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ต่อเดือน ต่ำกว่าตลาดคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.4 บ่งชี้ว่ามาตรการคืนภาษีอาจเริ่มไม่มีประสิทธิผล จึงเป็นไปได้ว่าทางการสหรัฐอาจต้องออกมาตรการคืนภาษีครั้งที่สองหากเศรษฐกิจยังคงตกต่ำต่อเนื่อง
3. ผู้เชี่ยวชาญคาดราคาน้ำมันลดลงต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
- สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างถึงนักวิเคราะห์พลังงานอลารอน เทรดดิง คอร์ป คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันปี 51 จะปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากไม่เกิดภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า เช่น พายุเฮอริเคน ที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิต และคาดว่าราคาน้ำมันในปีหน้าจะไม่อยู่ในระดับสูงอย่างปีนี้ ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าสัญญาเดือนธ.ค.ในตลาดนิวยอร์ก (ไนแม็กซ์) ปิดที่ระดับ 122.19 ลดลง 2.52 ดอลลาร์( 29 ก.ค.) และขยับแตะระดับ 122.14 (30ก.ค.)
- สศค. วิเคราะห์ราคาน้ำมันดูไบในปี 51 จะปรับตัวขึ้นเฉลี่ยที่ระดับ 116 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (หรืออยู่ในช่วง 110-120 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) สูงขึ้นมากจากปี 50 ที่อยู่ที่ 67.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือเร่งขึ้นร้อยละ 71.1 ต่อปี อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงตามที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์จะส่งผลดีต่อภาคการผลิตและการบริโภคช่วยลดปัญหาอัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆลงได้ และจากแบบจำลองพบว่า หากราคาน้ำมันดูไบลดลง 10 $/bbl จะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงร้อยละ -0.3 จากกรณีปกติ
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ