รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 สิงหาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 1, 2008 11:57 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 ส.ค. 2551 
SUMMARY:
- สศอ.คาดอุตสาหกรรมปี 51 ขยายตัวร้อยละ 6.6-7.1 ต่อปี รับแรงหนุนจากส่งออก
- ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดิ่งหนักในรอบ 11เดือน
- สหรัฐฯ ประกาศ GDP ไตรมาสที่ 2 ออกมาที่ 1.8 %yoy (หรือ 1.9 %qoq)
HIGHLIGHT:
1. สศอ.คาดอุตสาหกรรมปี 51 ขยายตัวร้อยละ 6.6-7.1 ต่อปี รับแรงหนุนจากส่งออก
- สศอ. เปิดเผยว่า แนวโน้มการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้งปี 2551 จะขยายตัวร้อยละ 6.6—7.1 ต่อปี บนสมมติฐานราคาน้ำมันเฉลี่ย 125-130 เหรียญสหรัฐ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมมาจากการส่งออกของประเทศขยายตัวได้ค่อนข้างมากประกอบกับราคาน้ำมันเริ่มลดลง ทั้งนี้ แนวโน้มครึ่งปีหลังคาดว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 6—7 ต่อปี โดยไตรมาส 3 การขยายตัวจะชะลอตัวลงเล็กน้อย เพราะเป็นช่วงฤดูร้อนของต่างประเทศ และช่วงฤดูฝนของไทย ทำให้การบริโภคลดลง
- สศค. วิเคราะห์ว่า GDPภาคอุตสาหกรรมน่าจะมีโอกาสขยายตัวได้เกินร้อยละ 7.0 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณความต้องการซื้อสินค้าอุตสาหกรรมจากต่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ปัจัยเสี่ยงจากความเชื่อมั่นทางการเมือง ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น จะกดดันต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่เหลือของปี โดยสศค.คาดว่า GDPภาคอุตสาหกรรมน่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.5
2. ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดิ่งหนักในรอบ 11เดือน
- ธปท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ระดับ 40.9 ถือว่าต่ำสุดในรอบ 11เดือน ลดลงจากเดือนพ.ค.ซึ่งอยู่ที่ระดับ43.9 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางภาคธุรกิจในอีก3เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 44.2 ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ซึ่งระดับความเชื่อมั่นที่ต่ำกว่าระดับ 50 ถือเป็นระดับต่ำกว่าระดับที่มีความเชื่อมั่น สาเหตุหลักมาจากปัจจัยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นประกอบกับความไม่แน่นอนทางการเมือง และประเมินว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่2 จะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6มากนัก
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตทั้งวัตถุดิบหลัก, พลังงาน และค่าแรง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นทางธุรกิจให้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนภาพการลงทุนของภาคธุรกิจในอนาคตได้ อย่างไรก็ดีภาครัฐได้ออกมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงทำให้ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันได้ ทั้งนี้ทางสศค.คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่2ของปีนี้จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 1 ที่ร้อยละ 6ต่อปีจากแรงส่งของภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี
3. สหรัฐฯ ประกาศ GDP ไตรมาสที่ 2 ออกมาที่ 1.8 %yoy (หรือ 1.9 %qoq)
- สหรัฐ ฯ ปรับตัวเลข GDP ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2548 ทำให้ GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 51 ถูกปรับลดลงจากร้อยละ 1.0 ต่อไตรมาส เป็นร้อยละ 0.9 ต่อไตรมาส ส่วนในไตรมาสที่ 2 ปี 51 นี้ ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 1.9 ต่อไตรมาส เป็นผลจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการคืนเงินภาษีแก่ประชาชน โดยการบริโภคขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อไตรมาส เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.9 ต่อไตรมาส นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 9.2 ต่อไตรมาส ในขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ -6.6 ต่อไตรมาส
- สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลข GDP ที่แท้จริงของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ปี 51 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 51 ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.8 ต่อปี ซึ่งเท่ากับที่ สศค. คาดการณ์ไว้เมื่อมิ.ย. 51 การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นผลจากการบริโภคสินค้าคงทนหดตัวลงร้อยละ -1.2 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 17 ปี ในขณะเดียวกันการลงทุนภายในประเทศก็หดตัวมากขึ้นที่ร้อยละ -7.5 ต่อปี จาก ร้อยละ -2.3 ต่อปี ในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การส่งออกของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 10.2 ต่อปี ยังช่วยพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ให้ชะลอตัวลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ