รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 สิงหาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 8, 2008 12:28 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 ส.ค. 2551 
SUMMARY:
- ม.หอการค้าคาด 6 มาตรการรัฐบาลช่วย GDP ขยายตัวร้อยละ 5.6 ต่อปี
- สศช. ชี้คนไทยฐานะดีขึ้น
- ECB คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หวั่นเศรษฐกิจชะลอลงอีก
HIGHLIGHT:
1. ม.หอการค้าคาด 6 มาตรการรัฐบาลช่วย GDP ขยายตัวร้อยละ 5.6 ต่อปี
- ผอ. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทยแถลง “สรุปภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ปี 2551 และแนวโน้มปี 2552” ว่าทางศูนย์ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับร้อย 5.5 เพิ่มเป็นร้อยละ 5.5-6.0 โดยมีความเป็นไปได้มากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 5.6 เนื่องจากปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ “6 มาตรการ 6 เดือน” ซึ่งมีวงเงินราว 4.9หมื่นล้านบาท รวมถึงโครงการขนาดใหญ่ที่คาดว่าเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นในครึ่งปีหลัง นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ทรงตัวอ่อนค่าลง ยิ่งมีส่วนช่วยกับภาคส่งออก โดยคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวที่ร้อยละ 18-20 ต่อปี
- สศค. วิเคราะห์ว่า รัฐบาลได้ออก 6 มาตรการเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนในระยะสั้น โดยคงหลักการในการประหยัดพลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในภาคประชาชน ตลอดจนผลกระทบต่อรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อย เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจมีความรุนแรงขึ้นในภาคการบริโภคของประชาชน ซึ่งสศค. ได้ประมาณการผลของมาตรการนี้พบว่า จะสามารถลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปี 2551 ลงได้จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ ณ เดือน มิ.ย. 51 ที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี เหลือร้อยละ 6.9 ต่อปี และมีส่วนช่วยให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.6 ต่อปี เป็น ร้อยละ 5.7 ต่อปี
2. สศช. ชี้คนไทยฐานะดีขึ้น
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยผลการดำเนินงานปีแรก (ต.ค. 2549-ก.ย. 2550) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยปรับตัวดีขึ้น จำนวนคนจนลดลงเหลือ 5.4 ล้านคน หรือร้อยละ 8.5 ของจำนวนประชากร 63 ล้านคน จากเมื่อปี 2549 มีคนจน 6.1 ล้านคน ทั้งนี้เส้นแบ่งความยากจนได้ปรับขึ้นจาก 1,386 บาท/เดือน/คน เมื่อปี 2540 เป็น 1,443 บาท/เดือน/คน ในปี 2550 ซึ่งสะท้อนถึงภาวะรายได้ที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าคุณภาพแรงงานดีขึ้น เนื่องจากแรงงานที่มีการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไปมีจำนวนมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปลายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9
- สศค. วิเคราะห์ว่า หลังจากวิกฤตในปี 2540 เป็นต้นมาเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.5 — 5.0 ต่อปี เนื่องจากภาครัฐและเอกชนมีความตื่นตัวในการดำเนินนโยบายที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน และป้องกันความเสี่ยงจากวิกฤตต่างๆมากขึ้น ประกอบกับให้ความสำคัญกับคนในทุกระดับชนชั้น โดยเฉพาะพวกเกษตรกร ส่งผลให้เกิดการกระจายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 51 จะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 50 ที่ร้อยละ 5.0-6.0 ต่อปี
3. ECB คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หวั่นเศรษฐกิจชะลอลงอีก
- การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 51 มีมติคงอัตราดอกเบี้ย Base Rate ไว้ที่ร้อยละ 4.25 ต่อปี แม้จะมีอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค. 51 แตะระดับสูงสุดที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี โดยคาดว่าภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้ผลิตและนักลงทุนอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหภาพยุโรปมีการชะลอลงอีกในครึ่งหลังของปี 51
- สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นและคาดว่าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายต่อไปอีกในช่วงครึ่งหลังของปี 51 แต่ ECB ก็น่าจะยังคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.25 ต่อปี จนกระทั่งสิ้นปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 51 อยู่ในช่วงขาลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจยูโร ปี 51น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี ลดลงจากร้อยละ 2.7 ต่อปี ในปี 50 จะเห็นได้จากตัวเลขการค้าปลีกของยูโรโซนในเดือนมิ.ย. 51 ที่หดตัวลงมากถึงร้อยละ -3.7 ต่อปี และประเทศสมาชิกหลายประเทศเองเริ่มมีตัวเลขการส่งออกชะลอลง เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส และสเปน เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ