รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 สิงหาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 13, 2008 13:58 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 ส.ค. 2551 
SUMMARY:
- ราคาสินค้าเกษตรหลักมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่มากขึ้น
- เศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาส 2 ซบ สัญญาณบอกปัญหาใหญ่เอเชีย
- เงินเฟ้อจีนเริ่มชะลอตัวลง
HIGHLIGHT:
1. ราคาสินค้าเกษตรหลักมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่มากขึ้น
- กรมการค้าภายใน เผยราคาสินค้าเกษตรหลักของไทย ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง กาแฟ ถั่วเหลือง และข้าวโพด ขณะนี้ยังคงมีราคาดีและสูงกว่าปีที่ผ่านมา แต่จากรายงานข้อมูลเบื้องต้นพบว่าปริมาณผลผลิตในฤดูกาลใหม่ส่วนใหญ่มีปริมาณผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตล้นตลาดทำให้ราคาสินค้าเกษตรหลักดังกล่าวตกต่ำลง โดยเฉพาะข้าวนาปี ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาราคาตกต่ำจนรัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณจำนำ จากรายงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปริมาณผลผลิตข้าวนาปี 2551/52 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอีก 3 แสนตัน หรือจาก 23.5 ล้านตัน เป็น 23.8 ล้านตัน และมีแนวโน้มราคาข้าวจะสูงไม่เกินตันละ 1.2 หมื่นบาท สำหรับมันสำปะหลังคาดว่าปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 30% จากการที่มีกระแสความต้องการใช้เอธานอลในประเทศสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรเร่งปลูกมันสำปะหลังมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลราคาในปัจจุบันที่มีราคาสูงอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.90 บาทมีราคาตกต่ำลงได้
- สศค.วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันราคาสินค้าเกษตรโดยรวมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 51 พบว่ามีการขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังปี 51 ราคาสินค้าเกษตรดังกล่าวอาจปรับตัวลดลงบ้าง เนื่องจากราคาที่สูงเป็นตัวเร่งให้มีการผลิตเพิ่ม ทำให้ราคาลดลงบ้าง ทำให้คาดว่ารายได้เกษตรกรที่แท้จริงอาจปรับตัวลดลงได้บ้าง
2. เศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาส 2 ซบ สัญญาณบอกปัญหาใหญ่เอเชีย
- รัฐบาลสิงคโปร์ ทำนายว่า ในปี 51 การส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันจะลดลงร้อยละ 2-4 ต่อปี และการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดเหลือประมาณร้อยละ 4-5 ต่อปี สอดคล้องกับความคาดหมายของตลาด โดยเศรษฐกิจสิงคโปร์มูลค่า 160,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งต้องพึ่งพาการค้าอย่างหนัก ถือว่าเป็นเกณฑ์วัดว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบอย่างไรต่อเอเชีย การส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันไปยังสหรัฐลดลงร้อยละ 21 ต่อปีในไตรมาสที่ 2 ขณะที่การขนส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 12 ต่อปี
- สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาส 2 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของสิงคโปร์ประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว สอดคล้องกับการส่งออกที่ชะลอตัวของประเทศในแถบเอเชียอื่นๆ ได้แก่ จีน ฮ่องกง และ ไต้หวัน ในส่วนของไทยนั้น แม้ว่าจะมีการส่งออกสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ถึงร้อยละ 20 ของการส่งออกทั้งหมด แต่ไทยยังคงมีการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมที่ขยายตัวได้ในระดับสูงมารองรับอยู่
3. เงินเฟ้อจีนเริ่มชะลอตัวลง
- สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยว่าดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมของจีนขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี ลดลงจากร้อยละ 7.1 ต่อปีในเดือนก่อนหน้าและต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมถือเป็นการลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนกันยายนปีก่อน เนื่องจากราคาอาหารเริ่มอยู่ในระดับคงที่ภายหลังจากที่เคยพุ่งสูงขึ้นมากในช่วงปีก่อนจนถึงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของจีนได้เคยขึ้นสู่ระดับสูงสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 51ที่ร้อยละ 8.7 ต่อปี
- สศค.วิเคราะห์ว่า อัตราเงินฟ้อของจีนเริ่มชะลอตัวตามราคาอาหารที่เริ่มคงที่นั้นมีสาเหตุมาจากราคาสินค้าประเภทอาหารนั้นคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3 ของการคำนวณอัตราเงินเฟ้อของจีน ทำให้ราคาอาหารเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของอัตราเงินเฟ้อจีน ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้มองว่าอัตราเงินเฟ้อของจีนในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 6-7 ต่อปี และจะชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4—5 ต่อปี ในปีหน้า การชะลอลงของเงินเฟ้อถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ