รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 4, 2008 11:58 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 ส.ค. 2551 
SUMMARY:
- คาดไตรมาส 2 กำไรบจ.ยังขยายตัว ขณะที่ปัจจัยน้ำมัน-การเมืองฉุดครึ่งปีหลัง
- นักวิเคราะห์คาด Fed คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
- สหรัฐว่างงานมากสุดในรอบ 4 ปี
HIGHLIGHT:
1.คาดไตรมาส 2 กำไรบจ.ยังขยายตัว ขณะที่ปัจจัยน้ำมัน-การเมืองฉุดครึ่งปีหลัง
- บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 455บริษัท รายงานผลประกอบการงวดไตรมาสที่ 1 สิ้นสุด 31 มี.ค.51 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนร้อยละ 33 ต่อปี ขณะที่ยอดขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 ต่อปี โดยกลุ่มที่มีกำไรสูงสุด คือ กลุ่มทรัพยากร กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มบริการ
- ด้าน ผอ.ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศไทย) ประเมินว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2 ปี 51 จะมีการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10-15 ต่อปี ลดลงจากต้นปีที่ประเมินว่าจะขยายตัวร้อยละ 20 ต่อปี ขณะที่ครึ่งปีหลังปี 51 คาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ทางการเมือง ราคาน้ำมัน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยเสี่ยงจากความเชื่อมั่นทางการเมือง ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ซี่งจะกระทบต่อกำไรของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 5.0-55 ต่อปี ชะลอลงจากครึ่งแรกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 5.9 ต่อปี ทำให้ทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.6 ต่อปี
2. นักวิเคราะห์คาด Fed คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
- สำนักข่าวเอเอฟพี อ้างถึงนักวิเคราะห์หลายฝ่ายที่คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีแนวโน้มที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิมที่ร้อยละ 2.0 เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจไม่มีความแน่นอน หลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขการขยายตัวช่วงไตรมาส 2 ที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.9 (%qoq) ขณะที่ตัวเลขว่างงานช่วงเดือนก.ค. กลับมาอยู่ที่ร้อยละ 5.7 ทั้งนี้ เฟดจะจัดการประชุมเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 5 ส.ค.นี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า เป็นไปได้มากที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 2.0 เนื่องจากตัวเลข GDP ที่แท้จริงของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ปี 51 ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ปี 51 ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.8 ต่อปี ประกอบกับความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อก็ยังคงกดดันอยู่ต่อเนื่อง โดยในเดือน ก.ค. 51 ขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี (ตั้งแต่ต้นปึถึงปัจจุบันขยายตัวไปแล้วร้อยละ 4.2 ต่อปี เร่งตัวขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี ) อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐยังมีปัจจัยบวกในเรื่องดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 51 กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งที่ระดับ 51.9 จากต่ำสุดในรอบ 16 ในเดือนก่อนที่ระดับ 51.0
3. สหรัฐว่างงานมากสุดในรอบ 4 ปี
- กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่าอัตราการว่างงานในเดือน ก.ค. อยู่ที่ร้อยละ 5.7 ของกำลังแรงงานรวม สูงสุดในรอบ 4 ปี และปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน มิ.ย. ที่อยู่ที่ร้อยละ 5.5 ในขณะที่ตัวเลขจำนวนแรงงานถูกปลดออกอยู่ที่ 5.1 หมื่นตำแหน่ง โดยภาคที่มีการปลดคนงานมากที่สุดได้แก่ภาคการก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรม สอดคล้องกับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสถาบัน ISM ที่อยู่ที่ 50 จุด ชะลอจาก 50.2 จุดในเดือน มิ.ย. และบ่งชี้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมไม่มีการขยายตัวในเดือนที่ผ่านมา
- สศค. วิเคราะห์ว่าจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญกับ 3 ปัจจัยเสี่ยงหลัก อันได้แก่ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ภาคการเงินที่ตึงตัวต่อเนื่อง และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัว ผลักดันให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง ส่งผลกระทบสืบเนื่องทำให้บริษัทเอกชนเริ่มชะลอการผลิตและปลดคนงานออก โดย สศค. คาดว่าอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงประมาณร้อยละ 6.2 ณ ปี 52 ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-farm Payroll) มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งนี้ หากสถานการณ์ตึงตัวภาคการเงินเริ่มบรรเทาลง ประกอบกับราคาน้ำมันที่เริ่มลดลง น่าจะทำให้การบริโภคและการผลิตภาคเอกชนของสหรัฐพลิกฟื้นขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของปี 52 ได้
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ