รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 7, 2008 14:04 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 ส.ค. 2551 
SUMMARY:
- ธปท. เตือนแบงก์รับความเสี่ยงครึ่งปีหลัง สินเชื่อชะลอตัว-หนี้เสียพุ่ง
- รัฐมนตรีใหม่ประกาศนโยบายเศรษฐกิจ
- ผลสำรวจชี้ตลาดเอเชียขาดแคลนแรงงานมีทักษะ
HIGHLIGHT:
1. ธปท. เตือนแบงก์รับความเสี่ยงครึ่งปีหลัง สินเชื่อชะลอตัว-หนี้เสียพุ่ง
- รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ธปท.ได้หารือเพื่อประเมินภาวะแวดล้อมในต่างประเทศ โดยพบว่าในช่วงครึ่งปีหลังตลาดการเงินมีความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเตือนสถาบันการเงินให้พิจารณาความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและเครดิตในการทำธุรกิจ ซึ่งจะมีผลให้อัตราการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อาจชะลอลง รวมทั้งกระทบต่อคุณภาพหนี้ในอนาคต
- สศค. วิเคราะห์ว่า สินเชื่อภาคเอกชนของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 50 ภายหลังจากการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. มาอยู่ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี เมื่อเดือน ก.ค. 50 โดยในเดือน ก.ค. 51 สินเชื่อเอกชนขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปี สูงสุดในรอบ 17 เดือน อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ประกอบกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจกระทบต่อทิศทางดอกเบี้ย การขยายตัวของสินเชื่อ และปริมาณหนี้เสีย ( NPL) ในอนาคตได้
2. รัฐมนตรีใหม่ประกาศนโยบายเศรษฐกิจ
- รมว.พาณิชย์ ประกาศหลังเข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นวันแรก (6 ส.ค.51) ว่า จะตรึงราคาสินค้าที่มีผลกระทบต่อประชาชนมิให้ขยับขึ้นอีกเป็นเวลาอย่างน้อย 6-8 เดือน โดยจะดูแลอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ไม่ให้เกินร้อยละ 6 อย่างไรก็ตาม หากสินค้าใดมีต้นทุนสูงขึ้น และการขึ้นราคาไม่กระทบมาก ก็จะยอมให้ขึ้นราคาได้ นอกจากนี้ จะผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวจากร้อยละ 12.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 20 ต่อปี ขณะที่ รมว.อุตสาหกรรม ประกาศทิศทางการบริหารใหม่ว่าจะกระตุ้นยอดการส่งเสริมการลงทุนโดยการจัดโซนนิ่งพื้นที่สินค้าราคาถูกตามแนวชายแดน เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้มาตั้งโรงงานในพื้นที่ดังกล่าว เพราะขณะนี้นักลงทุนกำลังประสบปัญหาค่าแรงราคาแพง จึงคิดจะย้ายฐานการลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่นและเกาหลี
- สศค.คาดว่าในปี 51 เงินเฟ้อจะอยู่ร้อยละ 6-8 ต่อปี อย่างไรก็ตาม หลังจากการประกาศใช้ 6 มาตรการ 6 เดือน ของรัฐบาล น่าจะทำให้เงินเฟ้อปี 51 ลดลงมาในระดับร้อยละ 6-7 ต่อปี ด้านการส่งออก สศค. คาดว่า มูลค่าการส่งออกไทยในปี 51 จะขยายตัวในระดับร้อยละ 20.3 ต่อปี เร่งตัวจากปี 50 ที่อยู่ที่ร้อยละ 18.1 ต่อปี เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ผลักกดันให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น
3. ผลสำรวจชี้ตลาดเอเชียขาดแคลนแรงงานมีทักษะ
- กระทรวงทรัพยากรมนุษย์สิงคโปร์เปิดเผยผลสำรวจความเห็นผู้นำภาคธุรกิจ 80 คนในจีน อินเดีย และสิงคโปร์ว่าภาคธุรกิจเอเชียกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถและชำนาญเฉพาะทาง นอกจากนั้นยังระบุว่าบรรดาบริษัทผู้ว่าจ้างจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้พนักงานมีอิสระ มีอำนาจ มีความยืดหยุ่นและเจอกับเรื่องท้าทายมากขึ้นหากต้องการดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถ โดยที่ผ่านมาพบว่าพนักงานเปลี่ยนงานบ่อยครั้งขึ้น แทนที่จะแสวงหาตำแหน่งงานที่เปิดโอกาสให้ทำงานได้ยาวนานตลอดชีวิต
- สศค. วิเคราะห์ว่าแม้ว่าประเทศไทยจะมีความยืดหยุ่นในตลาดแรงงานสูง ทำให้อัตราการว่างงานเฉลี่ยของไทยที่ร้อยละ 2 ของกำลังแรงงานรวมนั้นอยู่ต่ำกว่าเพื่อนบ้านมาโดยตลอด แต่แรงงานไทยมิได้มีประสิทธิภาพในการผลิต (Labor Productivity) โดดเด่นกว่าเพื่อนบ้าน โดยอยู่ที่ประมาณ 6.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ต่ำกว่ามาเลเซียที่อยู่ที่ 12.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง และยังมีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำที่ประมาณร้อยละ 3 ต่อปี ต่ำกว่าจีนที่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 16 ต่อปี ดังนั้นภาครัฐและเอกชนควรสนับสนุนด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งสนับสนุนด้านการพัฒนาและวิจัย (R&D) เพื่อทำให้พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานรวมถึงความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ