รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 28 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 4, 2008 11:32 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค. 51 เร่งตัวขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 9.2 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ที่ร้อยละ 8.9 ต่อปี แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงมามากถึงบาร์เรลละ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 3 ก.ค. แต่ ราคาเฉลี่ยทั้งเดือนยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จึงทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกเฉลี่ยภายในประเทศสูงขึ้นตาม ประกอบกับราคาข้าวและแป้งยังคงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค. เร่งตัวขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 3.7 ต่อปี อยู่เหนือระดับร้อยละ 3.5 ต่อปี เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ส่วนมาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์และดีเซลที่เริ่มมีผลแล้วตั้งแต่ 25 ก.ค. จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยบรรเทาแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีได้มาก
ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.7 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากในสินค้าประเภทอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภท Hard Disk Drive ที่มีการขยายตัวเร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่สูงถึงร้อยละ 35.2 ต่อปีมาอยู่ที่ 43.5 ต่อปี ขณะที่การผลิตยานยนต์แม้ว่าจะชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าแต่ก็สามารถขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 15.3 ต่อปี อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่องประดับอัญมณีหดตัวลงมาก เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น และการชะลอตัวลงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของสินค้าเครื่องประดับอัญมณี
ยอดขายปูนซีเมนต์ เดือน มิ.ย. 51 หดตัวที่ร้อยละ -16.7 ต่อปี ลดลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี และต่ำกว่าที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี เนื่องจากราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมัน โดยดัชนีราคาขายส่งวัสดุก่อสร้างในเดือน มิ.ย. ปรับตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี ที่ร้อยละ 19.3 ต่อปี ทำให้ผู้ประกอบการชะลอคำสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง ประกอบกับปัจจัยความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่มากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอาจตัดสินใจชะลอการลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับยอดขายเหล็กรวมในเดือน มิ.ย. ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 5.7 ต่อปี ชะลอลงจาก เม.ย. และ พ.ค. ที่ขยายตัวร้อยละ 18.6 และ 17.4 ต่อปีตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่ายอดขายปูนซิเมนต์ในเดือน ก.ค. น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเดือน มิ.ย. เนื่องจากราคาน้ำมันที่เริ่มปรับลดลงน่าจะส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวลดลงเช่นกัน ขณะที่ความต้องการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องอันเป็นผลมาตรการภาครัฐที่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะ
ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน มิ.ย.51 เกินดุล 0.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่มีการเกินดุล 0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาจากการเกินดุลการค้าที่ 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากการส่งออกยังคงขยายตัวได้ดี ในขณะที่ดุลบริการ เงินโอน และบริจาค ขาดดุล -0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเป็นช่วงส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทเอกชน
ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง (Outstanding Public Debt) ณ สิ้นเดือน พ.ค.51 มีจำนวน 3,400.2 พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1,245 ล้านบาท และมีสัดส่วนยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Public Debt / GDP) ร้อยละ 36.1 โดยสาเหตุของการลดลงของหนี้สาธารณะ มาจากการลดลงของหนี้สำคัญ 3 ส่วน คือ 1) หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงในส่วนของหนี้ต่างประเทศลดลงสุทธิกว่า 8.7 พันล้านบาท จากการชำระคืนตราสารหนี้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่ครบกำหนดวงเงิน อย่างไรก็ตาม หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงในส่วนของหนี้ในประเทศเพิ่มขึ้น 11.5 พันล้านบาท จากการออกพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงินรวม 11.5 พันล้าน เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2) หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลงสุทธิ 3.1 พันล้านบาท จากการซื้อคืนพันธบัตรกองทุนที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน และ 3) หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลไม่ค้ำประกัน) ลดลงสุทธิ 2.4 พันล้านบาท จาก บมจ.การบินไทย ได้ชำระคืนหุ้นกู้ 6.0 พันล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถานะของหนี้สาธารณะ ณ เดือน พ.ค. 51 พบว่ามีเสถียรภาพดีมาก โดย 1) หนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศ (เงินสกุลบาท) มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 88.53 ของหนี้สาธารณะรวม 2) หนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 94.2 ของหนี้สาธารณะรวม และ 3) สัดส่วนยอดหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 36.1 ซึ่งยังคงอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดสัดส่วนไว้ไม่เกินร้อยละ 50
Economic Indicators: Next Week
รายได้จัดเก็บรัฐบาลเดือน ก.ค. 51 คาดว่าจะมีรายได้จัดเก็บสุทธิ 90.8 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อปี โดยภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 12.0 ต่อปี ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.0 ต่อปี เนื่องจากทิศทางการนำเข้าและอุปสงค์เพื่อการบริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวจากปัจจัยราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ภาษีฐานรายได้ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล) คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเช่นกันที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี เนื่องจากรัฐบาลได้ออกมาตรการลดภาษีเพื่อคืนเงินกลับสู่กระเป๋าประชาชนเมื่อวันที่ 4 มี.ค.51 ตลอดจนฐานเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ
Foreign Exchange Review
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อ่อนค่าลง ยกเว้นค่าเงินรูเปียห์อินโดนิเซีย ที่แข็งค่าขึ้น
ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากสถานการณ์ภาคการเงินของสหรัฐปรับตัวดีขึ้นจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ร่วมมือกับธนาคารกลางยุโรปและสวิสเซอร์แลนด์ขยายการจัดหาสภาพคล่องให้กับวานิชธนกิจต่าง ๆ ขณะที่รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือธนาคาร Fannie Mae และ Freddie Mac ที่ประสบปัญหาอีกด้วย นอกจากนั้นตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐล่าสุดหลายตัวมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น โดยดัชนีราคาบ้าน S&P Case-Shiller ในเดือน มิ.ย. หดตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ Conference Board และการจ้างงานภาคเอกชนในเดือน ก.ค. ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลบวกต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าตัวเลข GDP ไตรมาส 2 เบื้องต้นของสหรัฐที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี จะน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ก็ตามนอกจากนั้นราคาน้ำมันที่ลดต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจไม่ตกต่ำมากดังคาด
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในยุโรปปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปีในเดือน มิ.ย. หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อยุโรปเดือน ก.ค. เบื้องต้นขยายตัวถึงร้อยละ 4.1 ขณะที่อัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. ยังคงอยู่ระดับสูงที่ร้อยละ 7.3 ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจยุโรปที่ตกต่ำต่อเนื่องนี้ ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางของยุโรป (ECB) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมจนถึงสิ้นปี ขณะที่ยังคงเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 2 หากเงินเฟ้อยังคงเป็นความเสี่ยง ทำให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินทุนจากตลาดยุโรปและเอเชียไปลงทุนในสหรัฐมากขึ้น ค่าเงินเอเชียและยูโรจึงอ่อนค่าลง
ด้านค่าเงินรูเปียห์อินโดนิเซีย แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากราคาน้ำ มันดิบที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดแรงกดดันต่อเศรษฐกิจของอินโดนิเซียที่พึ่งพิงน้ำมันในระดับสูง
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนยกเว้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เยน ดอลลาร์ฮ่องกง และรูเปียห์อินโดนิเซีย
สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นเนื่องจากค่าเงินดังกล่าวอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐสืบเนื่องจากการที่สถานการณ์ภาคการเงินปรับตัวดีขึ้นขณะที่ราคาน้ำมันยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังคงลดระดับการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง แต่การที่ค่าเงินยูโร และค่าเงินเอเชียอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลดังกล่าวจึงแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินเยน ดอลลาร์ฮ่องกง และรูเปียห์อินโดนิเซียเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงน้อยค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลดังกล่าว
ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 1 ส.ค. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 3.81 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 3.78
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 20.0) ดอลลาร์ฮ่องกง(ร้อยละ 13.6) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 13.1) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 12.2) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 6.6) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 5.3) เงินเยน (ร้อยละ 4.9) และริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 0.6) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 2.4) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.7) หยวน (ร้อยละ 2.8) และยูโร (ร้อยละ 9.2)
Foreign Exchange and Reserves
ในสัปดาห์ก่อน ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation ณ วันที่ 25 ก.ค.51 ลดลงสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน-0.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 121.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -1.30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นของ Forward Obligation จำนวน 0.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลง คาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วพบว่านักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิต่อเนื่องเล็กน้อยที่ประมาณ -0.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้ สะท้อนว่า ผลจากการเข้าแทรกแซงของทางการมีน้อยกว่าความต้องขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติจึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 18 ก.ค.51) 0.04 บาท จาก 33.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 25 ก.ค.51 หรืออ่อนค่าลงคิดเป็นร้อยละ 0.12
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ตัวเลข GDP ที่แท้จริงของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ปี 51 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 51 ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.8 ต่อปี เป็นผลจากการบริโภคขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 51 ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยการบริโภคในสินค้าคงทนหดตัวลงร้อยละ -1.2 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 17 ปีในขณะเดียวกันการลงทุนภายในประเทศก็หดตัวมากขึ้นที่ร้อยละ -7.5 ต่อปี จากร้อยละ
-2.3 ต่อปี ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัวติดต่อกันมาแล้ว 9 ไตรมาส ทั้งนี้ การหดตัวดังกล่าวมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมาอยู่ที่ร้อยละ -22.2 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 ปี 51อย่างไรก็ดี การส่งออกของสหรัฐฯ ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 10.2 ต่อปี และการนำเข้าลดลงในอัตราเร่งที่ร้อยละ -1.7 ต่อปี อันเป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนลง ยังช่วยพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไว้ได้บ้าง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 51 กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากตกสู่จุดต่ำสุดในรอบ 16 ปี ที่ 51.0 ในเดือน มิ.ย. 51 โดยดัชนีดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 51.9 ในเดือนนี้ แต่ก็ยังเป็นค่าที่ต่ำกว่าดัชนีในเดือนเดียวกันเมื่อปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 111.9 อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นก็ยังไม่อาจสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ปี 51 ได้ หากภาคการลงทุนของสหรัฐฯ ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องไปในอนาคต
ดัชนีราคาบ้าน S&P Case-Shiller ใน 20 เมืองใหญ่ของสหรัฐในเดือน พ.ค.หดตัวลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ -15.8 ต่อปี และต่อเนื่องจากเดือนเม.ย. ที่หดตัวร้อยละ -15.2 ต่อปี แต่เป็นการหดตัวที่น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -16.1 ต่อปี ขณะที่ดัชนีดังกล่าวใน 10 เมืองใหญ่หดตัวที่ร้อยละ -16.9 อย่างไรก็ตาม ราคาบ้านใน 7 เมืองใหญ่เริ่มมีการหดตัวในอัตราที่ลดลง บ่งชี้ว่าภาวะชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐอาจไม่รุนแรงมากอย่างที่คาดไว้เดิมอนึ่ง สศค. คาดว่าภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐอาจยังคงตกต่ำต่อเนื่องจนถึงปี 52 โดย
ราคาบ้านอาจหดตัวต่ำสุดที่ร้อยละ -25 จากราคาสูงสุดเมื่อเดือน ก.ค. 48 จากระดับปัจจุบันที่หดตัวร้อยละ -18.4 จากจุดดังกล่าว
GDP เกาหลีใต้ไตรมาสที่ 2 ปี 51 ขยายตัวร้อยละ 4.8 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 5.8 ต่อปี ในไตรมาสที่ 1 ปี 51 เป็นผลจากการหดตัวลงของการบริโภคภาคเอกชนที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี สาเหตุจากภาวะเงินเฟ้อที่ทวีความรุนแรงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบน้ำเข้าที่สูงขึ้นมากในช่วงไตรมาส 2 ประกอบกับค่าเงินวอนที่อ่อนลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี แม้การลงทุนในโรงงานจะเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 1.0 ต่อปี ทำให้การขยายตัวของอุปสงค์รวมภายในประเทศอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกซึ่งมีสัดส่วนถึงเกือบครึ่งของ GDP เกาหลีใต้ยังคงขยายตัวดีอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2 เนื่องจากการกระจายตลาดส่งออกของสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ไปยังตลาดเกิดใหม่ทดแทนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของเกาหลีใต้เองกำลังมีแนวโน้มที่จะชะลอลงมากขึ้น ในขณะที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสุทธิและ GDP ของเกาหลีใต้ในไตรมาสต่อไป
ดุลการค้าเกาหลีใต้เดือน ก.ค. 51 ขาดดุลที่ -1.6 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจาก -0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากการขยายตัวของการนำเข้าที่เร่งขึ้นจากร้อยละ 32.4 ต่อปี เป็นร้อยละ 47.3 ต่อปี ตามต้นทุนสินค้าวัตถุดิบ อย่างไรก็ดี ดุลการค้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในอนาคต เนื่องจากการส่งออกยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 37.1 ต่อปี เร่งจากร้อยละ 16.6 ต่อปี ผลจากการส่งออกเรือและโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปยังจีน ตะวันออกกลาง และละติน อเมริกาเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกเรือขยายตัวถึงเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกเรือในเดือนเดียวกันปีก่อนหน้าและการส่งออกโทรศัพท์เคลื่อนที่ขยายตัวร้อยละ 22.0 ต่อปี ในขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีหดตัวลงร้อยละ 155.0 ต่อปี
ธนาคารกลางอินเดียปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมขึ้นเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 51 หลังอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.9 ต่อปี เป็นร้อยละ 12.0 ต่อปี โดยปรับ Repo Rate ขึ้นร้อยละ 0.5 จากร้อยละ 8.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 9.0 ต่อปี และปรับขึ้นสัดส่วนเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 8.75 ของเงินฝากทั้งหมดเป็นร้อยละ 9.0 ของเงินฝากทั้งหมดเพื่อลดปริมาณเงินสดส่วนเกินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ
เศรษฐกิจ การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียชะลอลงในไตรมาสที่ 3 ปี 51
Major Trading Partners’ Economies: Next Week
ดุลการค้าไต้หวันเดือน ก.ค.51 คาดว่าจะเกินดุลลดลง ผลจากการส่งออกที่ขยายตัวชะลอลง เห็นได้จากการขยายตัวที่ชะลอลงของคำสั่งซื้อสินค้าออกของไต้หวันในเดือน มิ.ย.51 ซึ่งเป็นเครื่องชี้ภาวะการส่งออกของประเทศล่วงหน้า 1-3 เดือน ตัวเลขดังกล่าวซึ่งประกาศโดยกระทรวงเศรษฐกิจของไต้หวันเมื่อวันที่ 23 ก.ค.51 ลดลงจากร้อยละ 14.5 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 9.3 ต่อปีทั้งนี้ ตัวเลขคำสั่งซื้อดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการจากสหรัฐฯ ที่ลดลงในขณะที่ความต้องการจากยุโรป จีนและฮ่องกงยังคงขยายตัวดีอยู่ ในขณะที่การนำเข้าน่าจะมีการขยายตัวเร่งขึ้นตามราคาสินค้าวัตถุดิบนำเข้า
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ