Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 ส.ค. 2551
SUMMARY:
- สินค้าหลายรายการเตรียมขอปรับขึ้นราคาสวนทางน้ำมันขาลง
- นายทนง พิทยะ แนะธปท.ตั้งรับการเปิดเสรีทางการเงิน
- Fed ตรึงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดจะตรึงจนถึงสิ้นปี
HIGHLIGHT:
1. สินค้าหลายรายการเตรียมขอปรับขึ้นราคาสวนทางน้ำมันขาลง
- นายกสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว เปิดเผยว่า สมาคมเตรียมเสนอ รมว.พาณิชย์ ให้ปรับราคาน้ำมันถั่วเหลืองอีกลิตรละ 4.50 บาท หรือจาก 49.50 บาท เป็น 54 บาท โดยหากไม่ปรับสินค้าจะออกสู่ตลาดน้อยลง เพราะต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นจาก 11 บาท เป็น 22 บาท/กก. ขณะที่ คณะอนุกรรมการพิจารณาผลิตภัณฑ์นมเตรียมปรับราคานมกล่องขนาด 250 ซีซี ขึ้น 70-75 สต. ต่อกล่อง ด้านอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กำลังเตรียมเสนอโครงสร้างต้นทุนการผลิตสินค้า รวม 1,439 รายการ เนื่องจากราคาน้ำมันเริ่มลดลง รวมถึงวัตถุดิบบางชนิดเริ่มทรงตัว
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาสินค้าที่ขอปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้นทุนการผลิตในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีการขยายตัวสูงมาก อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องน่าจะช่วยบรรเทาอัตราเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ สศค.คาดว่า ภายหลังจาก 6 มาตรการ 6 เดือน อัตราเงินเฟ้อในปี 2551น่าจะอยู่ร้อยละ 6.9 ต่อปี จากเดิมที่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี
2. ทนง พิทยะ แนะธปท.ตั้งรับการเปิดเสรีทางการเงิน
- นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แนะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรตั้งรับการเปิดเสรีทางการเงิน เนื่องจากสถาบันการเงินไทยยังอ่อนแอและมีขนาดเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยในอนาคตอาจต้องมีการควบความธนาคารที่ทำธุรกรรมครบวงจร (ยูนิเวอร์แซลแบงกิ้ง) เหลือเพียง 3 แห่งจากปัจจุบันมีอยู่ 6-7 แห่ง และอาจมีการควบรวมกิจการใน 3 ธนาคารของรัฐ นอกจากนั้นยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงด้านกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลสถาบันการเงินไทยที่จะต้องมีการจำแนกกฎเกณฑ์เฉพาะให้สอดคล้องกับภารกิจในธนาคารแต่ละกลุ่มเพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันในอนาคต
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในระยะต่อไปสถาบันการเงินไทยน่าจะมีความเข้มเข็งมากขึ้น หลังจากพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินเริ่มมีผลบังคับใช้ เนื่องจาก พ.ร.บ. ดังกล่าวมุ่งเน้นให้สถาบันการเงินมีการบริหารความเสี่ยง ทำธุรกรรมอย่างโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลให้แก่ลูกค้าอย่างชัดแจ้ง รวมถึงมีธรรมาภิบาลที่ดีขึ้น ซึ่งจะสร้างทั้งความเป็นธรรมให้กับลูกค้า ก่อให้เกิดการแข่งขัน และสร้างประสิทธิภาพให้กับภาคการเงินโดยรวม
3. Fed ตรึงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดจะตรึงจนถึงสิ้นปี
- ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 ในการประชุมคณะกรรมการตลาดเงิน (FOMC) ณ วันที่ 5 พ.ค. ขณะที่แถลงการณ์ของ FOMC ให้ความสำคัญกับทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงจากการว่างงานที่สูงขึ้น ตลาดการเงินที่ตึงตัว ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัว และราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันภาวะเงินเฟ้อสูงก็ยังคงเป็นความเสี่ยงเนื่องจากภาวะราคาสินค้าในอนาคตยังคงผันผวนสูง ด้านนักวิเคราะห์จาก Lehman Brothers คาดว่า Fed จะตรึงดอกเบี้ยถึงสิ้นปีเนื่องจากภาวะตลาดการเงินตึงตัวยังคงเป็นความเสี่ยง และอาจจะเริ่มปรับดอกเบี้ยลงในไตรมาสแรกของปี 52 เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะชะลอลงอีกครั้งหลังประสิทธิภาพของมาตรการคืนภาษีของรัฐบาลเริ่มลดลง
- สศค. วิเคราะห์ว่าเป็นไปได้สูงที่ Fed จะยังคงดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2 ไปจนถึงสิ้นปี เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความเสี่ยงทั้งจากภาวะตลาดแรงงาน อสังหาริมทรัพย์ และภาคการเงิน ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน่าจะเริ่มลดลงตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเริ่มฟื้นตัวขึ้นในปี 52 หลังจากภาวะตึงตัวภาคการเงินเริ่มผ่อนคลายลงจากการที่ Fed อัดฉีดสภาพคล่อง ประกอบกับภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ภาคส่งออกขยายตัวได้ดีเนื่องจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า ซึ่งน่าจะทำให้ Fed เริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้น ณ ครึ่งหลังของในปี 52
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th