รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 14, 2008 11:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 ส.ค. 2551 
SUMMARY:
- ครึ่งแรกปี 51 การส่งออกอาหารขยายตัวร้อยละ 28.1
- เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 2 หดตัว
- ยอดค้าปลีกสหรัฐลดลงในเดือนก.ค.
HIGHLIGHT:
1. ครึ่งแรกปี 51 การส่งออกอาหารขยายตัวร้อยละ 28.1
- ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยถึงภาพรวมการส่งออกอาหารไทยครึ่งแรกปี 51 ว่ามีมูลค่า 379,860 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1 ปริมาณการส่งออก 16.3 ล้านตัน หรือร้อยละ 8.3 โดยพบว่าเป็นการขยายตัวในปริมาณสินค้าเกษตร ที่ 6.97 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.2 ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกข้าวไทยเพิ่มสูงขึ้น เพื่อบรรเทาวิกฤตการร์อาหารโลก
- ทั้งนี้ แนวโน้มครึ่งปีหลัง คาดว่าการส่งออกจะชะลอตัวลง เนื่องจากความต้องการสินค้าเกษตรเริ่มลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้คาดว่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 14.5 แต่คาดว่าการส่งออกอาหารทั้งปีจะขยายตัวที่ร้อยละ 21.0
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกไทยปี 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 20.3 ต่อปี โดยครึ่งแรกปี 51 ขยายตัวไปแล้วร้อยละ 23.1 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวของสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร อย่างไรก็ตาม คาดว่า ครึ่งหลังปี 51 การส่งออกไทยจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้ามีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงจากวิกฤตซับไพร์ม
2. เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 2 หดตัว
- GDP ญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ปี 51 หดตัวลงร้อยละ -0.6 จากไตรมาสก่อนหรือคิดเป็นการลดลงร้อยละ 2.4 ต่อปี (Annualized QOQ) ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในปีนี้และถือเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบเกือบ 7 ปี โดยมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิง ราคาอาหาร และราคาวัตถุดิบได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการให้เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดส่งออกสินค้าญี่ปุ่นไปยังทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงขาลง ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องไปอีก ประกอบกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในญี่ปุ่นซึ่งไม่ได้เพิ่มขึ้นมาเป็นเวลานานก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่หดตัวในไตรมาสที่ 2 ลงมาจากการหดตัวลงของภาคส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยูโรโซน ซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียก็มีแนวโน้มชะลอตัวตามความต้องการสินค้าที่ลดลงจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การหดตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากญี่ปุ่นถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของไทย
3. ยอดค้าปลีกสหรัฐลดลงในเดือนก.ค.
- ยอดค้าปลีกของสหรัฐในเดือนก.ค. 51 ลดลงร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา มาจากยอดขายรถยนต์และส่วนประกอบที่หดตัวลงร้อยละ -2.4 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอรวมถึงภาวะตลาดบ้านที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวลงอย่างมากส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อลง นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยหันมาใช้รถยนต์ขนาดเล็กที่ประหยัดน้ำมันแทนรถยนต์ขนาดใหญ่ หรือรถยนต์เอนกประสงค์ (SUV) ที่มีขนาดเครื่องยนต์ใหญ่กว่า อย่างไรก็ตาม ยอดค้าปลีกในเดือนก.ค. 51 ที่ไม่รวมยอดขายรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 0.4
- สศค. วิเคราะห์ว่า การชะลอตัวลงของยอดค้าปลีกเป็นการส่งสัญญาณการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่แนวโน้มการชะลอตัวลงอย่างมากของเศรษฐกิจสหรัฐ แม้ว่ามาตรการคืนเงินภาษีแก่ประชาชนจะช่วยกระตุ้นยอดค้าปลีกในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา แต่คาดว่าผลจากมาตรการดังกล่าวจะหมดไปในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งรัฐบาลสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อช่วยเศรษฐกิจสหรัฐไม่ให้หดตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ สศค.คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 51 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ