ภาพรวมสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประจำเดือนมิถุนายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 6, 2008 13:52 —กระทรวงการคลัง

          กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (U.S. Department of Labor) ได้ประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนที่ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ร้อยละ 1.1 จากที่คาดการณ์ไว้เพียงร้อยละ 0.7 ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นที่สูงเป็นอันดับสองในรอบ 27 ปี รองจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ในเดือนกันยายน 2548 จากผลกระทบของเฮอริเคน คัทรีนา โดย ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาปรับตัวสูงกว่าเดือนมิถุนายนปีก่อนหน้าร้อยละ 5.5 ซึ่งนับว่าเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 17 ปี โดยเฉพาะสามเดือนหลัง ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.9 ทั้งนี้ สองในสามของดัชนีราคาผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ร้อยละ 6.6 โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภค ดังกล่าว ส่งผลให้รายได้รายสัปดาห์หลังหักอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนลดลงจากเดือนพฤษภาคม ร้อยละ 0.9 นับเป็นการปรับตัวลดลงที่มากที่สุดในรอบ 24 ปี
ราคาอาหารในเดือนมิถุนายนปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.6 หรือสองเท่าของอัตราการเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ราคาพืชผักเพิ่มสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี ด้วยอัตราร้อยละ 6.1 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ไม่รวมสินค้าหมวดอาหารและพลังงาน ได้แสดงถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ไปอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เปรียบเทียบกับปริมาณการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในเดือนพฤษภาคม
ทางด้านประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (นายเบน เบอร์นันเก้) ได้รายงานการคาดการณ์รายครึ่งปีต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น การปรับตัวลดลงของมูลค่าเศรษฐทรัพย์ (wealth) การอ่อนตัวของตลาดแรงงาน ราคาน้ำมัน อาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น รวมทั้งความตึงตัวในตลาดการเงินสหรัฐฯ โดยในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราต่ำกว่าช่วงก่อนหน้าผลผลิตภาคอุสาหกรรมโดยรวมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.1 ซึ่งนับว่าเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุด นับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2544 อย่างไรก็ตาม ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ร้อยละ 0.2 เปรียบเทียบกับการปรับตัวลดลงร้อยละ 0.1 ในเดือนพฤษภาคม และร้อยละ 0.9 ในเดือนเมษายน โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผลผลิตในภาคอุสาหกรรมรถยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.4 ซึ่งเป็นผลจากการยุติการประท้วงของสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์นับเป็นการชดเชยกับการหดตัวของภาคอุสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะ ส่วนผลผลิตในภาคสาธารณูปโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ในขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ทั้งนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุสาหกรรมในเดือนมิถุนายนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ร้อยละ 79.9 เปรียบเทียบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนพฤษภาคมที่ร้อยละ 79.6
นายเบอร์นันเก้ กล่าวต่อไปอีกว่า มีความเป็นไปได้ที่การใช้จ่ายของประชาชนสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงต่อไป และมีแนวโน้มว่าภาคเอกชนจะยังคงชะลอการลงทุนในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่เหลือของปี แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยการจ่ายคืนเงินชดเชยภาษีให้กับประชาชนจะออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่อัตราการยึดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้กู้ไม่สามารถชำระคืนสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามเวลาที่กำหนด นับเป็นปัจจัยลบที่กดดันราคาบ้านให้ตกต่ำต่อไป อย่างไรก็ตาม นายเบอร์นันเก้ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของพรรคเดโมแครตที่จะนำมาตรการจ่ายคืนเงินชดเชยภาษีดังกล่าว มาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งในปีนี้ หลังจากที่ รัฐสภาสหรัฐฯ ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 191 พันล้านเหรียญสรอ. ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยงบประมาณส่วนหนึ่งได้ใช้จ่ายคืนเงินชดเชยภาษีแก่ประชาชนมูลค่ารวม 136 ล้านเหรียญสรอ.ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ที่ผ่านมา
ด้วย อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปีที่ร้อยละ 3.5 ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อจากสถานการณ์ราคาน้ำมันและพลังงานสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะยังคงมีให้เห็น โดย นายเบอร์นันเก้ กล่าวว่า การควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หรือประมาณร้อยละ 2 นั้น นับเป็นหน้าที่หลักของธนาคารกลางสหรัฐฯ
ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ได้สร้างความกดดันให้กับธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการดำเนินมาตรการกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ให้พ้นจากปัญหาราคาบ้านตกต่ำต่อเนื่อง อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และวิกฤติตลาดการเงิน ในขณะเดียวกัน ยังต้องรับมือกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น อีกด้วย ความผันผวนดังกล่าว ส่งผลให้แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยการปรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นยังไม่ชัดเจน อนึ่ง นายเบอนันเก้ ได้กล่าวถึงภาระกิจสำคัญอันดับแรกของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในทุกวันนี้ว่า คือการพลิกฟื้นภาวะตลาดเงินและตลาดทุนที่ตกต่ำอย่างหนักให้กลับคืนสภาพ เดิม ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal OpenMarket Committee: FOMC) จะมีการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางดอกเบี้ยระยะสั้น ในวันที่ 5 สิงหาคม 2551 นี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทางการไปอีก เพื่อบรรเทาภาวะเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่ถีบตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ นายเบอร์นันเก้ ได้กล่าวย้ำถึงผลกระทบจากวิกฤติสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่มีความเชื่อถือต่ำ ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องว่าเป็นเรื่องที่รัฐสภาสหรัฐฯ ควรเร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน ในการรีไฟแนนซ์สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่กำลังประสบปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเร่งสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อสถานบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ตามที่สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน ได้นำเสนอรายงานในโอกาสแรก
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ