รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 4-8 สิงหาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 11, 2008 13:40 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: Next Week
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ก.ค. 51 คาดว่าขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 15.0 ต่อปี เร่งตัวจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณการนำเข้าที่ขยายตัวในระดับสูง โดยเฉพาะสินค้าประเภทเชื้อเพลิงพลังงาน ในขณะที่คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมน่าจะยังคงขยายตัวได้ดีในระดับปานกลาง
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เดือน ก.ค. 51 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี จากเดือนก่อน ที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี เป็นผลมาจากการขยายตัวของผลผลิตข้าวนาปรัง ยางพาราและมันสำปะหลังที่ร้อยละ 35.0 8.0 และ 20.0 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจาก ภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ประกอบกับราคาสินค้าในตลาดยังอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้มีการเร่งเก็บเกี่ยวมากขึ้น
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.ค. 51 คาดว่าขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงที่ร้อยละ 27.0 ต่อปี ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 25.9 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า (ปรับฐาน ณ อัตราภาษีใหม่ที่ร้อยละ 0.1) ซึ่งเป็นผลจากมาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะจากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 3.0 เป็นอัตราใหม่ที่ร้อยละ 0.1 เมื่อสิ้นเดือน มี.ค. 51 และจะสิ้นสุดผลบังคับใช้ ในเดือน มี.ค. 52 ซึ่งจะมีส่วนจูงใจให้ภาคธุรกิจเร่งทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่ายอดธุรกรรมภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างในอนาคตอาจจะขยายตัวชะลอลงในระยะต่อไป เนื่องจากความเสี่ยงจากราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้นเริ่มส่งผลกระทบต่อการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน ก.ค. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 15.0 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 29.3 ต่อปี เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องในปัจจุบันทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องการปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้น้ำมัน E20 และการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ตาม 6 มาตรการการ 6 เดือนของรัฐบาล น่าจะเป็นปัจจัยบวกให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ยังคงขยายตัวได้ดี
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เดือน ก.ค. 51 คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -13.0 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -20.9 ต่อปี เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันโดยเฉพาะ ราคาน้ำมันดีเซลที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งน่าจะทำให้ภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) ชะลอการซื้อรถบรรทุกขนาด 2 ตัน และรถปิคอัพขนาด 1 ตันอย่างต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ตาม 6 มาตรการการ 6 เดือนของรัฐบาล น่าจะเป็นจูงใจให้ธุรกิจเริ่มขยายการลงทุน และสั่งซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์มากขึ้น
Foreign Exchange Review
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อ่อนค่าลง ยกเว้นค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์ที่แข็งค่าขึ้น
ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2 พร้อมทั้งออกแถลงการณ์ให้ความสำคัญกับทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงและภาวะเงินเฟ้อสูง ทำให้ตลาดคาดว่า Fed จะยังตรึงดอกเบี้ยหรืออาจปรับขึ้นเล็กน้อยในปี 51 แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐหลายตัวยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เช่นอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจำนวน
ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเกินคาด อย่างไรก็ตาม ยอดทำสัญญาซื้อบ้าน (Pending Home Sales) ในเดือน ก.ค. ขยายตัวสูงสุดนับจากเดือน ต.ค. 50 บ่งชี้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐอาจมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลบวกต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้นราคาน้ำ มันที่ลดต่ำ อย่างต่อเนื่อง ทำ ให้นักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจไม่ตกต่ำมากดังคาด
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจยุโรปในเดือน มิ.ย. บ่งชี้ว่าทิศทางเศรษฐกิจยังคงตกต่ำต่อเนื่อง โดยยอดค้าปลีกยุโรปหดตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี ขณะที่ดุลการค้าฝรั่งเศสขาดดุลถึง 5.6 พันล้านยูโร เช่นเดียวกับยอดคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมในเยอรมันนีที่หดตัวร้อยละ -0.4 ในไตรมาส 2 ทำให้ธนาคารกลางของยุโรป (ECB) ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมพร้อมออกแถลงการณ์ให้ความสำคัญกับสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงมากขึ้น ทำให้ตลาดคาดว่าเป็นไปได้ที่ ECB อาจปรับลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปี ขณะที่เป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินทุนจากตลาดยุโรปและเอเชียไปลงทุนในสหรัฐมากขึ้น ค่าเงินเอเชียและยูโรจึงอ่อนค่าลง
ด้านค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดแรงกดดันต่อเศรษฐกิจของเปโซที่พึ่งพิงน้ำมันในระดับสูง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อฟิลิปปินส์ที่อยู่ในระดับสูงทำให้ธนาคารกลางส่งสัญญาณว่าอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง หลังจากที่ได้ปรับดอกเบี้ยขึ้นถึงร้อยละ 0.5 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลบวกต่อค่าเงินเปโซเช่นกัน
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ยกเว้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ฮ่องกง รูเปียห์อินโดนิเซีย เปโซฟิลิปปินส์ และหยวน
สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นเนื่องจากค่าเงินดังกล่าวอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐสืบเนื่องจากการที่ Fed ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายขณะที่ตลาดคาดว่าความน่าจะเป็นที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปีมีมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่สูงมากขึ้น ทำให้นักลงทุนหันกลับไปลงทุนยังสหรัฐมากขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังคงลดระดับการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินดอลลาร์ฮ่องกง รูเปียห์อินโดนิเซีย เปโซฟิลิปปินส์ และหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงน้อยค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลดังกล่าว
ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เ มื่อ เ ทีย บ กับ คู่ค้า ห ลัก 11 ส กุล เ งิน(ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 8 ส.ค. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ4.43 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 3.78
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 20.8) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 13.2) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 12.3) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 12.0) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 7.4) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 7.2) เงินเยน (ร้อยละ 6.1) และริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 1.3) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 2.8) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1.0) หยวน (ร้อยละ 3.0) และยูโร (ร้อยละ 7.1)
Foreign Exchange and Reserves
ณ วันที่ 1 ส.ค.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation ลดลงสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน -0.50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 121.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการเพิ่มขึ้นของ Forward Obligation จำนวน 0.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลง คาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอน
เงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ และการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วพบว่านักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิต่อเนื่องที่ประมาณ -0.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้ สะท้อนว่า ผลจากการเข้าแทรกแซงของทางการมีน้อยกว่าความต้องขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 25 ก.ค.51) ร้อยละ 0.24 จาก 33.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 33.48 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 1 ส.ค.51
Major Trading Partners’ Economies: This Week
อัตราการว่างงานของสหรัฐในเดือน ก.ค. อยู่ที่ร้อยละ 5.7 ของกำลังแรงงานรวม สูงสุดในรอบ 4 ปี ในขณะที่จำนวนแรงงานถูกปลดออกอยู่ที่ 5.1 หมื่นตำแหน่งโดยภาคที่มีการปลดคนงานมากที่สุด ได้แก่ ภาคการก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรมสอดคล้องกับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสถาบัน ISM ที่อยู่ที่ 50 จุด ชะลอจาก 50.2 จุดในเดือน มิ.ย. และบ่งชี้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมไม่มีการขยายตัวในเดือนที่ผ่านมา
การประชุมคณะกรรมการตลาดเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 51 ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี โดยให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงแม้จะมีการใช้มาตรการคืนภาษีของรัฐบาลเห็นได้จากการว่างงานที่สูงขึ้น ตลาดการเงินที่ตึงตัว ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัวและปัญหาราคาพลังงานที่มีความผันผวนมากขึ้น ในขณะเดียวกันภาวะเงินเฟ้อก็ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ทั้งนี้ Fed อาจจะตรึงดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปีเนื่องจากภาวะตลาดการเงินที่ยังคงตึงตัว และเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะชะลอลงอีกครั้งในครึ่งหลังของปี 51
ดุลการค้ามาเลเซียเดือน มิ.ย.51 เกินดุลที่ 13.0 พันล้านริงกิต ลดลงจาก 15.5 พันล้านริงกิตในเดือน พ.ค. 51 เป็นผลจากการขยายตัวของการนำเข้าที่เร่งขึ้นที่ร้อยละ 12.1 ต่อปี จากร้อยละ 9.4 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่การส่งออกมีการขยายตัวที่ร้อยละ 18.4 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 22.9 ต่อปี อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ยังขยายตัวสูงอยู่นั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าประเภทเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันดิบก๊าซธรรมชาติเหลว น้ำมันปาล์ม รวมถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.7 ต่อปี ซึ่งช่วยชดเชยการชะลอลงของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าออกหลักของมาเลเซีย และการหดตัวของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับมิติคู่ค้านั้น การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -5.9 ต่อปี แต่การส่งออกไปยังคู่ค้าหลักอื่น ๆ ยังคงขยายตัวดีอยู่ อาทิเช่นจีน ญี่ปุ่น และอาเซียน
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 51 มีมติคงอัตราดอกเบี้ย Base Rate ไว้ที่ร้อยละ 4.25 ต่อปี แม้จะมีอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค. 51 แตะระดับสูงสุดที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2 ต่อปี โดยเกรงว่าหากมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนอกจากจะทำให้ต้นทุนการลงทุนสูงขึ้นแล้ว ยังทำให้ค่าเงินยูโรแข็งขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการทำให้
เศรษฐกิจยูโรโซนชะลอลงอีก ในภาวะที่ผู้ผลิตมีภาระต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น กอปรกับการชะลอลงของภาคการส่งออก จึงมีการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวน่าจะยังคงไว้ที่ร้อยละ 4.25 ต่อปีจนถึงสิ้นปีนี้ เพื้อพยุงเศรษฐกิจยูโรโซน
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 51 มีมติเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 5.0 ต่อปี เป็นร้อยละ 5.25 ต่อปี ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 7 ปีครึ่ง หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน ก.ค. 51 ขยายตัวสูงขึ้นอีกที่ร้อยละ 5.9 ต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่เกินกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายเฉลี่ยในช่วงปี 50-52 ที่ทางธนาคารกลางกำหนดไว้ที่ร้อยละ 2.5-3.5 ต่อปี ทั้งนี้ ธนาคารกลางเกรงว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศจึงจำเป็นต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยให้ค่าเงินวอนไม่อ่อนลงมากนัก เพราะการอ่อนค่าของเงินวอนจะยิ่งส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อระดับราคาสินค้าภายในประเทศต่อไป อย่างไรก็ดีคาดว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในปีนี้ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะแตะระดับสูงสุดในเดือน ส.ค. 51
ดุลการค้าไต้หวันเดือน ก.ค. 51 ขาดดุลที่ -0.1 พันล้านเหรียญดอลลาร์ไต้หวัน เป็นผลมาจากการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อปี ชะลอลงจากเดือน มิ.ย. 51 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.3 ต่อปี โดยการส่งออกไปฮ่องกงและจีนซี่งถือเป็นตลาดหลักขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี และการส่งออกไปยังสหรัฐฯ หดตัวมากขึ้นที่ร้อยละ -6.1 ต่อปีทั้งนี้การส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ
44.8 มีการปรับตัวลดลงร้อยละ -0.9 ต่อปี อย่างไรก็ดี การนำเข้าก็ขยายตัวชะลอลงเช่นกัน โดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 ต่อปี เป็นผลจากการนำเข้าจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าหลักหดตัวลงร้อยละ -0.9 ต่อปีในขณะที่การนำเข้าจากฮ่องกงและจีนขยายตัวชะลอลงร้อยละ 12.8 ต่อปี และจากสหรัฐฯ หดตัวลงร้อยละ -7.2 ต่อปี โดยมีการนำเข้า สินค้าในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีสัดส่วนต่อมูลค่าการส่งออกรวมร้อยละ 29.1 หดตัวร้อยละ -10.2 ต่อปี ตามความต้องการที่ลดลง อย่างไรก็ตาม มีการนำเข้าสินค้าในหมวดสินแร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.7 ต่อปี โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ทำให้มูลค่าการนำเข้ายังคงขยายตัวสูง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปฟิลิปปินส์เดือน ก.ค. 51 อยู่ที่ร้อยละ 12.2 ต่อปี สูงขึ้นจากร้อยละ 11.4 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากราคาสินค้าในหมวดอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบที่ขยายตัวร้อยละ 17.8 ต่อปี เร่งขึ้นจากร้อยละ 16.5 ต่อปีในเดือน มิ.ย.51 โดยเฉพาะหมวดอาหารที่มีดัชนีราคาเฉลี่ยขยายตัวร้อยละ 18.6 ต่อปี เพิ่มจากร้อยละ 17.4 ต่อปี ในเดือน มิ.ย. 51 นอกจากนี้ ยังมีการปรับเพิ่มสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดบริการในอัตราเร่ง โดยอยู่ที่ร้อยละ 12.4 ต่อปี ในเดือน ก.ค. 51 ส่วนค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลงจากเดิมที่ร้อยละ 7.6 ต่อปี ในเดือน มิ.ย. 51 เป็นร้อยละ 5.5 ต่อปี ในเดือน ก.ค. 51 ทั้งนี้รัฐบาลได้อนุมัติการปรับค่าโดยสารให้สูงขึ้นเพื่อช่วยเหลือพนักงานขับรถและเจ้าของยานพาหนะในภาวะราคาน้ำมันแพง และยังปรับขึ้นค่าจ้างพนักงานรัฐอีกร้อยละ 10.0 ตามค่าครองชีพ
ที่สูงขึ้น
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ